posttoday

เปิด "ธุรกิจรถพยาบาลรัฐ-เอกชน" บริการดูแลชีวิตที่ไม่มีราคาตายตัว

18 ตุลาคม 2560

ส่องธุรกิจรถพยาบาลที่พึ่งสำคัญในการเดินทางของผู้ป่วย ที่ยังไม่มีกฎหมายหรือราคากลางควบคุมบริการเหมือนยา

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

“รถพยาบาล” และ “รถฉุกเฉิน” เป็นยานพาหนะสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาล เปรียบเสมือนตัวกำหนดชะตาชีวิตเพราะหากไปช้าเพียงเสี้ยวนาทีนั่นอาจหมายถึงความสูญเสีย ปัจจุบันรถประเภทนี้มีหลายหน่วยงานให้บริการทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชนและองค์กรมูลนิธิต่างๆ

ทว่าด้วยผู้ให้บริการที่มีหลายรูปแบบบางครั้งเกิดปัญหา เช่นเหตุการณ์ไม่นานนี้มีญาติคนไข้เรียกรถพยาบาลผ่านสายด่วน 1669 ซึ่งเป็นบริการรัฐ โดยมีการระบุชัดเจนว่าไม่เสียค่าบริการ แต่สุดท้ายกลับถูกเรียกเก็บ จากกรณีดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความสับสนว่ารถพยาบาลและรถฉุกเฉินแท้จริงแล้วมีกี่ประเภท และมีอัตราการคิดค่าบริการอย่างไรเพื่อจะได้นำมาประกอบการตัดสินใจเมื่อถึงคราวจำเป็น

เปิดเรตราคารถฉุกเฉิน สพฉ. 350 - 1,000 ที่ประชาชนใช้ฟรี

ปัจจุบันรถพยาบาลฉุกเฉินที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐมีประมาณ 1.5 หมื่นคัน หน่วยงานที่รับรองมาตรฐานในส่วนกลางคือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ขณะที่ภูมิภาคต่างๆ สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดูแล โดยผู้ดูแลต้องนำรถเข้าตรวจสภาพกับกรมการขนส่งทางบกทุกปี

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อธิบายว่ารถพยาบาลปัจจุบันมีแบบทั่วไปกับแบบฉุกเฉิน ซึ่งกลุ่มรถพยาบาลฉุกเฉินที่ใช้บริการมี 4 ประเภท คือ รถชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ,ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้น (BLS) ,ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับกลาง (ILS) โดย 3 ประเภทนี้ศักยภาพไว้ช่วยเหลือผู้ป่วยอาการไม่หนัก เช่น ดามแขน ขา คอ ให้เลือดหรือทำคลอด เป็นต้น

ส่วนชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ใช้กรณีผู้ป่วยวิกฤติซึ่งมีทีมแพทย์หรือพยาบาลประจำรถ ทั้งนี้บุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่แต่ละประเภทต้องผ่านการอบรมเป็นเวลา 40 - 110 ชั่วโมง หรือเรียน 2 - 4 ปี

สำหรับค่าบริการรถฉุกเฉินของ สพฉ.หากสั่งผ่านศูนย์ 1669 มีเกณฑ์คิดราคา 2 ระดับ โดยไม่แบ่งว่าเป็นชุดปฏิบัติของโรงพยาบาลหรือองค์กรมูลนิธิ รถระดับเบื้องต้น 350 บาทต่อครั้ง และระดับสูง 1,000บาทต่อครั้ง ซึ่งประชาชนที่เรียกใช้บริการผ่านศูนย์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่หากเรียกใช้บริการรถจากโรงพยาบาลโดยตรง ส่วนนี้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้เนื่องจากอัตราการคิดค่าบริการแต่ละแห่งไม่มีเกณฑ์แน่ชัด

นพ.ไพโรจน์ ยืนยันว่า หากประชาชนมีเหตุฉุกเฉินเรียกใช้บริการรถผ่านสายด่วน 1669  จะไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

เปิด "ธุรกิจรถพยาบาลรัฐ-เอกชน" บริการดูแลชีวิตที่ไม่มีราคาตายตัว นายธงชัย กีรติหัตถยากร (ซ้าย) / นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย (ขวา)

 

รถพยาบาลไม่มีราคาควบคุม ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความพอใจ 

นายธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) หน่วยงานที่ดูแลบริการสาธารณสุขรวมถึงรถพยาบาลตามโรงพยาบาล เปิดเผยว่าอัตราการคิดค่าบริการปัจจุบันไม่มีราคากลางกำหนดแน่ชัด เนื่องจากค่าบริการแต่ละแห่งขึ้นอยู่กับการตกลงและมาตรฐานสถานพยาบาล

“ปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายหรือราคากลางควบคุมบริการรถพยาบาลเหมือนยา แม้แต่ราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลก็ทำราคากลางไม่ได้ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นตัวทำให้คุณภาพมันแตกต่าง เมื่อไหร่ราคาถูกบล็อค การพัฒนาคุณภาพก็จะไม่เกิด เพราะมันเป็นบริการ”

