posttoday

เปิดพื้นที่ ยุติธรรม สร้าง 'โอกาส' ให้ผู้พิการ

23 กันยายน 2560

การดึง "ผู้พิการ" เข้าสู่ตลาดแรงงานนับเป็นส่วนสำคัญในการให้โอกาสมอบพื้นที่ได้แสดงศักยภาพของผู้พิการ ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้พิการแต่ยังสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

การดึง "ผู้พิการ" เข้าสู่ตลาดแรงงานนับเป็นส่วนสำคัญในการให้โอกาสมอบพื้นที่ได้แสดงศักยภาพของผู้พิการ ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้พิการแต่ยังสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติ กระทรวงยุติธรรม โดย ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เล่าว่า ทางกระทรวงรับผู้พิการเข้ามาทำงานในส่วนต่างๆ ของหน่วยงานทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ฝ่ายนิติกร ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ฝ่ายธุรการ รับโทรศัพท์ ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเปิดพื้นที่กระทรวงให้ผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีโครงการเปิดตลาดนัดทุกวันจันทร์ให้คนพิการเข้ามาขายสินค้าสร้างรายได้ให้ผู้พิการ ครอบคลุมไปกับกลุ่มข้าราชการที่สัดส่วนรายได้อาจไม่มากนัก ให้เข้ามาขายสินค้าสร้างรายได้ต่อไปด้วย โครงการนี้อยู่ระหว่างการดูรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมและสมบูรณ์

"พอมีพื้นที่และเปิดตลาดได้เมื่อไหร่ก็จะประกาศให้กลุ่มคนพิการทราบ และให้เข้ามาขายสินค้าในกระทรวงยุติธรรม โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนพิการกลุ่มไหน ทุกคนสามารถเข้ามาขายของได้หมด"

ธวัชชัย ยังมองศักยภาพของผู้พิการว่า คนพิการคือคนปกติเพียงแต่ว่าอาจทำบางด้านไม่ได้เท่าคนปกติ แต่อาจทำบางด้านได้ดีกว่าคนปกติ เช่น คนพิการตาบอดหลายคนมองน่าสงสาร แต่จริงๆ แล้วอาจมองเห็นเท่ากับคนปกติในโลกของเขา มีจินตนาการมีสีสันหาความสุขได้เช่นกัน เชื่อว่าคนเหล่านี้มีศักยภาพที่ดีอย่างแน่นอน บริหารบนจุดแข็งของคน อย่าไปบริหารจุดอ่อน

"อย่างผู้พิการบางคนที่รับมาก็ให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้ เพราะสมองและปากไม่ได้เสีย เขาแค่เดินไม่ได้ แต่มือยังดีอยู่ นั่นเองก็จะทำให้คนพิการไม่เป็นภาระทางสังคม"

อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่สุดของผู้พิการคือการ "ขาดโอกาส" และ "ขาดพื้นที่" ที่ทำให้คนเหล่านี้อาจดูเป็นภาระ ในอีกไม่กี่ปีสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่ง "ถือเป็นน้องๆ ผู้พิการเช่นกัน" ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ผู้พิการ ดังนั้นสาธารณูปโภคต้องรองรับคนเหล่านี้เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระใคร และจะเป็นโลกของคนปกติ ทุกวันนี้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอดทนต่อสู้กับคำถากถางที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มองว่าด้อยค่า ดังนั้นเราควรเปิดโอกาสให้คนพิการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1:100 คน ถือเป็นภาคบังคับหน่วยงานรัฐ แต่ถ้าเป็นเอกชนหากไม่มีการจ้างงานคนพิการสถานประกอบการก็จะต้องส่งเงินกองทุนสนับสนุนคนพิการทุกปี ข้อมูลจำนวนผู้ปฏิบัติงานในปี 2559 ที่ผ่านมาของกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการจ้างผู้พิการเข้าทำงานจำนวน 17 คน จากจำนวนคนที่ต้องจ้างเพิ่ม 245 คน ซึ่งจำนวนผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดมี 26,231 คน

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ขยายภาพผู้พิการในปัจจุบันว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้พิการในไทยที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1.7 ล้านคน และคาดว่ายังมีกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีก 3 แสนคน คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 18-60 ปี) 8 แสนคน ในจำนวนผู้พิการนี้ จากการสำรวจพบประมาณ 5 แสนคน ที่ยังไม่ได้ทำงาน

ในส่วนนี้ยังพบว่าร้อยละ 90 ของทุกช่วงอายุผู้พิการ พบว่า คนพิการจบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะทำงานในเอกชนหรือราชการแทบหมดโอกาส จึงถือเป็นปัญหาใหญ่มากเรื่องการศึกษา สาเหตุมาจากเข้าไม่ถึง รวมถึงสังคมไทยเมื่อเด็กพิการผู้ปกครองจึงกลัวว่าลูกจะโดนล้อเลียนเลยตัดสินใจไม่ส่งลูกเรียนต่อ

สรัญญา ทองมณี นักบริหารจัดการยุติธรรม พนักงานราชการ กระทรวงยุติธรรม เล่าความรู้สึกว่า ด้วยภาวะร่างกายที่มีความพิการเดินไม่ได้ทำให้ต้องนั่งรถวีลแชร์ตลอดเวลา ทุกวันนี้ต้องเดินทางไปกลับทำงานด้วยรถแท็กซี่สาธารณะเป็นประจำ จากที่พักย่านประชาชื่นมาถึงศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะนานกว่า 4 ปี ถึงแม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์เหมือนใครหลายคนก็ตาม

"ยอมรับว่าตอนนี้เลยจุดท้อแท้ทางร่างกายมาแล้ว จึงอยากฝากถึงผู้พิการคนอื่นๆ ว่าต้องเปิดใจรับสังคมแวดล้อมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นให้ได้ อุปสรรคมีทุกคนแต่เราอาจจะเยอะกว่าคนอื่น มันเป็นแล้วก็ต้องทำใจ"

ท้ายสุด สรัญญา ฝากถึงผู้พิการหลายๆ คนว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือการเรียนการศึกษาที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต้องเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องเป็นผู้ให้บ้างอย่าเป็นผู้รับฝ่ายเดียว รวมถึงไม่ควรร้องขอความช่วยเหลือจากใคร ควรเริ่มต้นช่วยเหลือตัวเองก่อน ถ้าอยากมีอนาคตเจริญก้าวหน้าต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน