posttoday

จีนลุยดัน'ไห่หนาน' ขึ้นแท่นเมดิคอลฮับ

05 พฤษภาคม 2560

ไห่หนานเป็นหนึ่งมณฑลใน 18 มณฑลหลัก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “1 แถบ 1 เส้นทาง” กำลังได้รับการผลักดันจากรัฐบาลจีน ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์แห่งใหม่

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ไห่หนานมณฑลขนาดเล็กที่สุดทางตอนใต้ของจีนและเป็นหนึ่งมณฑลใน 18 มณฑลหลัก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (One Belt One Road : OBOR) กำลังได้รับการผลักดันจากรัฐบาลจีน ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์แห่งใหม่ ตอบรับดีมานด์ของผู้ป่วยชาวจีน

บลูมเบิร์กรายงานว่า จุดมุ่งหมายในการสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์แห่งใหม่ คือเพื่อดึงดูดผู้ป่วยชาวจีนฐานะร่ำรวย ซึ่งในปัจจุบันต่างหลั่งไหลไปใช้บริการดังกล่าวในต่างประเทศ ให้กลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในจีนแทน

ซีทริปเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวจีน คาดการณ์ว่าชาวจีนราว 5 แสนคน เดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อใช้บริการทางการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งในจีนไม่สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้ ขณะที่ประชากรจีนหลายล้านคนกำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ด้วยเหตุนี้ชาวจีนที่มีฐานะจึงเลือกไปตรวจสุขภาพประจำปีที่ญี่ปุ่น หรือตรวจภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สหรัฐ

ทั้งนี้ มณฑลไห่หนานมีชื่อเสียงโด่งดังจากการมีภูมิประเทศอบอุ่นแบบเขตร้อน และมีรีสอร์ทริมชายหาดจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็นเกาะฮาวายของจีน โดยรัฐบาลท้องถิ่นของไห่หนานวางแผนเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรกว่า 1,600 เอเคอร์ ในมณฑลแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มานับตั้งแต่ปี 2013 และเขตโรงพยาบาลโซนแรกจะเริ่มเปิดบริการในฤดูร้อนปี 2017 นี้

รัฐบาลท้องถิ่น เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้วถึง 2.3 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.5 แสนล้านบาท) ใน 27 โครงการพัฒนา ครอบคลุมทั้งการสร้างโรงพยาบาลไปจนถึงคลินิกศัลยกรรมความงาม ขณะที่โครงการอีกหลายสิบโครงการกำลังรอการอนุมัติจากรัฐบาล  

มุ่งยกเครื่องการรักษา

ในการสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นั้น รัฐบาลท้องถิ่นของไห่หนานจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีล้ำสมัยในการรักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเริ่มมีการใช้กันในต่างประเทศเข้ามาในจีน อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการแพทย์ดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีน

ขณะเดียวกันไห่หนานได้เริ่มนำเข้าตัวยาใหม่ๆ จากต่างประเทศมาใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว โดยในช่วงแรกนั้นศูนย์สุขภาพเฉิงเม่ย อินเตอร์เนชั่นแนล ในไห่หนาน เริ่มนำเข้า “คีย์ทรูดา” ยารักษาโรคมะเร็งของเมอร์ค บริษัทเภสัชกรรมจากสหรัฐ จำนวน 24 ขวด เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย 6 คน โดยในขณะนี้รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าตัวยาดังกล่าวจากต่างประเทศได้ในปริมาณจำกัด เพื่อใช้ในศูนย์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เท่านั้น และไม่อนุญาตให้มีการขยายการจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กรายงานว่า หน่วยงานอาหารและยาของจีนกำลังพยายามปฏิรูประบบการอนุมัติการนำเข้ายามาจำหน่ายในจีน โดยมุ่งลดความล่าช้าในการดำเนินงานและอาจช่วยให้นำเข้ายาใหม่ดังกล่าวมาจำหน่ายในปริมาณมากขึ้น โดยหากความพยายามดังกล่าวสำเร็จ ไห่หนานอาจต้องหาจุดขายอื่นๆ มาทดแทนเรื่องตัวยาใหม่

ความท้าทายยังรออยู่

แม้ไห่หนานตั้งเป้าดึงดูดผู้บริโภคมาใช้บริการศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กว่า 1 ล้านคน/ปี ภายในปี 2025 แต่การดำเนินดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เนื่องจากศูนย์การแพทย์ไห่หนานตั้งอยู่ในเขตห่างไกล และยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ

“ในการสร้างศูนย์บริการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถมาทำงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้แม้แต่ในหลายเมืองใหญ่ของจีนยังขาดแคลนแพทย์ฝีมือดี” เฉินโป๋ เจ้าหน้าที่อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาแมคเคนซีย์ กล่าวพร้อมเสริมว่าการขาดแคลนบุคลากรคุณภาพจะทำให้การดึงดูดผู้บริโภคมาใช้บริการเป็นเรื่องยาก

บลูมเบิร์กรายงานว่า ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไห่หนานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี โดยโรงพยาบาลราวครึ่งหนึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่โรงพยาบาลที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีอุปกรณ์การแพทย์ แม้รัฐบาลท้องถิ่นระบุว่า โรงพยาบาล 5 แห่งเริ่มทดลองเปิดให้บริการภายในสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม

ด้าน เอเวอร์แกรนด์ บริษัทให้บริการทางการแพทย์จากกว่างโจว เปิดเผยว่า กำลังวางแผนลงทุน 5,000 ล้านหยวน (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ขณะที่โรงพยาบาลบริกแฮมจากสหรัฐ ซึ่งคอยให้คำปรึกษากับเอเวอร์แกรนด์ ระบุว่าจะยังคงให้ความช่วยเหลือเอเวอร์แกรนด์ในการพัฒนาโปรแกรมการรักษาโรคและฝึกอบรมพนักงานต่อไป

ขณะเดียวกัน หลี่เพ่ยจวน นักวิเคราะห์จากฟอร์เวิร์ด อินดัสตรีส์ อินสติติวท์ สถาบันวิจัยในจีน ระบุว่า สภาพแวดล้อมอันสวยงามของไห่หนานเป็นปัจจัยหนุนการสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณภาพการบริการมาตรฐานด้านเทคโนโลยีการแพทย์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