posttoday

เร่งตั้งรับเฟด เอเชียแห่ขึ้นดอกเบี้ย

17 มีนาคม 2560

หลังเฟดลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางการขยายตัวที่แข็งแกร่ง บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเช่นกัน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในปี 2017 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีทิศทางการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ย บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเช่นกัน

ในวันที่ 16 มี.ค. ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนระยะสั้น (Repo) 7 วัน 14 วัน และ 28 วัน ขึ้นเป็นประเภทละ 0.10% หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไปเมื่อเดือน ก.พ. พร้อมขึ้นดอกเบี้ยกลไกกู้ยืมระยะกลาง (MLF) ทั้งระยะ 6 เดือน และ 1 ปี ขึ้น 0.10% ไปอยู่ที่ 3.05% และ 3.2% ตามลำดับ ขณะที่แหล่งข่าวยังระบุว่า จีนยังขึ้นดอกเบี้ยกลไกกู้ยืมระยะสั้น (SLF) ระยะข้ามคืน 0.2% เป็น 3.3% ด้วย

บลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของผู้ผลิตจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ และขยายตัวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ทำให้พีบีโอซีสามารถปรับให้อัตราดอกเบี้ยเหล่านี้มีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อควบคุมหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และป้องกันความเสี่ยงทางการเงินอื่นๆ

แม้ตลาดคาดการณ์ว่าพีบีโอซีจะปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวแข็งแกร่งในขณะนี้ และจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่พีบีโอซี ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่การปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่ โจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการพีบีโอซี เปิดเผยก่อนหน้าว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐไม่ได้นำไปสู่คาดการณ์ว่าจีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยควรจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ

เรย์มอนด์ เหยือง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายจีน จากธนาคารเอเอ็นแซด กล่าวว่า พีบีโอซีจำเป็นต้องเลือกช่วงเวลาในการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกับเฟด เนื่องจากจีนไม่สามารถใช้กลไกการบริหารงานในประเทศเพื่อควบคุมเงินทุนไหลออกไปได้ตลอด

“ความเคลื่อนไหวของพีบีโอซีวันนี้ ถือเป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อสร้างเสถียรภาพให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน อีกทั้งเป็นสัญญาณว่า จีนจะเริ่มใช้กลไกด้านดอกเบี้ยมากำกับดูแลนโยบายการเงิน และเพิ่มอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวเงินทุนข้ามพรมแดน” เหยือง กล่าว


แบงก์ชาติโลกตั้งรับเฟด

ธนาคารกลางฮ่องกงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนที่ธนาคารกลางปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ 0.25% อยู่ที่ 1.25% หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราการแลกเปลี่ยนของฮ่องกงเป็นระบบที่ผูกกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ธนาคารกลางฮ่องกงมีแบบแผนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกำหนดให้ปรับขึ้นสูงกว่ากรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.50%

ด้านธนาคารกลาง 3 แห่งในแถบตะวันออกกลาง ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และบาห์เรน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ ผูกกับค่าเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน จากการเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันซึ่งมีการซื้อขายในสกุลเงินเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ประกอบด้วย การคงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ราว 0% และการคงอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ 0.1% โดยฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ บีโอเจ เปิดเผยว่า การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกต่อไปจะช่วยให้บีโอเจบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีการฟื้นตัวในระดับปานกลาง 

บีโอเจระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคคาดว่าจะปรับขึ้นแตะ 2% แม้นักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่า อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นปรับขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันโลกเพิ่ม และจากค่าเงินเยนอ่อนค่า มากกว่าจะมาจากการขยายตัวของดีมานด์ภายในประเทศก็ตาม  บีโอเจยังเสริมว่า ทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐและผลกระทบจากนโยบายการเงินของเฟดต่อตลาดเงินโลก เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และต้องจับตาดูต่อไป

ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติ 8-1 ในที่ประชุมนโยบายการเงิน คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคงวงเงินซื้อคืนพันธบัตรที่ 4.35 แสนล้านปอนด์ (ราว 18 ล้านล้านบาท) ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต