posttoday

ห้างจีนใกล้สิ้นลม แกร่งไม่พอสู้ออนไลน์

15 กรกฎาคม 2560

ห้างสรรพสินค้าจีนกำลังเจอทางตันในการหาหนทางเพิ่มรายได้ หลังผู้บริโภคจีนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

บรรดาห้างสรรพสินค้าจีนกำลังเจอทางตันในการหาหนทางเพิ่มรายได้ หลังผู้บริโภคจีนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ค้าปลีกรายย่อยลดการเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าในห้างลง แล้วเปลี่ยนไปวางขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

แม้ขณะนี้ยอดค้าปลีกของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 10.7% เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ และสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 10.6% แต่ยอดขายของบรรดาห้างใหญ่กลับยังคงน้อยกว่าอยู่ที่เพียง 10.7% เมื่อเทียบกับยอดค้าปลีกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 26.5% หลังปรับขึ้น 25.9% เมื่อเดือนก่อนหน้า

สถานการณ์ดังกล่าวหมายความว่าห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในจีนกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับบรรดาค้าปลีกออนไลน์ โดยเฉพาะกับอาลีบาบาและเจดีดอทคอม ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีน โดยหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ รายงานว่า ภาคส่วนอี-คอมเมิร์ซจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนดังกล่าวของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ แมคคินซีย์ แอนด์ คอมปานีบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ เปิดเผยรายงานเดือน มิ.ย.ว่า ภาคส่วนอี-คอมเมิร์ซจีน คาดว่าจะขยายตัวแตะ 8.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27 ล้านล้านบาท) ในปี 2017 คิดเป็นสัดส่วน 17% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดทั่วประเทศ

ด้าน ลิลเลียน หลี นักวิเคราะห์จากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตต่อเนื่องของบริการรับชำระเงินออนไลน์ โดยสัดส่วนการชำระเงินออนไลน์ของผู้บริโภคจีนอยู่ที่ 8.2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 27.7 ล้านล้านบาท) ในไตรมาสแรกปีนี้ ขณะที่เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ยอดการรับชำระเงินออนไลน์ของผู้ให้บริการดังกล่าวรายใหญ่ที่สุดในจีน อย่างอาลีเพย์ของอาลีบาบา และวีแชตของเทนเซนต์ อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 98 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 20 เท่า ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

ทิศทางดังกล่าวจึงทำให้ ปีเตอร์ลี รองประธาน เฮนเดอร์สัน แลนด์ดีเวลลอปเมนต์ บริษัทพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์รายใหญ่ในฮ่องกง มองว่าห้างสรรพสินค้าจีนจะได้รับแรงกดดันมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“ขณะนี้ผู้บริโภคไปซื้อสินค้าที่ห้างน้อยลงมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ห่างจากใจกลางเมือง ผมเลยคิดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ รายได้ของห้างรายใหญ่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และห้างเองก็ไม่สามารถขึ้นค่าเช่าพื้นที่เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพราะผู้ค้าปลีกรายย่อยน่าจะหันไปลงโฆษณาขายของบนแพลตฟอร์มบริษัทไอที เช่น ไป่ตู้ อาลีบาบา และเทนเซนต์” ลี กล่าว

ลี เสริมว่า สำหรับห้างที่เน้นให้เช่าพื้นที่สำนักงาน หรือพื้นที่จัดประชุม คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีโฮโลกราฟฟิกที่สามารถแสดงภาพ 3 มิติเสมือนจริง ซึ่งอาจทำให้การมีสำนักงานไม่จำเป็นอีกต่อไป

“ถ้าเทคโนโลยีดังกล่าวมีการใช้งานอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ผู้คนสามารถประชุมผ่านทางไกลได้ โดยไม่ต้องมาที่สำนักงานอีก” ลี ระบุ

แสงสว่างปลายอุโมงค์

แม้อนาคตของห้างสรรพสินค้าจีนดูไม่สดใสนัก แต่โอกาสการพลิกฟื้นศักยภาพการแข่งขันเพื่อดึงดูดลูกค้ายังคงมีอยู่

โมรีน เฟิง ผู้อำนวยการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซันฮุงไค พรอพเพอตี้ส์ ที่บริหารงานห้างสรรพสินค้าในจีนและฮ่องกง เปิดเผยว่า ห้างค้าปลีกสามารถใช้ความได้เปรียบด้านสภาพแวดล้อมมาสร้างจุดแข่งขัน

“คนรุ่นใหม่ชื่นชอบห้างที่ออกแบบมาทันสมัยและมีสไตล์เมื่อไปซื้อสินค้า ขณะที่ห้างเองยังสามารถนำระบบการชำระเงินออนไลน์มาประยุกต์ใช้ได้ด้วย เช่น การทำระบบจ่ายเงิน มอบสิทธิพิเศษ หรือซื้อตั๋วหนังผ่านสมาร์ทโฟน” เฟิง กล่าวพร้อมเสริมว่า การดำเนินการดังกล่าวยังช่วยห้างรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า เช่น ประเภทสินค้าที่ลูกค้าแต่ละช่วงอายุชื่นชอบ อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยให้ผู้บริโภค

นอกจากเพิ่มความสะดวกในการจ่ายเงินแล้ว ห้างยังสามารถเอาเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน(เออาร์) มาผสมผสานกับพื้นที่ในห้างเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย โดย ซันฮุงไค กล่าวว่า จะใช้เออาร์มาช่วยสร้างสนามบาสเกตบอลดิจิทัล หรือสร้างฉากจำลองเสมือนจริงจากภาพยนตร์ชื่อดังภายในห้าง เพื่อหวังดึงดูดกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ชอบความตื่นตาตื่นใจในการช็อปปิ้ง

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้จึงเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งเฟิงเปิดเผยว่า ห้างหลายแห่งที่บริษัทดูแลอยู่ และเริ่มดำเนินการดังกล่าวแล้วยังคงมียอดขายเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับผลกระทบจากอี-คอมเมิร์ซไม่มากนัก เนื่องจากสามารถดึงดูดลูกค้าระดับไฮเอนด์ได้