posttoday

ชิงเหลี่ยมภาษีใหม่ต้นปี ปรับเครื่อง-ปั้นอิมเมจ-ตรึงราคา

17 พฤศจิกายน 2558

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างช่วงชิงพื้นที่เพื่อมัดใจผู้บริโภคและเพื่อเตะตัดขาคู่ต่อสู้

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

นับถอยหลังเข้าสู่ฤดูขายดีหรือพีกซีซั่นปลายปี โดยช่วงดังกล่าวในปีนี้ถือเป็นช่วงพิเศษที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างช่วงชิงโอกาสสุดท้ายอย่างเต็มที่ เนื่องด้วย 2 ปัจจัยหลักได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นกว่าช่วงต้นปีเล็กน้อย นั่นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีโอกาสในการกอบโกยยอดขายเพื่อผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายสุดท้ายของปี

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2559 ที่คิดคำนวณตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ส่งผลให้ระดับราคารถยนต์ต้องปรับขึ้นเฉลี่ยอีกคันละ 5-10% ของราคาขาย

ดังนั้น จึงเห็นสัญญาณความร้อนแรงของการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ ที่มีการทยอยเปิดตัวในช่วงเวลานี้ มาพร้อมการชิงพื้นที่ในการจุดพลุประกาศให้ผู้บริโภคทราบ เพื่อยืนยันราคาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว

ภาพลักษณ์ที่ได้นั้นได้ใจผู้บริโภคไปเต็มๆ จากการสื่อสารถึงเทคโนโลยีใหม่ที่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ อีกทั้งการรักษ์โลกด้วยการปล่อยค่าไอเสียที่ต่ำ

ถ้ามองลึกลงไปถึงการแข่งขันชิงภาพลักษณ์ในครั้งนี้ จะเห็นถึงกลยุทธ์บางอย่างที่แฝงไว้เพียงเพื่อประกาศให้ผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ ต้องชะงักงันหันมามองตัวอย่างเช่น

บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ที่เปิดตัวรถกระบะ อีซูซุ ดีแมคซ์ ใหม่ มาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 1.9 ลิตร ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ โดยคำยืนยันของ ฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ บอกว่า เครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์เจเนอเรชั่นใหม่ ที่ปล่อยค่า Co2 ต่ำ สามารถรองรับมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มีการติด อีโค สติกเกอร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป บริษัทสามารถพัฒนาและเปิดตัวสู่ตลาดก่อนการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

แต่กระนั้น การเปิดตัวของรถกระบะคันดังกล่าว เป็นการเปิดตัวที่มีเพียงเฉพาะรุ่นเกียร์ธรรมดาเท่านั้น หลักใหญ่ใจความสำคัญน่าจะเป็นเพราะการดึงจังหวะรอโครงสร้างภาษีใหม่ที่มีความซับซ้อนของรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ด้วยอาจเข้าข่ายการถูกปรับขึ้นราคาตามภาษีใหม่

ภาพที่ได้ระหว่างการเปิดตัวในลักษณะที่แนะนำรุ่นเกียร์ธรรมดา ที่มีความชัวร์ว่าไม่ปรับขึ้นราคาแน่นอนออกมาก่อน ถือว่าได้ใจผู้บริโภคไปแล้วระดับหนึ่ง ดึงลูกค้าเข้าโชว์รูมไปได้ ส่วนใครที่อยากได้รุ่นเกียร์ธรรมดา ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานขายที่ชี้แจงลูกค้าเพียงตัวต่อตัว โดยกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ย่อมดีกว่าการที่ออกมาประกาศบอกว่ารถของบริษัทต้องปรับราคาขึ้นตามโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งเป็นภาพลบกว่า

ด้านบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นอย่าง มาสด้า โดย ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า รถยนต์ของบริษัทในกลุ่ม รถยนต์นั่งขนาดกลาง อาจมีการปรับราคาขึ้น 3% และรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) อาจมีการปรับขึ้น 3-5% บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด หากลูกค้าที่จองรถยนต์ภายในปีนี้ ยืนยันว่าจะได้สิทธิในราคาก่อนปรับขึ้นภาษีอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สำหรับรุ่นที่มีการปรับราคาลงอย่างมาสด้า 2 ที่คาดว่าจะมีราคาลดลงเฉลี่ย 2 หมื่นบาท บริษัทได้จัดแคมเปญซื้อวันนี้ได้ราคาที่ปรับลดลงจากโครงสร้างภาษีใหม่ปีหน้า ซึ่งเป็นการให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิของราคาที่ลดลงก่อนการปรับโครงสร้างภาษี อีกทั้งบริษัทได้เจรจากับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) โรงงานผลิตรถยนต์ มาสด้า เพื่อเตรียมกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตาม อัตราการคิดคำนวณโครงสร้างภาษีรถยนต์นั้นมีความละเอียดซับซ้อน อาทิ ภาษีหน้าโรงงาน, ภาษีมหาดไทย, ภาษีสรรพสามิต, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ, ต้นทุนคงที่ (ฟิกซ์คอส) ในการผลิต ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการคิดคำนวณและตั้งราคาทั้งสิ้น จึงทำให้ต้องมีความรอบคอบในการพิจารณาศึกษาให้ครบถ้วน

โมะริคาซุ ชกคิ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถยนต์ประเภทต่างๆ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 นั้น จะทำให้รถยนต์ในกลุ่มรถกระบะอเนกประสงค์ (พีพีวี) ต้องจ่ายอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 20% เป็น 25% หรือ 30% ขึ้นอยู่กับค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถแต่ละรุ่นเป็นหลัก

ในส่วนของมิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต ใหม่ ซึ่งผ่านเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัม/กม. รวมทั้งยังมีมาตรฐานความปลอดภัยประเภทระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety) ต้องจ่ายอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ 25% และถึงแม้ว่าอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรุ่นดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก 5% ในปีหน้า แต่เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าบริษัทจึงชี้แจงไปยังลูกค้าทุกท่านที่จองรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ต ใหม่ ภายในปีนี้แต่รับรถในปีหน้าว่าจะยังคงได้รับราคาเดิมก่อนการขึ้นภาษีอย่างแน่นอน

ขณะที่ อัชฌ์ บุณยประสิทธิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาตามการคิดคำนวณของโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ได้หรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับบริษัทแม่ ประเทศเยอรมนี ถึงผลกระทบดังกล่าวในประเทศไทย

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2559 ส่งผลกระทบให้ภาพรวมของตลาดจะมีการปรับขึ้นราคารถยนต์เฉลี่ยราว 10% บริษัทพยายามเร่งศึกษาผลกระทบในการปรับขึ้นราคาและแนวทางการรับมือเพื่อให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด และบริษัทมองว่าการเร่งกำลังการผลิตเพื่อให้มีสต๊อกรถยนต์ที่ได้รับสิทธิในการเสียภาษีก่อนการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ มีความเสี่ยงหากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เชื่อว่าลูกค้าที่จองรถยนต์ภายในปีนี้จะได้ราคาก่อนปรับขึ้นแน่ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะวางแผนการผลิตรองรับไว้ตามยอดจองได้

เห็นได้ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างช่วงชิงพื้นที่เพื่อมัดใจผู้บริโภคและเพื่อเตะตัดขาคู่ต่อสู้ ให้ผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจเลือกต้องกลับมาพิจารณาใหม่ ได้ทั้งภาพลักษณ์และใจผู้บริโภคไปเต็มๆ งานนี้เกมการแข่งขันร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปลายปี และเป็นเวทีสุดท้ายอย่างมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 32 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป) ที่จะจัดขึ้นต้นเดือน ธ.ค.นี้