posttoday

โลกนับถอยหลังเศรษฐกิจซึมเศร้า ซ้ำรอย เกรท ดีเปรสชัน

29 กุมภาพันธ์ 2555

หากมองดูสภาพเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันเพียงผิวเผิน

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

หากมองดูสภาพเศรษฐกิจสหรัฐในปัจจุบันเพียงผิวเผิน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในแดนบวกอย่างร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2009 ไปจนถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดการผลิตและขายรถยนต์ หรือแม้แต่ยอดการจ้างงานก็อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดังที่เห็นได้จากอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 8.3% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี

ตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายเริ่มใจชื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดูเหมือนว่ากำลังจะปรับตัวดีขึ้นนั้น อาจเป็นเพียงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ลวงให้ดีใจเพียงชั่วครู่

เพราะแท้ที่จริงแล้ว สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้เปรียบได้ดัง “สัญญาณเตือนภัย” ก่อนเกิดหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าจะปะทุขึ้นมาซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง

ดังที่ โรเบิร์ต เพรชเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า คองเคอร์ เดอะ แคลช ให้ความเห็นไว้ว่า เศรษฐกิจในสภาพปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับสภาพเศรษฐกิจก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐเมื่อปี 1930 อย่างไม่มีผิดเพี้ยน

เพราะประการแรก ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปัจจุบันปรับตัวอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเกินไปจนผิดสังเกต ไม่ว่าจะเป็นดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ หรือดัชนีหุ้นแนสแด็กในกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ในช่วงขาขึ้นสู่ระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเดือน พ.ค. 2008 ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในทิศทางเดียวกับเมื่อครั้งที่ก่อนเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกในปี 1930 หรือ “เกรท ดีเปรสชัน”

ย้อนกลับไปก่อนจะเกิดพายุใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 6 ปี โดยมูลค่าดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์นั้นพุ่งสูงถึง 5 เท่า ทำสถิติสูงสุดที่ 381.17 จุด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 1929

ถึงขนาดที่ เออร์วิง ฟิชเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้อธิบายสถานการณ์ตลาดขณะนั้นว่า “ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะไม่ลดลงเลย”

ทว่าในวันที่ 24 ต.ค. 1929 ซึ่งต่อมากลายเป็นวันที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในชื่อว่า “แบล็ก เธิร์สเดย์”' หรือ “พฤหัสฯ ทมิฬ” ราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์กก็ดิ่งลงอย่างหนัก ตลาดสูญเสียมูลค่าถึง 11% ทันทีที่มีการเปิดตลาด

4 วันถัดมา ตลาดหุ้นสหรัฐก็ต้องเผชิญหน้ากับวันทมิฬอีกหลายวัน ไม่ว่าจะ “แบล็ก มันเดย์” หุ้นดิ่งลงอีก 13% และ 12% ในวัน “แบล็ก ทิวสเดย์” ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ต.ค. 1929

ภายในวันนี้วันเดียว นักลงทุนได้เทขายหุ้นมากถึง 16 ล้านหุ้น ทุบสถิติการขายหุ้นมากที่สุด โดยเป็นสถิติที่ไม่ได้ถูกทำลายจนกระทั่งอีก 40 ปีถัดมา

ทั้งนี้ สาเหตุที่หุ้นดิ่งลงอย่างหนักนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ผู้คนจำนวนมากได้แห่ซื้อหุ้นด้วยความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังรุ่งเรืองสุดๆ แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนหลายรายไม่มีสภาพคล่องเพียงพอในกระเป๋า จึงจำเป็นต้องกู้เพื่อนำมาซื้อหุ้น เมื่อถึงเวลาต้องชำระหนี้ หลายคนจึงรีบขายหุ้น ซึ่งการเทขายหุ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ได้ส่งผลให้หุ้นดิ่งลงอย่างหนัก

เฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบัน ปัจจัยด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการซื้อขายวันแรกของปี 2012 คึกคักอย่างที่สุด

