posttoday

ครม.เห็นชอบส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เร่งกำหนดเกณฑ์การผลิต

02 สิงหาคม 2559

ที่ประชุมครม.เห็นชอบส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เร่งกำหนดหลักเกณฑ์-เงื่อนไขในการผลิต พร้อมนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ภายใน พ.ย.ปีนี้

ที่ประชุมครม.เห็นชอบส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เร่งกำหนดหลักเกณฑ์-เงื่อนไขในการผลิต พร้อมนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ภายใน พ.ย.ปีนี้

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้ส่งเสริมใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ รถยนต์นั่งไฟฟ้า รถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถโดยสารไฟฟ้า โดยมีมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นเพื่อจะให้มีการนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยภายในเดือน พ.ย.ปีนิ้ โดยเร่งรัดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 200 คัน และจัดทำมาตรฐานของรถโดยสารไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย 

"จากรายงานขององค์กรพลังงานโลก ระบุว่า ในปี 57 มียานยนต์ทั้งหมด 89 ล้านคัน โดย 1.2% หรือ 1.1 ล้านคันเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และในปีเดียวกันมีอัตราการขยายตัวถึงปีละ 53% คาดว่าในปี 63 จะมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยนสู่อนาคต"นายกอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ครม.มีข้อสั่งการให้วางกรอบการดำเนินการและการดำเนินนโยบายสนับสนุน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการส่งสเริมการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งการยกเว้นอากรนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าสำเร็จรูป ซึ่งบริษัทที่สนใจจะต้องยื่นแผนดำเนินการโดยรวม ประกอบด้วย แผนการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้ สิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยที่บริษัทดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้วก็สามารถนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป โดยได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีขาเข้ารถยนต์ที่จะนำมาผลิตเพื่อทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็จะอาจจะได้การยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญที่จะนำมาผลิตในช่วงของการเริ่มต้น

นอกจากนี้ ให้กรมการขนส่งทางบก ทบทวนประกาศกำลังไฟฟ้าที่จะขับเคลื่อน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 1 รายที่สนใจจะเข้ามาลงทุนแต่กำลังวัตต์ของรถยนต์ที่จะใช้ไม่ได้สูงเท่าที่กรมการขนส่งทางบกประกาศไว้ที่ 15 กิโลวัตต์ ก็จะมีการปรับปรุงประกาศดังกล่าวเพื่อรองรับ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่าบริษัทผู้ผลิตรายนี้จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ประมาณต้นปีหน้า

รวมทั้งจะมีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมในการดูแลซากแบตเตอรี่ การจัดทำมาตรฐานสายไฟ มาตรฐานให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการใช้งานในหน่วยงานนั้น ๆ

ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicles : BEV) นั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอนาคตของยานยนต์ ซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจนว่า มุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Motor Driven) เนื่องจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน อีกทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้การส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) โดยเฉพาะ ECO Car และรถกระบะ 1 ตัน เป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมทั้ง รถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicles : PHEV) ซึ่งเริ่มมีการผลิตในประเทศไทยแล้วควบคู่กันไปด้วย