posttoday

ญี่ปุ่นเริ่มศุกร์พรีเมียมแห่กลับบ้านไม่ใช้จ่าย

25 กุมภาพันธ์ 2560

ญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตรการ "ศุกร์พรีเมียม" ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. โดยจะให้พนักงานได้เลิกงานเร็วกว่าปกติ 2 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาผ่อนคลาย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ญี่ปุ่นเริ่มใช้มาตรการ "ศุกร์พรีเมียม" ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยจะให้พนักงานได้เลิกงานเร็วกว่าปกติ 2 ชั่วโมง ในเวลา 15.00 น. ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหา "คาโรชิ" หรือทำงานมากจนเสียชีวิตอันเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างข้อมูลของเอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียว ริตี้ส์ อิงค์ คาดการณ์ว่า วันศุกร์พรีเมียมจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายได้ราวปีละ 6.35 หมื่นล้านเยน (ราว 1.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เจแปนไทมส์ รายงานอ้างข้อมูลของมิซูโฮ รีเสิร์ช ว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ 5-6 แสนล้านเยน (ราว 1.5-1.8 แสนล้านบาท) หากภาคธุรกิจจำนวนมาก เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า หากภาคเอกชนไม่เข้าร่วมโครงการมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ผล กระทบต่อเศรษฐกิจจะลดลงเหลือแค่ 2-3 แสนล้านเยน (ราว 6-9 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น

หน่วยงานสภาโครงการศุกร์พรีเมียม ภายใต้รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยผลสำรวจเอกชนและองค์กรราว 1,600 แห่ง พบว่า 76.4% เต็มใจที่จะเข้าร่วม โครงการดังกล่าว และเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา บริษัท 2,342 แห่ง ตอบรับการร่วมสนับสนุนโครงการและใช้โลโก้ทางการของโครงการศุกร์พรีเมียม

อย่างไรก็ตาม การสำรวจจาก บริษัท อิทเทจ อิงค์ พบว่า พนักงาน ที่ร่วมทำแบบสอบถามเพียง 2.5% เท่านั้น ระบุว่า บริษัทจะเริ่มโครงการศุกร์พรีเมียมในวันศุกร์นี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของคัลเจอร์ คอนวีเนียนซ์ คลับ เจ้าของร้านซึทาญ่า พบว่า มีเพียง 3.4% จากพนักงาน 1,603 คนเท่านั้น ที่ระบุว่า บริษัทมีการจัดโครงการดังกล่าว

"ฉันไม่ได้ยินเรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับวันศุกร์พรีเมียมในที่ทำงานของฉัน ฉันสงสัยว่าสถานการณ์แบบนี้คงเกิดขึ้นกับบริษัทใหญ่อื่นๆ ของญี่ปุ่น แม้การจะเปลี่ยนแนวคิดการทำงานของคนไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลา" อายาโกะ เซระ นักกลยุทธ์การตลาดจากธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ ในกรุงโตเกียว กล่าว

ประชาชนไม่ร่วมใช้สอย

จากผลสำรวจของอาซาฮี กรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า ประชาชนญี่ปุ่นเพียง 37% เท่านั้น ที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวของรัฐบาล ในขณะที่อีก 48% ยังไม่ตัดสิน และอีก 15.2% ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีเหตุผลแตกต่างกันออกไป เช่น พนักงาน พาร์ตไทม์ไม่ต้องการลดเวลาการ ทำงาน เนื่องจากจะทำให้รายได้ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่แม่บ้านชาว ญี่ปุ่นไม่ต้องการให้สามีกลับบ้านเร็ว เพราะเป็นการลดเวลาที่จะได้อยู่กับ ตัวเองไป

นอกจากนี้ ผลสำรวจของคัลเจอร์ คอนวีเนียนซ์ คลับ ยังพบอีกด้วยว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเกือบ 60% ต้องการตรงดิ่งกลับบ้านเพื่อพักผ่อนหลังเลิกงาน มากกว่าผู้ที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยซึ่งอยู่ที่สัดส่วนกว่า 35% ตามมาด้วยการไปชมภาพยนตร์ที่ 20% แม้หนึ่ง ในจุดประสงค์ของนโยบายดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายก็ตาม

"ผมไม่เห็นรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นความคิดที่ดีนะ แต่รัฐบาลควรโฆษณามากกว่านี้ และดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้มากขึ้น ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย!" ทากาฮิโระ ฮาเซกาวะ พนักงานธนาคาร วัย 37 ปี กล่าวกับบลูมเบิร์ก

กระนั้น ภาคเอกชนบางส่วนมีการตอบรับโครงการรัฐบาลแม้จะมีเงื่อนไขบ้าง เช่น ไดวะ เฮ้าส์ บริษัทก่อสร้าง ที่ให้พนักงานเลิกเร็วตามโครงการศุกร์พรีเมียมในทุกๆ เดือนต่อไป แต่พนักงานจำเป็นต้องตอกบัตรเข้าทำงานเร็วขึ้นในช่วงเช้า ขณะที่อูเซ็น คอร์ป ธุรกิจด้านดนตรี อนุญาตให้พนักงานเลิกงานได้เร็วขึ้นในเวลา 15.00 น. และยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน แต่ไม่อนุญาตดังกล่าวในเดือนหน้า

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจบางส่วนมีการออกโปรโมชั่นเพื่อหนุนการใช้จ่าย เช่น ออล นิปปอน แอร์เวย์ ให้ส่วนลด 1 หมื่นเยน สำหรับลูกค้า 1,000 ราย ที่จะมีการเดินทางภายในประเทศใน วันศุกร์ หรืออเมซอน เจแปน นำเสนอสินค้ามากกว่า 5 แสนรายการ ที่ใช้ในวันหยุด และเปิดให้ผู้ไม่ใช่สมาชิกได้รับชมละครญี่ปุ่นผ่านบริการวิดีโอสตรีมของอเมซอนได้ฟรี 3 วัน โดยเริ่มต้นเมื่อวานนี้

ภาพ เอเอฟพี