posttoday

จีนลุยดันนวัตกรรม หวังสลัดภาพนักก๊อบ

22 กรกฎาคม 2560

จีนเดินหน้าดันนวัตกรรมก้าวสู่ยุคใหม่ทิ้งภาพนักก๊อบ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ภาพลักษณ์แบบเก่าๆ ของจีนที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันดีกำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็น "นักลอกเลียนแบบ" ไปสู่ "นักสร้างสรรค์นวัตกรรม" หลังในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการรับชำระเงินออนไลน์ การผลิตโดรนและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือการที่เอกชนรายใหญ่ในประเทศ เช่น อาลีบาบา เทนเซนต์ และไป่ตู้ ต่างก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ขณะที่สตาร์ทอัพไอทีแดนมังกรกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

"จีนกำลังเปลี่ยนจากชาตินักลอกเลียนแบบไปสู่ชาติผู้สร้างนวัตกรรม" จิง อูลริช กรรมการบริษัทและรองประธานฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเจพี มอร์แกน เชส กล่าว พร้อมเสริมว่า ในขณะนี้บริษัทจีนกำลังพยายามก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการรับชำระเงินเคลื่อนที่ ระบบการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต การผลิตโดรน เอไอ รวมไปถึงผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ ความสำเร็จด้านไอทีส่วนหนึ่งของเอกชนจีนมาจากความพยายามผลักดันการสร้างนวัตกรรมและการเป็นเจ้าของกิจการของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนออกมาจากการเปิดเผยแผน "เมดอินไชน่า 2025" เพื่อมุ่งนำนวัตกรรมมายกเครื่องภาคการผลิตและขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยแผนการดังกล่าวเปิดเผยเมื่อปี 2015 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ของจีน เปิดเผยระหว่างการกล่าวปราศรัยที่เมืองต้าเหลียนเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชาวจีนยื่นจดทะเบียนบริษัทกว่า 1.5 หมื่นรายทุกปี และจากจำนวนดังกล่าว ธุรกิจราว 70% ยังคงดำเนินกิจการอยู่ในขณะนี้

ไม่เพียงแค่จำนวนธุรกิจจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น มูลค่าของสตาร์ทอัพจีนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยบริษัทวิจัยตลาด ซีบี อินไซต์ส เปิดเผยว่า บริษัทจีนมากกว่า 50 แห่ง มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง ตีตี้ ชูซิ่ง ธุรกิจไรด์-แชริ่ง ของจีน มีความโดดเด่นอย่างมากจนกลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น โดยมีมูลค่าตลาดแล้วถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.67 ล้านล้านบาท) ตามหลังแค่ อูเบอร์ ผู้ให้บริการไรด์-แชริ่งจากสหรัฐในรายชื่อสตาร์ทอัพยูนิคอร์นทั่วโลก

นอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐบาลแล้ว ผู้บริโภคจีนโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ภาคเอกชนต้องผลิตนวัตกรรมและบริการใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ความท้าทายเอกชนจีน

แม้บริษัทจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดภายในประเทศ แต่การช่วงชิงตลาดต่างประเทศ และแข่งขันกับบริษัทต่างชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากสหรัฐ เช่น อเมซอน และเฟซบุ๊ก ยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ เนื่องจากเอกชนดังกล่าวเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในหลายประเทศ และมีฐานลูกค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง

เบสซี ลี ผู้ก่อตั้งและประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของวิธอินลิงก์ บริษัทให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพจีน กล่าวว่า ธุรกิจไอทีจีนจะต้องเริ่มต้นใหม่จากรากฐานเมื่อตัดสินใจทำกิจการในตลาดสหรัฐและยุโรป เนื่องจากในต่างประเทศไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนธุรกิจเหมือนในจีน โดยลีได้ยก เทนเซนต์ ขึ้นเป็นกรณีศึกษา

"เทนเซนต์เป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในจีน หลายฝ่ายต่างยินดีและพร้อมทำธุรกิจด้วยเพราะต้องการพึ่งสถานะในประเทศอันแข็งแกร่ง แต่การประสบความสำเร็จในต่างประเทศไม่ได้เป็นเช่นนั้นและอาจแตกต่างจากในจีนอย่างมาก" ลี กล่าว

ชูแผน "เอไอ 2030"

ท่ามกลางความท้าทายของเอกชนจีนในการขยายธุรกิจสู่ต่างแดน รัฐบาลจีนประกาศแผนการผลักดันให้เอไอเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้จีนขึ้นเป็นผู้นำในด้านดังกล่าวภายในปี 2030 โดยแผนดังกล่าวประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1.พัฒนาเทคโนโลยีเอไอและนำเอไอไปประยุกต์ใช้งานทั่วไปภายในปี 2020 ตามด้วย 2.สร้างการค้นคว้าด้านเอไอใหม่ๆ ภายในปี 2025 และ 3.ขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเอไอระดับโลกภายในปี 2030

ทั้งนี้ จีนคาดการณ์ว่า เอไอจะช่วยสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 4 แสนล้านหยวน (ราว 1.97 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2025 ทำให้รัฐบาลจีนหวังนำเอไอมาชุบชีวิตภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมและรัฐวิสาหกิจ โดยตั้งเป้าให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่า 26% มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอไอภายในปี 2030 ซึ่งรัฐบาลจะทุ่มงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเอไอโดยเฉพาะ เช่น ในด้านการผลิตซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพเยี่ยม ซอฟต์แวร์ขั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยี เออาร์และวีอาร์

"ปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นจุดโฟกัสใหม่ในการแข่งขันระดับนานาชาติ จีนจึงต้องเริ่มสร้างฐานอันมั่นคงไปสู่การพัฒนาเอไอขั้นต่อไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพิ่ม เปิดโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ และยกระดับการปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ" แถลงการณ์รัฐบาลจีน ระบุ