posttoday

"บีเอ็มดับเบิลยู" ยึดไทยตั้งฐานผลิต

08 เมษายน 2559

บีเอ็มดับเบิ้ลยูยึดไทยฐานผลิตรถหรู ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 หมื่นคัน/ปี ส่งออกจีน-อาเซียน

บีเอ็มดับเบิ้ลยูยึดไทยฐานผลิตรถหรู ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 หมื่นคัน/ปี ส่งออกจีน-อาเซียน

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายแมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ว่า บีเอ็มดับเบิลยูระบุว่าในปีนี้บริษัทจะขยายกำลังการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นคัน/ปี จากเดิมที่ผลิตได้ 8,000-9,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและตลาดจีน และมั่นใจว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทได้ เนื่องจากมีแรงงานที่มีศักยภาพ และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่ผลิตในประเทศไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

“บริษัทระบุว่าจะเพิ่มการผลิตรถยนต์ 2 รุ่น คือ X3 และ X5 เพื่อส่งออกไปอาเซียน และจีน” นางอรรชกา กล่าว

นางอรรชกา กล่าวว่า ขณะนี้บีเอ็มดับเบิลยูอยู่ระหว่างการก่อสร้างสำนักงานจัดซื้อในประเทศไทย (โกลบอล เพอร์เชสซิ่ง ออฟฟิศ) จากปัจจุบันที่บริษัทมีสำนักงานจัดซื้อทั่วโลก 30 แห่งใน 14 ประเทศ เพื่อซื้อชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถยนต์ของบริษัทที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านคัน/ปี และที่ผ่านมาบริษัทมีการซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จากผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ในไทย โดยเฉพาะระบบนำทางซึ่งมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท/ปี และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

นายแมทธิอัส กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในประเทศไทย โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในรุนบีเอ็มดับเบิลยู X5 ก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในปีนี้บริษัทจะมีการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคัน

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ หรือ Thailand Auto Parts & Accessories (TAPA 2016) ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของโลก โดยในปี 2558 ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนคิดเป็นมูลค่า 3.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์มูลค่า 1.92 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดหลักๆ เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“กระทรวงคาดการณ์ว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งเป็นการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้น 5% และส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น 2% โดยมูลค่าการส่งออกจะสูงเกิน 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแน่นอน ขณะที่ผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่จะทำรายได้ส่งออกได้ดีในปีนี้ คือ รถยนต์อีโคคาร์ และรถยนต์อเนกประสงค์” นางมาลี กล่าว

นางมาลี ระบุว่า งาน TAPA 2016 จะกระตุ้นให้มีการตกลงซื้อขายยานยนต์และชิ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตลอดทั้งงานคาดว่าจะมีนักธุรกิจเข้าร่วมกว่า 1 หมื่นรายจากทั่วโลก อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย แอฟริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และรัสเซีย และมีมูลค่าสั่งซื้อสินค้าภายใน 1 ปีนับจากนี้จะสูงถึง 2,100 ล้านบาท

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกยานยนต์อันดับ 12 ของโลก และจากการที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ทั้งด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัย และการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ เช่น สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฮเทคและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น