posttoday

ระวังตกเป็นเครื่องมือเมียนมา สร้างความเกลียดชังโรฮีนจา

13 กันยายน 2560

เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮีนจา กำลังปกคลุมไปด้วยความรุนแรง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ใกล้ชายแดนประเทศบังกลาเทศ ระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮีนจา ซึ่งกำลังปกคลุมไปด้วยความรุนแรง หลายชีวิตตกอยู่ในภาวะอันตราย และความรุนแรงนี้เองทำให้สายตาของทั่วโลกหันมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง อย่างที่หลายฝ่ายทราบดีว่า ชาวโรฮีนจา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการเมียนมาเองไม่ยอมรับว่าเป็นคนเมียนมา และไม่ต้องการให้อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดิน

ธานินทร์ สาลาม นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉายภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ให้ฟังว่า การสู้รบของรัฐบาลเมียนมากับชาวโรฮีนจาในขณะนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาลุกลามมายังประเทศไทย ส่วนการลักลอบเข้ามาประเทศไทยนั้น น่าจะมีความยุ่งยากมากขึ้น และที่สำคัญประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มโรฮีนจา หรืออาจเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ที่สำคัญปัจจุบันชาวโรฮีนจา ไม่สามารถเดินทางผ่านเข้ามาในไทยได้เพราะทางการเข้มงวดระบบนายหน้าที่เคยเข้าไปสัมปทานพาคนเหล่านี้ผ่านเข้ามา

ธานินทร์ ระบุว่า เส้นทางเดียวที่ชาวโรฮีนจาต้องการเดินทางไปคือประเทศบังกลาเทศ เนื่องจากมีระยะทางใกล้กว่าไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อหลบหนีการสู้รบและการเดินทางไปทำงานในประเทศอาหรับอื่นๆ มากกว่า ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ชัดเจนว่า ทางการเมียนมาเองมีเป้าหมายไม่ต้องการให้มีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ประเทศ โดยใช้กลุ่มติดอาวุธดำเนินการ ซึ่งเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้วิธีบีบบังคับทุกวิถีทางเพื่อให้กลุ่มโรฮีนจาต้องออกไปนอกพื้นที่ อาทิ มาตรการที่รุนแรงและมาตรการบีบกระชับพื้นที่ไปสู่เป้าหมาย และการถอนสัญชาติ ซึ่งนโยบายที่ไม่ต้องการให้มีชาวโรฮีนจาอยู่ในเมียนมา

“ผมได้มีโอกาสเดินทางไปรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เข้าไปยังเมืองหลวงอย่างซิตตะเว่ พบว่าในพื้นที่แห่งนี้ไม่มีชาวโรฮีนจาอยู่เลย ถือว่าเป็นการจัดการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีชาวมุสลิมใดๆ ในเขตเมืองนั่นคือโมเดลที่เมียนมาทำสำเร็จในซิตตะเว่ ถือเป็นโมเดลที่เมียนมาทำและขยายไปยังพื้นที่อื่น” ธานินทร์ เล่าประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น 1.ต้องดูแลผู้คนข้างในประเทศอย่างดีและการวิพากษ์วิจารณ์อย่าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก 2.นโยบายทางการเมือง ถ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากอาจตกเป็นเป้าหมายได้ และ 3.เส้นทางผ่านนั้นไทยไม่ใช่ทางผ่านแน่นอนในตอนนี้ ดังนั้นประเทศไทยเองต้องดูแลในเรื่องของมนุษยธรรมและต้องไม่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองของเมียนมาเด็ดขาด

ขณะที่ ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ วิเคราะห์ว่า ข้อกังวลที่ว่าชาวโรฮีนจาจะกระทบมาถึงประเทศไทยหรือไม่นั้น “แนวโน้มน่าจะมีแน่” แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นทันทีในช่วงนี้ จะเกิดภายหลังความรุนแรงในเมียนมาสงบลง แต่ยังมีเจ้าหน้าที่กองทัพความมั่นคงดำรงอยู่ ปัญหาที่ตามมาอาจมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮีนจาที่ต้องการหลบหนีออกไปนอกประเทศ โดยแนวโน้มลักษณะนี้อาจมีความเป็นไปได้

“1-2 ปีนี้อาจไม่พบปัญหาใหญ่ขึ้นมา แต่หลังจากนี้ก็ไม่แน่อาจนำไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น เส้นทางการหลบหนีเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน แต่อาจมาในรูปแบบกองทัพมดทยอยลักลอบเข้ามา”ศิววงศ์ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ สภาทนายความ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามให้ไทยช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการกับกลุ่มโรฮีนจา อย่างล่าสุด ผบ.สส.เมียนมา เข้าพบผู้นำประเทศไทยขอให้มีการเรียกชื่อชาวโรฮีนจาว่าเบงกาลี แต่ไทยก็ต้องระวังเพราะอาจเป็นเครื่องมือของเมียนมา ประเทศไทยมีคนมุสลิมอยู่ในไทยจำนวนมากและมีการค้าขายสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศ หากมีปัญหา เรามีปัญหาขึ้นได้ ที่สำคัญจะเป็นการสร้างความเกลียดชังแตกแยกมากขึ้น 

ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีชาวโรฮีนจาเข้ามาในประเทศไทยเพราะอดีตที่ผ่านมา พบว่าการเดินทางเข้ามาได้เพราะมีขบวนการค้ามนุษย์นำเรือไปรับ หากไม่มีขบวนการเหล่านี้ไปรับก็จะไม่มีชาวโรฮีนจาเข้ามาในประเทศไทย

ภาพ เอเอฟพี