posttoday

ผวานโยบายทรัมป์ไม่ถึงฝัน

19 พฤษภาคม 2560

รัฐบาลสหรัฐยุคสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสั่นคลอน หลังถูกแฉว่า ทรัมป์ขอให้ เจมส์ โคมีย์ ผอ.เอฟบีไอ ระงับการสอบสวน ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงในกรณีเกี่ยวข้องรัสเซีย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ 

รัฐบาลสหรัฐยุคสมัยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสั่นคลอน หลังหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยว่า ทรัมป์ขอให้ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ระงับการสอบสวน ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงในกรณีเกี่ยวข้องรัสเซีย ก่อนที่ทรัมป์จะไล่โคมีย์ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อให้เกิดความกังวลว่าทรัมป์กำลังใช้อำนาจขัดขวางกระบวนการยุติธรรมจนอาจนำไปสู่การถอดถอนได้

“ถ้าหากมีการเปิดการสอบสวนพิเศษ หรือถ้าจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมของทรัมป์ว่าเป็นความผิดที่สมควรโดนถอดออกจากตำแหน่ง นั่นหมายความว่าเป็นการโบกมือลาแผนการปฏิรูปภาษี ประกันสุขภาพและการกระตุ้นทางการคลังสำหรับ 2017 นี้ได้เลย” แอนดี เบรนเนอร์ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ของเนชั่นแนล อลิอันซ์ ซีเคียวริตี้ส์ กล่าว

รอยเตอร์สรายงานว่า ข่าวอื้อฉาวที่แพร่สะพัดสร้างความกังวลให้กับสมาชิกพรรครีพับลิกัน และอาจส่งผลกระทบต่อการผลักดันกฎหมายต่างๆ เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคลและการยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ ที่ถือเป็นวาระสำคัญของพรรค โดยในประเด็นแรกนั้นยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของกระบวนการในสภาและเพิ่งเริ่มอภิปรายไปเมื่อวานนี้

มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาจากรีพับลิกัน เปิดเผยว่า ความวุ่นวายน้อยลงในทำเนียบขาวเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันกฎหมายที่ถือเป็นวาระสำคัญ สอดคล้องกับ ลินด์ซีย์ แกรห์ม วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน ระบุว่ากระบวนการผ่านร่างกฎหมายขณะนี้กำลังโดนขัดขวางท่ามกลางความวุ่นวายในฝ่ายบริหาร

ตลาดทุนโลกสะดุ้งแรง

ตลาดทุนทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง หลังเกิดคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจจะต้องเผชิญกับการลงมติถอดถอนจากการเปิดเผยในครั้งนี้ โดยบลูมเบิร์ก รายงานว่า ดัชนีวัดความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่การทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ เมื่อเดือน มิ.ย. 2016 ที่ผ่านมา ก่อนตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดตัวแดนลบทำสถิติแย่ที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงไปถึง 1.78% หรือ 372.82 จุด ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงไป 1.82% เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีค่าเงินเหรียญสหรัฐร่วงลงต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือน สวนทางสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำที่ปรับขึ้นในรอบวันมากที่สุด ตั้งแต่การทำประชามติของอังกฤษมาถึงราว 2%

ด้าน ลาร์รี แมคโดนัลด์ หัวหน้านักกลยุทธ์ของเอซีจี อนาไลติกส์ เปิดเผยว่า ความเสี่ยงที่ทรัมป์จะไม่สามารถทำตามนโยบายได้ จะเป็นปัญหาต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยด้วย โดยความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.นี้ลดลงจาก 80% ในช่วงก่อนหน้าการเกิดความกังวลต่อสถานะความเป็นประธานาธิบดีทรัมป์เหลือเพียง 60% เมื่อวานนี้

ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดดัชนีเอ็มเอสซีไอ เอเชีย-แปซิฟิก ร่วงลงไป 0.9% มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. ระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ไบรอน เวียน รองประธานฝ่ายจัดการความมั่นคงของแบล็กสโตน บริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐยังมีความน่าดึงดูดอยู่โดยมีผลประกอบการของบริษัทเป็นตัวนำ ซึ่งจากการคำนวณของอาร์บีซี แคปปิตอล มาร์เก็ต พบว่ามากกว่า 3 ใน 4 ของบริษัทในเอสแอนด์พี 500 มีผลประกอบการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผลกำไรต่อหุ้นของบริษัทเหล่านั้นปรับขึ้นราว 15.2%

เรียกความเชื่อมั่นกลับคืน

รัฐบาลของทรัมป์พยายามจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศแต่งตั้ง โรเบิร์ต มูลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอ ขึ้นเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับอัยการ เพื่อสอบกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา โดยทรัมป์ ระบุว่า มูลเลอร์จะเป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับการแทรกแซงของรัสเซีย และเปิดทางให้ทรัมป์ได้เดินหน้าจัดการเรื่องปฏิรูปภาษีอย่างเต็มตัว

“การตัดสินใจตั้งแต่ที่ปรึกษาพิเศษไม่ใช่เพื่อหาว่ามีการกระทำผิดจริงหรือจะมีการฟ้องร้องทางอาญาหรือไม่ ผมไม่มีความตั้งใจอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าที่ปรึกษาพิเศษมีความจำเป็นเพื่อให้ชาวอเมริกันได้มั่นใจอย่างเต็มที่ต่อผลลัพธ์หลังการสอบสวน” รอด โรเซนสไตน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบและปฏิรูปรัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎร เปิดการสอบสวนกรณีทรัมป์ไล่โคมีย์ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอ โดยเรียกโคมีย์เข้าให้ปากคำต่อกรณีที่ทรัมป์ขอให้ระงับการสอบสวนฟลินน์ในวันที่ 24 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งโคมีย์ได้บันทึกการสนทนาดังกล่าวเอาไว้ทั้งหมด

ขณะเดียวกันทรัมป์ได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวเนื่องกับทางรัสเซีย

“อย่างที่ผมพูดมาหลายรอบแล้ว การสอบสวนจะยืนยันในสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว นั่นคือไม่มีความร่วมมือระหว่างทีมหาเสียงของผลกับรัฐบาลประเทศอื่น” ทรัมป์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวเกี่ยวข้องว่า ฟลินน์และที่ปรึกษาแคมเปญเลือกตั้งหลายรายของทรัมป์ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียและบุคคลอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียอย่างน้อย 18 ครั้ง ในช่วง 7 เดือนสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี2016

แหล่งข่าว 3 รายระบุว่า การติดต่อ 6 ครั้งที่ยังไม่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ เป็นการโทรศัพท์พูดคุยระหว่าง เซอร์เก คิสลีอัค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐ และที่ปรึกษาหลายรายของทรัมป์ที่รวมถึงฟลินน์ โดยการติดต่อระหว่าวฟลินน์และคิสลีอัคเพิ่มขึ้นหลังวันที่ 8 พ.ย. เนื่องจากทั้งคู่พยายามสร้างช่องทางการติดต่อหลังบ้านระหว่างทรัมป์และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ปูติน ของรัสเซีย