ขณะที่บริษัทรถเอกชนอยู่นอกเหนือการดูแลควบคุมของ สบส.เพราะตามกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล ครอบคลุมเฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นเมื่อบริษัทเหล่านั้นไม่เป็นสถานพยาบาลเนื่องจากไม่มีหมอรักษา ทำหน้าหน้าที่นำส่งผู้ป่วยเหมือนรถแท็กซี่เท่านั้น แต่ถ้าหากในรถมีการรักษา เช่น ให้น้ำเกลือหรือฉีดยาก็ต้องตรวจสอบว่ารถเหล่านี้เข้าข่ายให้บริการรักษาหรือไม่

รองอธิบดี สบส. แนะนำว่าหากประชาชนต้องการเรียกใช้บริการรถพยาบาล ควรติดต่อโรงพยาบาลที่ประสงค์เข้ารับการรักษาโดยตรง ซึ่งอาจมีความแตกต่างเรื่องราคาอยู่บ้างขึ้นอยู่กับอาการและระดับมาตรฐานโรงพยาบาล แต่ถ้าหากเจ็บป่วยฉุกเฉินควรเรียกสายด่วน 1669

เปิด "ธุรกิจรถพยาบาลรัฐ-เอกชน" บริการดูแลชีวิตที่ไม่มีราคาตายตัว

 

รัฐไม่รับรองมาตรฐาน ให้รถพยาบาลเอกชน 

เจมส์ ฐิติกาล ตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการรถพยาบาลเอกชนมากว่า 10 ปี อธิบายว่ารถที่ให้บริการมี 3 ระดับ คือ 1.ขั้นพื้นฐานซึ่งภายมีคนขับและผู้ช่วย 2.รถประเภทบีโอเอสภายในมีคนขับ ผู้ช่วยและเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน และระดับ 3.รถประเภทระดับสูงภายในมีคนขับ พยาบาล ผู้ช่วยและอาจมีแพทย์เพื่อทำหน้าที่ประเมินอาการผู้ป่วยระหว่างเดินทาง โดยการให้บริการแต่ละระดับอยู่ที่ความต้องการลูกค้าและภาวะเสี่ยงคนไข้

เจมส์ เปิดใจยอมรับว่าปัจจุบันรถพยาบาลเอกชนทุกบริษัทไม่เคยตรวจตามระบบมาตรฐานการรับรอง สพฉ.แม้ตลอด 10 ปีที่จะพยายามเข้าไปติดต่อดำเนินการเพื่อทำให้รถถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธและได้คำตอบเพียงว่าไม่มีกฎหมายรับรองรถกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจดูขัดกัน  “ผมพร้อมทำทุกอย่างให้ถูกต้อง แต่รออย่างเดียว ให้รัฐเข้ามาช่วยทำให้พวกเราถูกต้อง”

เจมส์ บอกต่อว่า สาเหตุที่รถกลุ่มนี้ยังสามารถให้บริการได้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่นำรถพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการเสริม การตรวจมาตรฐานโรงพยาบาลผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้พิจารณาและประเมิน ซึ่งหากไม่ผ่านก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานต่อ

“รถเราเป็นเอกชน แม้ไม่ผ่านการตรวจที่เดียวคือ สพฉ. แต่การทำงานทุกครั้ง เราผ่านการตรวจจากหมอและพยาบาลของโรงพยาบาลผู้ว่าจ้าง เรื่องคุณภาพเราตรวจครั้งต่อครั้ง หากเทียบกับตรวจของ สพฉ. ปีละครั้ง ผมขอถามว่า คุณเป็นลูกค้า คุณจะเชื่อใจแบบไหน ตรวจทุกครั้งหรือปีละครั้ง”

ขณะที่การให้บริการบุคลากรประจำรถพยาบาล เขาบอกว่า มีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลทำหน้าที่ บุคลากรกลุ่มนี้ปฏิบัติงานนอกเวลา ฉะนั้นรับรองได้ว่าเจ้าหน้าที่ประจำรถมีมาตรฐานและใบวิชาชีพรับรอง ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงแต่อย่างใด

เจมส์ เปิดเผยถึงอัตราให้บริการรถพยาบาลว่า การคิดราคา ประเมินจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการรับส่ง การใช้อุปกรณ์ บุคลากร ระยะทาง เป็นต้น โดยหากเลือกรถแบบธรรมดาวิ่งภายในกรุงเทพฯ ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งให้บริการรับส่งฟรีจนถึงคิดราคาเต็ม 25,000 บาทต่อครั้ง (ใช้รถดีสุด มีหมอ-พยาบาล) อย่างไรก็ตามยืนยันว่าธุรกิจนี้ไม่มีราคาตายตัว

ผู้ให้บริการรถพยาบาลเอกชน แนะนำว่าหากประชาชนต้องการใช้บริการรถกลุ่มนี้ควรตกลงราคาและรูปแบบรายละเอียดบริการให้ชัดเจนก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง

เปิด "ธุรกิจรถพยาบาลรัฐ-เอกชน" บริการดูแลชีวิตที่ไม่มีราคาตายตัว

เปิด "ธุรกิจรถพยาบาลรัฐ-เอกชน" บริการดูแลชีวิตที่ไม่มีราคาตายตัว