posttoday

ปิดจ๊อบ "รถคันแรก" คาดตลาดยังซึมต่ออีก 1 ปี

01 ตุลาคม 2558

โครงการรถคันแรกได้ดึงกำลังซื้อล่วงหน้ามาใช้ไปแล้ว 1.1 ล้านคัน ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก 1 แสนบาท หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 เพื่อให้สามารถตัดยอดปิดงบประมาณที่คั่งค้างกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 ได้ โดยครั้งนั้น ครม.ได้อนุมัติหลักการและแนวทางการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554-31 ธ.ค. 2555 เพื่อเป็นการเดินตามนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้หาเสียงไว้ แต่ช่วงปลายปี 2554 เกิดอุทกภัยใหญ่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ทันวันสิ้นสุดโครงการ จึงได้มีการต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุถึงข้อมูลโครงการรถยนต์คันแรกจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการมีผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 1,234,986 ราย คิดเป็นเงิน 91,140 ล้านบาท จากจำนวนผู้ขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,259,113 ราย คิดเป็นเงิน 92,812 ล้านบาท โดยมีการส่งมอบรถยนต์แล้ว 1,123,451 ราย และเหลือผู้ยังไม่รับมอบรถยนต์อีก 111,535 ราย หรือ 9.03% ของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำแบบสำรวจโดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10,289 ราย มีผู้ไม่ประสงค์ขอใช้สิทธิ 7,620 ราย ซึ่งระยะหลังมีผู้ยื่นขอใช้สิทธิยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมลดจำนวนลง จึงสมควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์

ขณะที่มีผู้ได้รับเงินคืนตามสิทธิแล้วจำนวน 1,101,557 ราย คิดเป็นเงิน 81,179 ล้านบาท ซึ่งครั้งล่าสุดจ่ายไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 ทำให้ในปี 2558 ยังเหลือต้องจ่ายเงินอีก 229.99 ล้านบาท จากที่ตั้งงบประมาณไว้ 1,644 ล้านบาท

นั่นคือตัวเลขถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2558 แต่คาดว่าระยะเวลา 3 เดือนจนมาถึงวันปิดโครงการวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขคงจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยสรุปรัฐต้องควักเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ประชาชน 1.1 ล้านคน ได้มีรถคันแรกขับตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น

แม้จะสิ้นสุดโครงการลงไปแล้ว แต่ผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องยาวนาน เพราะเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อล่วงหน้าให้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปลายปี 2554 ปีนั้นตลาดมียอดขายรถยนต์รวมประมาณ 7.9 แสนคัน ตกลงเล็กน้อยจากปี 2553 ที่มียอดขายรวมประมาณ 8 แสนคัน จากน้ำท่วมและมาตรการรถคันแรกยังไม่เห็นผล

เข้าสู่ปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่โครงการรถยนต์คันแรกแสดงผลอย่างเต็มที่เมื่อยอดขายรถพุ่งไปถึง 1.4 ล้านคัน สูงสุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์ไทย ขณะที่ปี 2556 ยอดขายเริ่มหดตัวลงเหลือ 1.3 ล้านคัน แต่ก็ยังถือว่ามีตัวเลขยอดขายที่สูงกว่าตลาดในช่วงเวลาปกติอยู่มาก และเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2557 เหลือ 8.8 แสนค้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ปัจจัยหลักคือ มาตรการรถคันแรกเริ่มหมดฤทธิ์ลากยาวมาจนถึงปี 2558 ที่คาดว่ายอดขายรถยนต์รวมจะไม่ถึง 8 แสนคัน ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดในช่วงก่อนรถคันแรกที่มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนคัน/ปี มีอัตราเติบโตต่อปีราว 10-15%

ขณะที่โครงการดังกล่าวได้ดึงกำลังซื้อล่วงหน้ามาใช้ไปแล้ว 1.1 ล้านคัน ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันถือได้ว่าอยู่ในช่วงการใช้หนี้ที่ถูกการดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไป ซึ่งหลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีการเติบโตขึ้นบางส่วน แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบในภาพรวมความเชื่อมั่นและการเติบโตของเศรษฐกิจ

ประกอบกับการเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อ (ไฟแนนซ์) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงให้ตลาดชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราหนี้เสียจากโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก และอัตราหนี้ครัวเรือนสูง กระทบต่อตลาดไปเป็นลูกโซ่

วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปิดโครงการรถยนต์คันแรกที่จะมีผลวันที่ 30 ก.ย. 2558 นี้ ไม่มีผลในการกระตุ้นตลาดแต่อย่างใด เพียงช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์คลายความกังวลในการบริหารจัดการกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้สิทธิในโครงการดังกล่าวแต่ยังไม่ได้มารับมอบรถยนต์

ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยได้ชะลอตัวต่อเนื่อง 21 เดือนติดต่อกัน หากรัฐบาลไม่มีการดำเนินการอะไร ประเมินว่าตลาดจะฟื้นตัวอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่สิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรกอย่างแท้จริง