posttoday

หวั่นสงครามโลกครั้งที่ 3 ปะทุ ซ้ำเศรษฐกิจสะเทือน

27 พฤศจิกายน 2558

การที่เครื่องบินขับไล่เอฟ 16 สองลำของตุรกี ขึ้นไปโจมตีเครื่องบินรบรัสเซีย ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องใหญ่ระหว่างตุรกีและรัสเซีย เท่านั้น

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

การที่เครื่องบินขับไล่เอฟ 16 สองลำของตุรกี ขึ้นไปโจมตีเครื่องบินรบรัสเซีย ซูคอย SU-24 ตกลงมาจนมีนักบินเสียชีวิต 1 คนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องใหญ่ระหว่างตุรกีและรัสเซีย ที่ต่างก็เป็นมหาอำนาจทางการทหารของโลกระดับท็อปเทน และต่างก็ไม่ยอมรับผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ทว่า นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ที่สมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าโจมตีรัสเซีย นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นในปี 1991 เป็นต้นมาอีกด้วย และทำให้จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับนาโต้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยตึงเครียดกันมาครั้งล่าสุดจากกรณียูเครนเมื่อปีที่แล้ว

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตุรกีก็ขอเรียกประชุมวิสามัญนาโต้ทันทีในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง พร้อมได้มติในเชิงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเหตุระเบิดกรุงปารีส คืนวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีการประชุมของนาโต้เกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่ชาติสมาชิกรายใหญ่อย่างฝรั่งเศสถูกโจมตีครั้งใหญ่ถึงในบ้าน

ทั่วโลกจึงกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศในครั้งนี้ จะบานปลายออกไปเป็นระดับของสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมาหรือไม่

ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นาโต้มีกฎบัตรสำคัญอยู่ข้อหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ นั่นก็คือกฎบัตรในมาตราที่ 4 ซึ่งว่าด้วยการประชุมร่วมกันภายใต้ความเสี่ยงเรื่องบูรณภาพทางดินแดน ความเสี่ยงต่อเอกราช และความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง

กฎบัตรสำคัญอีกข้อคือ มาตราที่ 5 ว่าด้วยการโจมตีประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง เปรียบเสมือนกับการโจมตีนาโต้ทั้งกลุ่มด้วย ซึ่งกฎทั้งสองข้อนี้คือการเปิดไฟเขียว ปูทางไปสู่การออกปฏิบัติการร่วมของนาโต้เพื่อถล่มศัตรูร่วมกันได้ โดยหากเกิดภัยคุกคามร้ายแรงเฉพาะหน้าขึ้นจริง นาโต้จะต้องเรียกประชุมฉุกเฉินภายใต้มาตรา 4 และนำไปสู่การพิจารณามาตรา
ที่ 5 เพื่อออกมาตรการต่อไป

ที่ผ่านมานาโต้เคยใช้มาตรา 4-5 ไปเพียงครั้งเดียว คือ เหตุวินาศกรรม 9/11 โจมตีสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 โดยส่งปฏิบัติการทางทหารทั้งทางบกและอากาศไปช่วยสหรัฐในสมรภูมิอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างรัสเซีย-ตุรกี อาจไม่ลุกลามไปไกลถึงขนาดนั้น เนื่องจากการประชุมของนาโต้ในกรณีนี้ เป็นเพียงการประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลจากตุรกีเท่านั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้บริบทของมาตรา 4 และ 5

ที่สำคัญก็คือ นาโต้เลือกที่จะไม่ขยายความขัดแย้งด้วยการขยับขยายกำลัง ส่งทหารไปช่วยตุรกีรักษาความมั่นคงเพิ่มเติม เหมือนเมื่อครั้งที่เคยส่งทหารไปช่วยในอัฟกานิสถาน หรือช่วยปกป้องน่านฟ้าของชาติสมาชิก แต่ทั้งนาโต้และชาติสมาชิกรายใหญ่อย่างสหรัฐ เลือกที่จะขอให้ทั้งสองฝ่ายลดระดับความตึงเครียดลง

สถานการณ์หลังจากนี้จึงอาจจะไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบปกติเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการหาจังหวะตอบโต้กัน โดยมีการสั่งสอนกันพอหอมปากหอมคอ และรัสเซียเองก็ไม่ต้องการเปิดศึกหลายด้านเกินไปเช่นกัน โดยหลังจากที่เสียหน้าไปแล้ว ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ก็อาจจะหาจังหวะใช้มาตรการตอบโต้ต่างๆ เช่น การถล่มไอเอสให้หนักหน่วงรุนแรงขึ้น หรืออาจจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการออกปฏิบัติการโจมตี หรืออาจเป็นรูปแบบของการระงับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจบางส่วน

“สถานการณ์หลังจากนี้จะไม่ใช่ระเบิดโจมตีกัน ไม่ใช่การขับเครื่องบินไปฆ่าคนเป็นพันคน แต่จะเป็นการสร้างความขวัญผวา กดดันทางการเมือง และเป็นการเขย่าเสถียรภาพให้เกิดการสั่นคลอนจากภายใน เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป ทำให้ภูมิภาคที่เคยมีเสถียรภาพมากที่สุดต้องสั่นคลอน กดดันนโยบายผู้อพยพ ทำให้เสียจุดยืนในมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองไป” ปณิธาน กล่าว

ทั้งนี้ แม้สงครามเต็มรูปแบบอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ก็จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาอย่างแน่นอนทั้งในระดับ 2 ประเทศ รัสเซีย-ตุรกี และอาจขยายเป็นวงกว้างขึ้น

นอกจากรัสเซียและตุรกีจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางการทหารเบอร์ 2 และ 8 ของโลก จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ด้านการทหาร โกลบอล ไฟร์พาวเวอร์แล้ว ตุรกียังนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากที่สุดถึงเกือบ 2 ใน 3 จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 50 ล้าน ลบ.ม./ปี และรัสเซียยังเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่สุดอันดับ 2 ของตุรกี ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 3.27 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/ปี มีสายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์ส เป็นสายการบินต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย

ส่วนทางด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น นอกจากปัญหาด้านการเดินทางท่องเที่ยว ที่ปะทุตั้งแต่เหตุระเบิดปารีส เหตุระเบิดตามประเทศสำคัญๆ ทั่วโลก และประกาศเตือนการเดินทางของพลเมืองสหรัฐทั่วโลกแล้ว เบื้องต้นก็ได้สะท้อนให้เห็นแล้วอย่างชัดเจนผ่านตลาดทุนโลก

ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัย ร่วงลงไป 0.01% อยู่ที่ 2.23% และพันธบัตรเยอรมนี ร่วงลงไปอยู่ที่ 0.51% และยังทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนอย่างหนักในช่วงนี้ โดยเคยไต่ระดับขึ้นไปถึง 3% มาแล้ว พร้อมดันราคาทองที่แกว่งตัวในระดับต่ำสุดรอบ 5 ปี ให้ขยับขึ้นมาได้เช่นกัน

เพราะนักลงทุนต่างก็พร้อมใจกันหันไปหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง จนกว่าจะเชื่อมั่นได้ว่าสถานการณ์การเมืองโลกจะไม่กระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาเป็นทุนเดิมอยู่ และยังต้องผันผวนจากนโยบายธนาคารกลางทั่วโลกต่อในปีหน้า