posttoday

อังกฤษปรับทัพลุยเบร็กซิต เจรจาอียูหวัง‘หย่ากันด้วยดี’

15 กรกฎาคม 2559

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

งานแรกของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ ผู้นำหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ คือการปรับคณะรัฐมนตรีขนานใหญ่เพื่อตอบรับการเดินหน้าเพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต โดยมีการแต่งตั้ง เดวิด เดวิส วัย 67 ปี ผู้รณรงค์ให้อังกฤษถอนตัวจาก
อียูมาอย่างยาวนาน ขึ้นเป็นรัฐมนตรีฝ่ายถอนตัวจากอียูเพื่อเป็นหัวหน้าทีมเจรจากับอียู พร้อมด้วยการเลือกแกนนำรณรงค์เบร็กซิตอย่าง บอริส จอห์นสัน วัย 52 ปี ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งจอห์นสันขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศได้รับผลตอบรับจากนานาชาติไม่ดีนัก โดย ฌอง-มาร์ก อัยโรลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า จอห์นสันโกหกต่อชาวอังกฤษหลายอย่างในระหว่างการหาเสียงก่อนการทำประชามติ และตอนนี้จอห์นสันก็มีชนักติดหลัง

“ผมต้องการคนทำงานที่ผมสามารถเจรจาด้วยได้และมีความชัดเจน น่าเชื่อถือ และวางใจได้” อัยโรลต์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เลียม ฟ็อกซ์ วัย 52 ปี อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและผู้สนับสนุนเบร็กซิต ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีการค้าต่างประเทศ หลังจากที่ลงท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและพ่ายแพ้ไปในรอบแรกการลงคะแนนเสียงของพรรคอนุรักษนิยม และ แอมเบอร์ รูดด์ วัย 52 ปี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนให้อยู่กับอียูและอดีตเลขานุการส่วนตัวของออส บอร์น ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยแทนเทเรซา เมย์ ที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ไมเคิล ฟัลลอน วัย 64 ปี ขึ้นนั่งกลาโหม

ว่าที่ขุนคลังเร่งเจรจาการค้าอียูใหม่

เทเรซา เมย์ เลือก ฟิลิป แฮมมอนด์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ วัย 60 ปี ขึ้นมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแทน จอร์จ ออสบอร์น โดยแฮมมอนด์เป็นผู้ไม่เห็นด้วยต่อการให้อียูอยู่ต่อไปในอียู หากอียูยังไม่มีการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม แฮมมอนด์เป็นฝ่ายรณรงค์ให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป

นอกจากนี้ แฮมมอนด์ ซึ่งจบการศึกษาด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ยังมีแนวคิดการคลังแบบรัดเข็มขัด ส่งผลให้มีแนวโน้มที่แฮมมอนด์อาจเสนอปรับลดรายจ่ายและขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า เมย์สามารถระงับการขึ้นภาษีหรือการปรับลดการใช้จ่ายที่มากเกินไปได้

แฮมมอนด์ เปิดเผยว่า อังกฤษควรออกจากตลาดร่วมของอียูหลังตัดสินใจถอนตัว โดยอังกฤษจะต้องเจรจากับอียูใหม่เพื่อขอเข้าสู่ตลาดเดียวในฐานะประเทศนอกสมาชิกและคู่ค้า ไม่ใช่ในฐานะสมาชิกอียู

“ผมต้องการเห็นการเจรจาเพื่อเข้าตลาดเดียวเพื่อเอกชนของอังกฤษ และเพื่อเราจะสามารถขายสินค้าและบริการของเราสู่ตลาดสหภาพยุโรป และยินดีที่จะบริโภคสินค้าและบริการจากสหภาพยุโรปอย่างที่เราเป็นมาเช่นเดียวกัน” รัฐมนตรีคลังคนใหม่ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เดวิส เปิดเผยว่า ผลการเจรจาที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การสามารถเข้าถึงตลาดอียูในรูปแบบปลอดกำแพงภาษี เนื่องจากหากอังกฤษไม่ต้องการที่จะควบคุมการไหลเข้าออกของผู้อพยพ อียูก็พร้อมหันมาเจรจาเรื่องดังกล่าวกับอังกฤษเพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยการเตรียมการเพื่อให้อังกฤษเข้าถึงตลาดรวมของอียูต่อไปเป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลาในการจัดการก่อนการประกาศมาตรา 50 ซึ่งควรเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

บีโออีเซอร์ไพรส์ ‘ไม่ลดดอกเบี้ย’

ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติ 8-1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ผิดจากคาดการณ์ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์สที่คาดว่าจะลดเหลือ 0.25% พร้อมส่งสัญญาณใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดมาตรการแต่อย่างใด

บีโออี ระบุว่า เมื่อประเมินผลกระทบจากเบร็กซิตแล้ว พบว่าตลาดทุนยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรที่จะลดผลกระทบจากเบร็กซิต มากกว่าที่จะขยายให้ผลกระทบนั้นใหญ่ขึ้น โดยค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงราว 6% นับตั้งแต่เบร็กซิตจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเป้าหมายของบีโออีที่ 2%

ภายหลังการเปิดเผยดังกล่าว ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นไปทันที 1.3% อยู่ที่ 1.3321 ปอนด์/เหรียญสหรัฐ เมื่อเวลา 12.15 น. ตามเวลากรุงลอนดอนของวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา

อียูเสนอนโยบายรับผู้อพยพ

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อีซี) เสนอแผนการเพื่อรับมือกับปัญหาผู้อพยพจากประเทศนอกสมาชิก ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.3 ล้านคน เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา โดยมีการเสนอให้เงินแก่ประเทศที่รับผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วยความเต็มใจ 1 หมื่นยูโรต่อผู้อพยพ 1 คน หลังจากในโควตาปัจจุบัน 1.6 แสนคน มีผู้อพยพได้รับประโยชน์จากโครงการย้ายถิ่นฐานเพียง 3,056 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อพยพทั่วประเทศสมาชิกและปรับสวัสดิการช่วยเหลือผู้อพยพให้อยู่ในระดับเดียวกัน รวมถึงตั้งกฎร่วมกันในเรื่องการให้สัญชาติแก่ผู้อพยพ วีซ่า การเข้าถึงงาน โรงเรียน สวัสดิการและสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม สมาชิกจากยุโรปตะวันออก เช่น สโลวาเกียและออสเตรีย ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยออสเตรียระบุว่า ตลาดงานออสเตรียไม่เพียงพอรองรับผู้ลี้ภัย หากมีการให้ใบอนุญาตทำงานแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น