posttoday

อี-เพย์เมนต์บุกเอเชีย จับเทรนด์ตลาดเกิดใหม่

07 เมษายน 2560

ตลาดดิจิทัลเพย์เมนต์หรือการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลต่างๆ กำลังเข้ามาขยายตัวในตลาดเอเชียแปซิฟิก หลังความนิยมการชำระเงินออนไลน์ในภูมิภาคดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ตลาดดิจิทัลเพย์เมนต์หรือการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลต่างๆ กำลังเข้ามาขยายตัวในตลาดเอเชียแปซิฟิก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน หลังความนิยมการชำระเงินออนไลน์ในภูมิภาคดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น

วอตส์แอพ แอพพลิเคชั่นแชตชื่อดังของเฟซบุ๊ก อิงค์ วางแผนเข้าตีตลาดการชำระเงินออนไลน์ในอินเดีย ซึ่งนับเป็นตลาดต่างประเทศที่แรกของวอตส์แอพ และกลายเป็นการแข่งโดยตรงกับ “เพย์ทีเอ็ม” แพลตฟอร์มดิจิทัลเพย์เมนต์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยอาลีบาบายักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีน

อินเดียนับเป็นตลาดด้านดิจิทัลเพย์เมนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประชาชนนิยมการชำระเงินในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น หลังรัฐบาลอินเดียประกาศยกเลิกใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้เงินสดขาดแคลน

หนึ่งในผู้ให้บริการที่เริ่มเข้าไปในตลาดอินเดีย คือ ทรูคอลเลอร์ สตาร์ทอัพจากสวีเดน โดยทรูคอลเลอร์จับมือกับไอซีไอซีไอแบงก์ เพื่อให้บริการการชำระ

เงินผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังทรูคอลเลอร์เป็นที่นิยมอย่างมากในอินเดียและมีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านคนในอินเดีย เทียบกับทั่วโลกที่ 250 ล้านคน ทั้งนี้ ทีแรกทรูคอลเลอร์เข้าไปในอินเดียในฐานะผู้ให้บริการยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์และตรวจสแปม


เพย์พัลปรับกลยุทธ์

เพย์พัลผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของโลกขยายความเป็นหุ้นส่วนกับวีซ่าผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ไปยังเอเชียแปซิฟิก นอกเหนือจากสหรัฐ​ โดยความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวจะช่วยให้ร้านค้าปลีกรายย่อยซึ่งรับชำระบัตรเครดิตของวีซ่าสามารถรับชำระเงินผ่านเพย์พัลได้ ขณะที่ผู้ใช้บัญชีเพย์พัลก็สามารถใส่เงินจากบัญชีเพย์พัลเข้าในบัญชีของวีซ่าที่ชื่อ วีซ่าไดเรกต์ ได้

ดังนั้น ความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารที่ออกบัตรวีซ่ามีทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น ด้วยการเสนอการชำระเงินผ่านเพย์พัลและยังกระตุ้นให้ร้านค้าปลีกรายย่อยหันมาเปิดรับเพย์พัลมากขึ้น แม้ในปัจจุบันมีผู้ใช้เพย์พัลในเอเชียแปซิฟิกมากถึง 200 ล้านคน แต่เพย์พัลประสบปัญหาการร้องเรียนจากลูกค้าที่ไม่สามารถใช้เพย์พัลได้เต็มที่จากความไม่แพร่หลาย

จิม มาแก็ต หัวหน้าฝ่ายชำระเงิน ผลิตภัณฑ์ และวิศวกรรมของเพย์พัล กล่าวว่า เพย์พัลกำลังพยายามเพิ่มฐานลูกค้าในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งในปัจจุบันแม้ประชากรจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคาร แต่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ โดย 1 ใน 3 ของธุรกรรมทั้งหมดของเพย์พัลเป็นการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือ

สำหรับอินโดนีเซียปัญหาการเข้าถึงธนาคารส่งผลให้บริการชำระเงินผ่านจุดบริการชำระเงินต่างๆ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยแกร็บผู้ให้บริการไรด์-แชริ่ง ตกลงเข้าซื้อ คูโด สตาร์ทอัพด้านบริการชำระเงินในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า มูลค่าการเข้าซื้อดังกล่าวอยู่ที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ​ (ราว 3,500 ล้านบาท)


กังวลความปลอดภัย

จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับดิจิทัลเพย์เมนต์ โดยมียอดชำระเงินออนไลน์เพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านล้านหยวน (ราว 60 ล้านล้านบาท) ในปี 2015 เป็น 19 ล้านล้านหยวน (ราว 95 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่จากข้อมูลของบิ๊กดาต้า รีเสิร์ชในกรุงปักกิ่ง พบว่ายอดชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือปรับขึ้นถึง 200% ส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านความปลอดภัยเริ่มเพิ่มมากขึ้นในจีน หลังประสบกรณีหลอกลวงหลายครั้ง โดยหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ล่าสุดเกิดกรณีเกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงคิวอาร์โค้ด ที่แฝงด้วยไวรัสและขโมยข้อมูลของผู้ใช้บริการ ทั้งข้อมูลในสมาร์ทโฟนและบัญชีธนาคาร ซึ่งในมณฑลกวางตุ้งมีการขโมยเงินด้วยวิธีดังกล่าวมากถึง 90 ล้านหยวน

หลิวชิงเฟิง ประธานของไอฟลายเท็ค ผู้ให้บริการคลาวด์เซอร์วิส เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน 23% ของไวรัสโทรจันมาจากคิวอาร์โค้ดซึ่งยากต่อการตรวจจับ เนื่องจากผู้ใช้ไม่สามารถแยกแยะของจริงและของปลอมด้วยตาเปล่า