posttoday

ค่าเงินเอเชียพุ่งทะยาน รับ‘เฟด’ผ่อนท่าที

28 กรกฎาคม 2560

ค่าเงินของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกในเอเชียหลายแห่งปรับตัวแข็งค่าขึ้นพร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ก.ค.

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

รอยเตอร์สรายงานว่า ค่าเงินของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกในเอเชียหลายแห่งปรับตัวแข็งค่าขึ้นพร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ก.ค. นำโดยค่าเงินวอน เกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ 1,112.8 วอน/ดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2016 ภายหลังที่ประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ และฉุดให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 13 เดือน เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก

รายงานอ้างบรรดานักค้าค่าเงินในกรุงโซลว่าเป็นที่เชื่อว่าทางการเกาหลีใต้จะเข้าแทรกแซงอย่างเงียบๆ โดยนำเงินวอนออกมาซื้อดอลลาร์ เพื่อชะลอภาวะค่าเงินแข็งค่าขึ้นก่อนปิดตลาดวานนี้

ด้านค่าเงินหยวนของจีนยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 9 เดือน หลังจากธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ปรับขึ้นค่ากลางเงินหยวนไปอยู่ที่ 6.7307 หยวน/ดอลลาร์ หรือปรับขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นไปแตะ 110 เยน/ดอลลาร์ ระหว่างการซื้อขาย ก่อนจะอ่อนลงเล็กน้อยมาปิดที่ระดับ 118.83-85 เยน/ดอลลาร์ วานนี้

“เราคิดว่าถ้อยแถลงของเฟดค่อนข้างมีความชัดเจน โดยส่งสัญญาณเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวในตลาดแรงงานมากขึ้น และแสดงความกังวลที่อาจพลาดเป้าเงินเฟ้อมากขึ้นด้วยเช่นกัน เราเชื่อว่าดอลลาร์จะปรับฐานลงอีก บนสมมติฐานที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะทยอยปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้” วิษณุ วรธาน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารมิซูโฮ กล่าว

เฟดส่งซิกไม่รีบร้อนขันนอต

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) มีมติหลังการประชุมเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. โดยคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมที่ 1-1.25% และยังคงสัญญาณเดิมเหมือนในการประชุมเดือน มิ.ย. ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ได้ส่งสัญญาณใหม่ว่าอาจจะเริ่มการลดขนาดงบดุลขนาดเกือบ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 150 ล้านล้านบาท) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเริ่มในเดือน ก.ย.นี้

“คณะกรรมการคาดว่าจะเริ่มดำเนินการปรับงบดุลให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวตามที่คาดไว้ ความเสี่ยงระยะสั้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจดูจะบรรเทาลงมาแล้ว การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจก็ยังคงขยายตัวขึ้น และคณะกรรมการกำลังจับตาการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด” เอฟโอเอ็มซี ระบุ

ก่อนหน้านี้ในการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. เอฟโอเอ็มซีระบุเพียงว่า การลดขนาดงบดุลจะเริ่มขึ้นในปีนี้ โดยธนาคารจะไม่ต่ออายุพันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดการไถ่ถอน กำหนดวงเงินเดือนละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.1 แสนล้านบาท) ในช่วงแรกก่อนลดเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าจะถึงเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1 ล้านล้านบาท) และจะลดการถือครองหลักทรัพย์ที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (เอ็มบีเอส) โดยเริ่มเดือนละ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.4 แสนล้านบาท) และเพิ่มการลดจนถึงเดือนละ 2 หมื่นดอลลาร์ (ราว 7 แสนล้านบาท)

หุ้นเอเชียทุบสถิติเกือบ 10 ปี

การส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมว่าเฟดกังวัลต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งทำให้คาดว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยก่อนช่วงปลายปีนี้ ยังทำให้ตลาดหุ้นเอเชียขยายตัวร้อนแรงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยดัชนีเอ็มเอสซีไอ เอเชีย แปซิฟิก ปรับตัวขึ้น 1% ระหว่างการซื้อขายวานนี้ไปอยู่ที่ 160.81 จุด หรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2007 โดยยังได้ปัจจัยหนุนจากการรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 2 ด้วย

ด้านดัชนีฮั่งเส็งตลาดฮ่องกงบวก 0.76% ปิดที่ 27,131.17 จุด ขณะที่ดัชนีนิกเกอิ 225 บวกเล็กน้อย 0.15% ปิดที่ 20,079.64 จุด และดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นโซลบวก 0.36% ปิดที่ 2,443.24 จุด

“ตลาดน่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4 ตราบเท่าที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังโตช้าอยู่” เนลสัน หยาน กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ซีซีบี ซีเคียวริตีส์ ในฮ่องกง กล่าว