posttoday

ภัยแล้งทุบยอดรถวูบ ลุ้นฟ้าฝนฟื้นครึ่งปีหลัง

19 เมษายน 2559

ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แสนจะร้อนแรงของอุณหภูมิที่ฮอตไม่แพ้สมรภูมิเดือดของการแข่งขันในตลาดรถยนต์ หลังงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ภาพรวมโกยยอดขายไม่เป็นไปตามคาด

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แสนจะร้อนแรงของอุณหภูมิในประเทศไทย ซึ่งฮอตไม่แพ้สมรภูมิเดือดของการแข่งขันในตลาดรถยนต์เวลานี้ หลังงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ภาพรวมโกยยอดขายไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของหลายฝ่ายหวังไว้ รวมถึงผู้จัดงานเอง

ทำให้สัญญาณหลังจากนี้ ที่ในอุตสาหกรรมเคยคาดการณ์ไว้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2559 ที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของตลาดรถยนต์อยู่แล้ว การแข่งขันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่องด้วยปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่เป็นปัจจัยลบพื้นฐานที่นำมาคาดการณ์สถานการณ์ตลาดกันในปีนี้

วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะยังคงส่งผลกระทบในระยะยาวอยู่ต่อไป ซึ่งวัดผลได้จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ประจำเดือนที่จะต้องฟื้นตัวกลับมาได้เดือนละมากกว่า 7 หมื่นคัน หลังจากช่วง 2 เดือนแรกของปี ตลาดรวมอยู่ในระดับ 5 หมื่นคันเท่านั้น โดยถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้นอาจจะส่งผลให้กระทบภาพรวมตลาดทั้งปี

ทั้งนี้ สัญญาณการฟื้นตัวควรจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงงานมอเตอร์โชว์แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งและสภาพอากาศที่มีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำซ้ำเติมสถานการณ์ที่ชะลอตัวเข้าไปอีก จากปัจจัยสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว รวมถึงบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศยังไม่ฟื้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ยังไม่ผ่อนคลาย ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับคุณภาพหนี้ เพื่อให้ภาวะความผ่อนคลายของหนี้ครัวเรือนก็ตาม ซึ่งมีผลกระทบในภาพรวมไม่เฉพาะกับตลาดรถยนต์เท่านั้น แต่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และคอนโดมิเนียม ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงมองว่าภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันแก้ปัญหา

ประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์กำลังซื้อโดยเฉพาะในภาพใหญ่อย่างเกษตรกร อาจยังไม่สามารถตัดสินใจซื้ออะไรได้ในทันที เนื่องจากผลกระทบจากสภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์หลังฤดูฝนจึงจะเห็นทิศทางของตลาดรถยนต์ฟื้นตัวอยู่บ้าง

นอกจากนี้ มองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะยังไม่เห็นผลในช่วงไตรมาส 2 โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดช่วงไตรมาส 2 มีปัจจัยผลกระทบต่อตลาดรถยนต์อย่างหนึ่ง คือ ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อเนื่องจากเป็นช่วงใกล้เปิดภาคเรียน ประกอบกับช่วงวันหยุดยาวที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา จึงมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลานมาก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อรถยนต์ในบางกลุ่มเท่านั้น

เอช นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 2 ซึ่งปกติเป็นช่วงโลว์ซีซั่นอยู่แล้ว จะยิ่งชะลอตัวเพิ่มเติมภายหลังเทศกาลสงกรานต์ จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงทำให้ยังคงเกิดภาวะชะลอตัวของตลาดต่อไป

“ปีนี้คงคาดหวังลำบาก เพราะหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ โดยหวังว่าปีหน้าจะดีขึ้น” นาคางาวะ กล่าว

ด้านค่ายรถยนต์ชาติตะวันตก ยุคลธร วิเศษโกสินทร์ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย มองว่า ปัจจุบันภาคการใช้จ่ายในประเทศไทยยังไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.ภาคการส่งออก 2.ภาคการท่องเที่ยว 3.ภาคการใช้จ่าย และ 4.ภาครัฐ ซึ่งมองว่าทั้ง 4 เสาหลักจะต้องฟื้นตัวไปพร้อมๆ กัน จึงจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแห่งความท้าทาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นพื้นฐานประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งมีผลต่อราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดรถกระบะอยู่บ้าง

ขณะที่มองว่าสถานการณ์ไตรมาส 2 ของตลาดรถยนต์ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะมีปัจจัยการฟื้นตัวอยู่ที่การแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของรัฐบาล ซึ่งบริษัทมั่นใจในระยะยาวในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ไตรมาส 2 ปี 2559 จะยังอยู่ในสภาวะทรงตัว ซึ่งมองว่าตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2559 เป็นต้นไป จะเห็นสัญญาณบวกดีขึ้นบ้าง จากเงินอัดฉีดของรัฐบาลในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มเห็นผล ประกอบกับบรรยากาศการใช้จ่ายที่ดีขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรงกว่าหลายปีกระทบต่อกำลังซื้อกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติม หากเมื่อเทียบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักนั้น คาดว่าจะไม่เติบโตจากผลของเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว

นอกจากนั้น ปัจจัยที่น่าจับตามองคือ ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของไฟแนนซ์ที่ยังเข้มงวดอยู่ ประกอบกับคุณภาพผู้บริโภคในบางกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและภาระหนี้ครัวเรือนสูงอาจสะท้อนถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่กลุ่มผู้มีกำลังซื้อที่ไม่ได้รับผลกระทบยังคงมีกำลังซื้ออยู่

ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีปัจจัยคุกคามนอกเหนือการคาดการณ์ เช่น ภัยแล้งมาซ้ำเติมยอดขายให้ชะลอตัวมากขึ้นกว่าเดิมที่กำลังซื้อไม่ดีอยู่แล้ว เชื่อว่าต้องรอฤดูฝนจึงจะเห็นความกระเตื้องของตลาดได้บ้าง

จากภาพรวมทั้งหมด เห็นได้ว่า ปีนี้ภัยแล้งนับเป็นปัจจัยซ้ำเติมตลาดรถไตรมาส 2 ที่เป็นช่วงโลว์อยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องดูว่าค่ายรถจะฝ่ายอดขายที่เหือดแห้งอย่างไร จะพยุงตัวหรือลุยแหลกจนอุณหภูมิทะลุเดือด