posttoday

อวสานมังกรเหินฟ้า! "เรือเหาะ"กองทัพไทย 8ปีเสียงวิจารณ์ไม่เคยสิ้นสุด

14 กันยายน 2560

ย้อนรอย "เรือเหาะตรวจการณ์" หลังกองทัพบกประกาศปลดประจำการ เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน

ย้อนรอย "เรือเหาะตรวจการณ์" หลังกองทัพบกประกาศปลดประจำการ เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน

ปลดประจำการณ์ลงเเล้วสำหรับ "เรือเหาะตรวจการณ์" ที่กองทัพบกจัดซื้อในสมัย บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน

ตลอด 8 ปีนับตั้งเเต่เข้าประจำการ  "เรือเหาะดับไฟใต้" ถูกกระเเสวิพากษ์วิจารณ์เเละโจมตีจากหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่องถึงความคุ้มค่าเเละความโปร่งใส

จุดเริ่มต้นของเรือเหาะตรวจการณ์ลำนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2552 รัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” อนุมัติ งบประมาณมูลค่า 350 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ และระบบภาคพื้น รถต่างๆ 70 ล้านบาท โดยจัดซื้อจากบริษัท เอเรียล อินเตอร์เนชั่นแนล คอเปอร์เรชั่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และหวังเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

18 ธ.ค. 2552 เรือเหาะรุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ SKY DRAGON เข้าประจำการ ณ โรงจอดภายในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 อย่างเป็นทางการ (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ตัวลำมีขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) คุณสมบัติที่ระบุคือ ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย เเบ่งเป็นนักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย

5 มี.ค. 2553 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะจัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน พบว่ามีปัญหาหลายอย่าง ในส่วนกล้องและตัวบอลลูน ตัวเรือเหาะบินได้เพียง 1 ใน 3 ของสเปกไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้นดิน  คือบินได้สูงเพียง 1 กม. จนกระทั่งนำไปสู่การตั้งคำถามจากกลุ่มฝ่ายค้าน

ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์  ผบ.ทบ. ได้ลงพื้นที่ ร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพเรือเหาะเเละพบปัญหาหลายอย่าง เเต่ยืนยันว่าระบบยังใช้งานได้ดี หากมีการตรวจสอบว่าไม่โปร่งใสหรือมีการทุจริตก็พร้อมรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็มีการชี้แจงจากกองทัพว่า ที่บินได้ต่ำกว่าสเปก เพราะติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงรับน้ำหนักจากคนขับ ทำให้บินต่ำลง

อวสานมังกรเหินฟ้า! "เรือเหาะ"กองทัพไทย 8ปีเสียงวิจารณ์ไม่เคยสิ้นสุด

วันที่ 23 ก.ค. 2553 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะ ลงนามรับมอบเรือเหาะตรวจการณ์ทั้งระบบ ทั้งที่ยังมีคำถามค้างคาใจจากหลายฝ่าย กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ เรือเหาะถึงจะผ่านการทดสอบเเละได้เริ่มใช้งานจริงเมื่อวันที่ 16 มี.ค.

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเรือเหาะยังไม่จางหายไป ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ได้นำเรื่องประสิทธิภาพและความไม่คุ้มค่าของเรือเหาะไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีด้วย

ข่าวคราวในสมัยนั้น มีการกล่าวอ้างแหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจบอลลูนและเรือเหาะ ซึ่งระบุว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อแพงเกินจริง เพราะเรือเหาะอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกันมีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้น แต่เรือเหาะของกองทัพบก เฉพาะตัวบอลลูนมีราคาสูงถึง 260 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั่ง รอยรั่วผ้าใบ การเติมก๊าซฮีเลียม ขณะที่บางส่วนโจมตีอย่างรุนแรงว่า เรือเหาะไม่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ฝนตกชุกอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตกด้วย

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2555 นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วเรือเหาะก็ยังเกิดปัญหา โดยประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจความปลอดภัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ผ่านไป 2 ปี เมื่อวันที่ 5 ก.ย.57 เรือเหาะลงจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนา ม.6 ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เนื่องจากเกิดลมแรงทัศนวิสัยไม่อำนวย ก่อนบินกลับฐานโดยไม่ได้รับความเสียหาย

อวสานมังกรเหินฟ้า! "เรือเหาะ"กองทัพไทย 8ปีเสียงวิจารณ์ไม่เคยสิ้นสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

เรือเหาะยังตกเป็นประเด็นและมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งหนึ่งเคยมีผู้ยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช. ให้พิจารณาถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ออกจากตำเเหน่ง กรณีละเว้นหน้าที่ ปล่อยให้กองทัพบกจัดซื้อเรือเหาะในราคาสูงเกินจริง

อย่างไรก็ตามต่อมาวันที่ 24 ธ.ค.58  ป.ป.ช. มีมติยกคำร้อง หลังไต่สวนพบว่า กระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์ดังกล่าว อนุมัติก่อน นายสุเทพ เข้ารับตำแหน่ง  ขณะเดียวกันยังมองว่า เรือเหาะที่จัดซื้อเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงดำเนินการโดยวิธีพิเศษ และเรือเหาะผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย จากสหรัฐฯ  แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ และอากาศมีฝนตกชุก จึงต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เหมาะสม ซึ่งไม่พบความผิดปกติตามคำร้อง

กระทั่งล่าสุด 14 ก.ย. 2560 หมดเวลาการใช้งานของเรือเหาะลำนี้แล้ว เมื่อ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์หลังใช้งาน 8 ปี และไม่มีแผนจัดซื้อใหม่ อย่างไรก็ตามที่บอกว่าหมดอายุการใช้งานนั้นเฉพาะตัวบอลลูน อุปกรณ์อื่นๆ ยังสามารถใช้งานได้ เช่น กล้องตรวจการ ทางกองทัพบก(ทบ.) จะพิจารณานำไปดัดแปลงใช้งานอย่างอื่นแทน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ยุคเรือเหาะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำเเหน่ง รมว.มหาดไทย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีการปลดประจำการณ์เรือเหาะ

อวสานมังกรเหินฟ้า! "เรือเหาะ"กองทัพไทย 8ปีเสียงวิจารณ์ไม่เคยสิ้นสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.