posttoday

จับทายาทซัมซุงเสี่ยงก่อภาวะสุญญากาศ

18 กุมภาพันธ์ 2560

ศาลเกาหลีใต้อนุมัติหมายจับ อีแจยอง รองประธานซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ข้อหาคอร์รัปชั่นและติดสินบน เป็นผู้บริหารคนแรกที่ถูกจับกรณีคดีอาญา

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์            

ศาลกลางประจำกรุงโซลของเกาหลีใต้อนุมัติหมายจับ อีแจยอง รองประธานบริษัท ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ วัย 48 ปี บุตรชายของอีคุนฮี ประธานและ ผู้ก่อตั้งบริษัท ซัมซุง เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ข้อหาข้อคอร์รัปชั่นและติดสินบน โดยอีแจยองถือเป็นผู้บริหารระดับสูงคนแรกในประวัติศาสตร์ 79 ปี ของซัมซุง ที่ถูกจับกุมตัวเนื่องจากพัวพันกับคดีอาญา

สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การขอออกหมายจับดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยอัยการได้ตั้งข้อหาเพิ่มกับอีแจยอง ประกอบด้วย การปกปิดการกระทำผิดทางอาญาและฝ่าฝืนกฎหมายการถ่ายโอนทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยอัยการสงสัยว่าเงินบริจาค 4.3 หมื่นล้านวอน (ราว 1,300 ล้านบาท) ให้กับมูลนิธิ 2 แห่ง ในเยอรมนีของชเวซุนซิล คนสนิทประธานาธิบดี ปาร์กกึนเฮ ใช้ติดสินบนให้รัฐบาลสนับสนุนการควบรวมธุรกิจภายในของซัมซุงเมื่อปี 2015 ปูทางให้อีแจยองก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารอย่างราบรื่น

ก่อนหน้านี้ อัยการเกาหลีใต้ได้ ยื่นขอหมายจับเมื่อเดือน ม.ค. ใน ข้อหาติดสินบน ยักยอกเงิน และให้การเป็นพยานเท็จกรณีข่าวอื้อฉาวของประธานาธิบดี ปาร์กกึนเฮ แต่ถูกศาลปฏิเสธเนื่องจากยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ โดยการสอบสวนอีแจยองเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ม.ค. และครั้งที่ 2 ราว 15 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

ขณะนี้อีแจยองถูกควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานกรุงโซล โดยอัยการมีเวลาราว 20 วัน ในการยื่นฟ้อง ซึ่งหลังยื่นฟ้องแล้วศาลต้องตัดสินคดีดังกล่าวภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ดี รอยเตอร์สรายงานอ้างโฆษกของซัมซุงว่า ทางบริษัทยังไม่ตัดสินใจว่าจะดำเนินการสู้คดีหรือยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวอีแจยอง

ทั้งนี้ อีแจยองขึ้นมาบริหารซัมซุงนับตั้งแต่ อีคุนฮี ประธานซัมซุง ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจในปี 2014 และผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นในบริษัท เช่น การแสวงหาหน่วยธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัว ของซัมซุงด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัท ต่างชาติหลายสิบแห่ง ได้แก่ บริษัท ลูปเพย์ อิงค์ ที่ทำธุรกิจโมบายวอลเล็ต บริษัท วิฟ แล็ป ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และบริษัท ฮาร์มาน อินเตอร์เนชั่นนัล ซึ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ อีแจยองยังผลักดันการปรับปรุงระเบียบทางการเงินในบริษัท และได้ร่วมคลี่ คลายความขัดแย้งกับบริษัทคู่แข่งอย่างแอปเปิ้ล อิงค์ กรณีการฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตร

หวั่นซัมซุงเกิดสุญญากาศ

แม้การจับกุมตัวอีแจยองไม่มี แนวโน้มกระทบการดำเนินงานทั่วไป แต่จะส่งผลให้การตัดสินใจสำคัญๆ ด้านกลยุทธ์หยุดชะงัก โดยทำให้ซัมซุงยังไม่สามารถเปิดเผยแผนการและ เป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้ ขณะที่ พยายามหาทางปรับโครงสร้างบริษัทและฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค หลัง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกรณีแบตเตอรี่สมาร์ทโฟน รุ่นกาแล็คซี่ โน้ต 7 ติดไฟลุกไหม้ ทำให้ต้องเสียค่า ใช้จ่ายจำนวนมากในการเก็บคืนและบั่นทอนชื่อเสียงของบริษัท อีกทั้ง ซัมซุงยังเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทใกล้เปิดตัวสมาร์ทโฟนกาแล็คซี่ เอส 8 รุ่นใหม่ ที่คาดว่าจะวางจำหน่ายปลายเดือน ก.พ.นี้

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังกระทบการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล โดยนับตั้งแต่เกิดข่าวอื้อฉาวขึ้น ซัมซุงต้องเลื่อนการปรับเปลี่ยนบุคลากรประจำปีออกไป จากตามปกติที่ต้องมีการดำเนินการดังกล่าวใน เดือน ธ.ค.

"การปล่อยให้เกิดภาวะสุญญากาศในการบริหารงานของซัมซุง ซึ่งถือเป็นตัวแทนของธุรกิจเกาหลีใต้จะสร้างความไม่แน่นอนขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นของทั่วโลก รวมถึงสร้างภาระใหญ่กดดันเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังชะงักงันอยู่ในขณะนี้" สมาพันธ์นายจ้างเกาหลีใต้ ระบุ

จับตาผู้บริหาร 3 ตัวเต็ง

การจับกุมตัวอีแจยองส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มจับตา 3 ผู้บริหารซัมซุงที่จะขึ้นมามีบทบาทสำคัญในบริษัท มากขึ้น โดย "ชเวจีซุง" ประธานหน่วยกลยุทธ์ของซัมซุง รวมถึงเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาและวางแผนให้อีแจยองก้าวเข้ามาบริหารซัมซุงแทนบิดา คาดว่าจะเป็นตัวเลือกแรกที่อาจมานั่งแท่นบริหารงานระหว่างที่อีแจยองถูกควบคุมตัว

ขณะเดียวกัน "ควอนโอฮยอน" รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทมีแนวโน้มขึ้นมานั่งแท่นบริหารเช่นกัน เนื่องจากมีประสบการณ์นำพาบริษัทผ่านช่วงวิกฤตสมาร์ทโฟนกาแล็คซี่ โน้ต 7 มาได้
 
สำหรับตัวเต็งรายสุดท้ายคือ "อีบูจิน" น้องสาวของอีแจยองและดำรงตำแหน่งผู้บริหารชิลลาโฮเทล โรงแรมและบริษัทจำหน่ายสินค้า ปลอดภาษีรายใหญ่ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า อีบูจินไม่มีแนวโน้มขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งพี่ชาย เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์บริหารมากพอ ไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซัมซุง และเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะก้าวเข้ามามีบทบาทควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ของครอบครัว