โลกนับถอยหลังเศรษฐกิจซึมเศร้า ซ้ำรอย เกรท ดีเปรสชัน

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาแข็งแกร่งเช่นเดิมแล้ว เพราะอีกหลายปัญหายังคงสุมอยู่ลึกๆ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐที่พอกหางไว้ถึง 107% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อีกทั้งสาเหตุหนึ่งที่กดให้อัตราว่างงานลดลงนั้น เป็นผลมาจากที่ผู้ว่างงานจำนวนมากเลิกหางาน ซึ่งไม่ใช่เพราะมีตำแหน่งงานในตลาดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยลวงที่ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและแห่กันบินเข้ากองไฟในตลาดเก็งกำไรล่วงหน้า

เพรชเชอร์ คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้ดัชนีหุ้นสำคัญของสหรัฐจะปรับตัวดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าเข้าสู่ภาวะตลาดซบเซาอย่างเต็มรูปแบบ

“เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงสั้นๆ เช่นนี้ จะดิ่งลงเหวเฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เกิดในปี 1930” เพรชเชอร์ ย้ำ ซึ่งหากการทำนายนี้เป็นจริงก็มีแนวโน้มว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลดลงและมูลค่าดิ่งลงเหวกว่าครึ่ง และเมื่อประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงว่าภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจจะทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นไปอีกหลายเท่า

ประการต่อมา ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาฟองสบู่หนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้เกิดการล่มสลายของตลาดทุน อันจะนำไปสู่การเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

แม้ว่าธนาคารกลางทุกประเทศทั่วโลกกำลังเร่งมืออัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดนั้น สามารถช่วยกระตุ้นให้ตลาดกระเตื้องขึ้นมาได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น

“ภาวะตลาดหุ้นถล่มจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2013 หรือ 2014 ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008-2009 ทว่าในครั้งนี้เหตุการณ์จะรุนแรงและสร้างความเสียหายกว่ามาก” แฮร์รี เดนต์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “เดอะ เกรท แคลช อะเฮด” กล่าว

โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกในอนาคตต้องเข้าสู่ภาวะตกต่ำอีกครั้ง และอาจจะตกอยู่ในภาวะซบเซาเป็นเวลานานยังมีสาเหตุมาจาก

1.ประชากรยุคเบบี้บูมแก่ชรา หรือกลุ่มคนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลักสำคัญของสหรัฐและของโลกที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอายุล่วงเข้าระหว่าง 45-65 ปี และเริ่มทยอยเกษียณอายุการทำงาน

ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลให้กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโตอย่างพรวดพราดนั้นก็ลดน้อยถอยลงตามไป ในขณะนี้ภาครัฐก็จะมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นกับสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญที่จะต้องจัดสรรให้กับคนกลุ่มนี้

2.การลดปริมาณหนี้สาธารณะและมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกเดินหน้าใช้กันเพื่อลดปริมาณหนี้สาธารณะของประเทศนั้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และยิ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะกอบกู้เศรษฐกิจที่ล่มสลายไปได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

เจอรัล เซเลนต์ นักวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจของสถาบันเทรนส์ รีเสิร์ช มองว่า สาเหตุที่ทำให้สหรัฐตกที่นั่งลำบากกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอและไร้ภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ 1.ปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นทะลุเพดาน 2.ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนรวยและคนจนในประเทศ 3.ประชาชนแห่ถอนเงินออกจากระบบในเวลาเดียวกัน และ 4.การขาดความเชื่อมั่นในตัวของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในสิ้นปีนี้

เซเลนต์ กล่าวเตือนชาวอเมริกันไว้เลยว่า สหรัฐควรเตรียมพร้อมยอมรับการเกิด “วินาศกรรมทางเศรษฐกิจ” (Economic 9/11) ในอนาคต เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายของประเทศไร้ความสามารถที่จะแก้วิกฤตการเงินและการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คงหนีไม่พ้นภาวะเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างหนัก และปริมาณคนตกงานพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะทวีความรุนแรงก่อให้เกิดภาวะกลียุคขึ้นในสังคมและเกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรียกได้ว่าเป็นการคาดการณ์ที่ทั่วโลกต้องจับตาอย่างไม่กะพริบ