posttoday

โสมขาวเมินภัยเกาหลีเหนือ วิตกศก.ซบ-ว่างงานพุ่ง

23 กันยายน 2560

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย หลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เห็นพ้องคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย หลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เห็นพ้องคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบใหม่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ เปิดเผยว่าจะจัดการเกาหลีเหนืออย่างเด็ดขาด กรณีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างขึ้นปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) เป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้

หลังการข่มขู่ของทรัมป์ เกาหลีเหนือเปิดเผยว่า จะเตรียมมาตรการตอบโต้กลับที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะหมายถึงการทดลองระเบิดไฮโดรเจนในมหาสมุทรแปซิฟิก

แม้รัฐบาลเกาหลีใต้มองว่า ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือถือเป็นมหันตภัยของประเทศ จนเดินหน้าติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธล้ำสมัย (ทาด) ที่สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้จีน แต่สำหรับประชาชนเกาหลีใต้ทั่วไปแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา และการจ้างงาน มีความน่าวิตกมากกว่า

“เรามีปัญหาในชีวิตประจำวันให้กังวลมากพออยู่แล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ผมห่วงเรื่องค่าอาหารในครอบครัวมากกว่า ที่จริงแล้ว เรื่องเกาหลีเหนือเป็นเรื่องไกลตัวมากสำหรับผม” ยูแจยอน ชาวเกาหลีใต้จากเมืองเซจอง กล่าว

ความเมินเฉยต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือยังสะท้อนออกมาในผลการสำรวจล่าสุดจาก แกลลัพ โคเรีย โพล ในเดือน ก.ย. ที่พบว่า 58% ของชาวเกาหลีใต้ ไม่คิดว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี นับเป็นตัวเลขสูงสุดอันดับ 2 ตั้งแต่มีการจัดทำการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 1992

แกลลัพเสริมว่า สัดส่วนชาวเกาหลีใต้ที่คิดว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นอีกครั้งปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงทศวรรษปี 1990 โดยล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 37%

“ผู้คนบอกว่าเมื่อพูดตามหลักการแล้ว สงครามยังไม่จบ แต่คนรุ่นฉันหลายคนไม่เคยเห็นสงครามเลย เรื่องสงครามเลยเป็นเรื่องเลื่อนลอยมากสำหรับฉัน นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมฉันถึงไม่รู้สึกอะไรเลยเมื่อคนบอกว่าเป็นเรื่องอันตราย พวกเพื่อนๆ ฉันทุกคนกังวลเรื่องงานมากกว่า” คิมเฮจี กราฟฟิก ดีไซเนอร์ วัย 27 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ส

เศรษฐกิจอ่อนแรง-ว่างงานอื้อ

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เปิดเผยเมื่อต้นเดือน ก.ย. ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.6% ในไตรมาส 2 ของปี 2017 ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวรายไตรมาสโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดีที่ 0.7% และลดลงจากไตรมาสแรกที่ปรับตัวขึ้น 1.1%

แม้ว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ (บีโอเค) ระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ได้ย่ำแย่นัก และยืนยันว่ารัฐบาลสามารถไปถึงเป้าหมายการขยายตัวที่ 3% ในปีนี้ แต่เกาหลีใต้ยังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่ม เช่น ทิศทางนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐ และการทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีแนวโน้มกดดันเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 92.8% ของขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2016 เพิ่มขึ้นจาก 80.8% เมื่อปี 2012

ขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้น ชาวเกาหลีใต้กลับหางานได้ยากลำบาก โดยจำนวนคนว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้นมาราว 5,000 คน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้านี้ ไปอยู่ที่ทั้งหมด 1.01 ล้านคน ในเดือน ส.ค.

ปัญหาการว่างงานยิ่งน่าวิกฤตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ ระบุว่า ประชากรรุ่นใหม่อายุ 15-29 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้น 9.4% ปรับขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 9.3% และเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบรายปี

แม้ประธานาธิบดี มุนแจอิน ที่รับตำแหน่งมาไม่นานในปีนี้ ให้คำมั่นว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาการว่างงานและรายได้ของประชาชน โดยรัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม วงเงิน 11 ล้านล้านวอน (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศโดยเฉพาะ รวมถึงจะเพิ่มค่าแรงขึ้นอย่างน้อย 16% แต่ขณะนี้นโยบายดังกล่าวของมุนแจอินยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน