posttoday

"หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง" แรงดี-ทนจริง หรือแค่ความรู้สึก?

12 กันยายน 2560

หาคำตอบจากประเด็นร้อน “หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง” จำเป็นหรือไม่จากปากผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์และนักวิทยาศาสตร์

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์

สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นประสิทธิภาพ น้ำมันสารเคลือบเครื่องยนต์ ยี่ห้อหนึ่งที่ขายกันเกลื่อนโซเชียลว่า มีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ หลังลูกค้านำไปใช้แล้ว บอกว่า น้ำมันเคลือบเครื่องยี่ห้อดังกล่าวทำให้เครื่องยนต์พัง

หลายคนตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว  หัวเชื้อน้ำมันเครื่องและสารเคลือบเครื่องยนต์ มีความจำเป็นต่อรถยนต์หรือไม่ ใช้หรือไม่ใช้มีผลแตกต่างกันมากน้อยเพียงไร วันนี้ "โพสต์ทูเดย์" มีคำตอบจาก ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์และนักวิทยาศาสตร์

ถ้าใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องไม่ดี ก็อาจเป็นยาพิษต่อเครื่องยนต์

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ตามหลักรถยนต์ต้องมีน้ำมันเครื่อง ในการช่วยหล่อลื่นและระบายความร้อนจากเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้สึกหรอ โดยส่วนผสมหลักในน้ำมันเครื่องประกอบด้วย น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (Base Oil) ประมาณ 75-90% สารเติมแต่ง (Additives) ประมาณ 10-25% ซึ่งสารเติมแต่งเหล่านี้ช่วยทำความสะอาดเครื่องยนต์ ลดอัตราการสึกหรอ ลดการรั่วไหลของกำลังอัด ฯลฯ โดยน้ำมันเครื่องแต่ละยี่ห้อ จะมีสูตรเติมแต่งต่างกัน

ขณะที่หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง (Oil Additives) แท้จริงคือสารตระกูลสารเติมแต่ง โดยแต่ละยี่ห้อสัดส่วนของสารเคมีที่ใช้คุณสมบัติต่างกัน เช่น สารทำความสะอาด (Detergents) ช่วยลดการสะสมตัวของสิ่งเจือปนในน้ำมันเครื่อง ชะล้างเม็ดฝุ่นและผงเหล็ก จากพื้นผิวเครื่องยนต์เพื่อลดสึกหรอ หรือสารป้องการความเป็นกรด (Anti-acids) ช่วยปรับให้น้ำมันเครื่อง ไม่เป็นกรดมากเกินไปจนเกิดการกัดกร่อนกับเครื่องยนต์สั้น และสารปรับแต่งความหนืด (Viscosity Modifiers) ที่ช่วยทำให้น้ำมันเครื่องรักษาความหนืด แม้ทำงานในอุณหภูมิและความดันสูง

ดังนั้น หากน้ำมันเครื่องที่ใช้ปกติ มีการใส่สารเติมแต่งเหล่านี้ครบถ้วน การเติมหัวเชื้อที่มีสูตรเดียวกันลงไปในเครื่องยนต์นั้น หัวเชื้อเพียงช่วยเสริมการทำงานของสารเติมแต่งในน้ำมันเครื่องได้นิดหน่อย หรือช่วยเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างที่ขาดหายไปได้บ้าง

แต่ว่า หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง อาจกลายเป็นยาพิษได้ถ้าคุณภาพไม่ดี หรือมีองค์ประกอบทางเคมี ไม่เหมาะกับน้ำมันเครื่องที่ใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาส่งผลกระทบต่อระบบหล่อลื่น หรือถ้าการเติมหัวเชื้อไม่ตรงตามอัตราส่วนที่กำหนดระหว่างหัวเชื้อ กับน้ำมันเครื่องที่ใช้ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีไม่สมบูรณ์ และถ้ายิ่งเติมหัวเชื้อลงไปในน้ำมันเครื่องที่เสื่อมสภาพ ก็จะทำให้น้ำมันหล่อลื่นไม่สามารถทำงานได้ดี

ผศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า มุมของค่ายรถยนต์ ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่อง รวมถึงออกค้านด้วยซ้ำว่าไม่เป็นผลดีต่อเครื่องยนต์ เพราะจะทำให้กำลังของเครื่องยนต์ตกลง สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดอาการกินน้ำมันเครื่อง (ตรงข้ามกับที่โฆษณากัน) อันเนื่องมาจาก ถ้าใช้หัวเชื้อน้ำมันเครื่องเป็นเวลานาน จะเกิดคราบสะสมเป็นตะกอนที่เครื่องยนต์ ซึ่งผู้ใช้รถจะไม่ทราบสาเหตุเลย จนกว่าจะเปิดดูภายในเครื่องยนต์ตรวจสอบอย่างละเอียด

"เรื่องนี้เป็นทริค ที่คนขายรถยนต์เก่า ชอบใช้หลอกคนซื้อ ด้วยการเติมหัวเชื้อเยอะๆ แล้วเครื่องจะเดินเงียบขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเพราะมันหนืดขึ้น"

ใช้น้ำมันเครื่องดี หัวเชื้อหรือสารเคลือบเครื่องยนต์ก็ไม่จำเป็น

วรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนด้านรถยนต์ ย้ำอย่างหนักแน่นว่า น้ำมันเครื่องจำเป็นต้องเติม แต่หัวเชื้อหรือสารเคลือบเครื่องยนต์ไม่จำเป็น เพราะน้ำมันเครื่องเปรียบเสมือนข้าวที่คนต้องกิน น้ำมันเครื่องดี ก็เหมือนกินข้าวคุณภาพดี ส่วนหัวเชื้อน้ำมันเครื่องหรือสารเคลือบที่ไว้ผสม เปรียบเหมือนวิตามินที่คนใช้ แต่ไม่มีความสำคัญ เท่ากับข้าว

แต่สาเหตุที่หัวเชื้อหรือสารเคลือบเป็นที่นิยมมานานนับสิบปี เพราะผู้ใช้รถหวังว่า เติมลงไปจะช่วยทำให้รถแรง ช่วยซ่อมแซมเครื่องยนต์ ลดต้นทุน จะได้ไม่ต้องซื้อน้ำมันเครื่องดีใส่ ซึ่งข้ออ้างเหล่านั้นไม่เป็นจริงทั้งหมด อาจช่วยได้เพียงทำให้การหล่อลื่นของน้ำมันเครื่องดีขึ้นบ้าง หากใช้สารที่มาจากโรงงานน่าเชื่อถือ นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ส่วนในประเทศไทยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ออกมาศูนย์ใหญ่เท่านั้น เพื่อความมั่นใจ

"ผมยืนยันว่า หากเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพดี ก็เหมือนกินอาหารดี ใช้ครั้งเดียวจบ ไม่ต้องไปกังวลว่าสารเสริม จะใช้ได้ผลและปลอมหรือไม่"วรพลกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ระบุว่า ส่วนองค์กรหรือหน่วยงานรับรองมาตรฐานสินค้าประเภทนี้ไม่มี มีแต่เพียงการรับรองจากหน่วยงานกลางสถาบันยานยนต์ตามมหาวิทยาลัยที่ทดสอบเท่านั้น ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่ามีมาตรฐาน ไอเอสโอ (ISO) รับรอง แท้จริงเป็นเพียงมาตรฐานโรงงาน

ส่วนน้ำมันสารเคลือบเครื่องยนต์ยี่ห้อดังที่กำลังเป็นข่าว มองว่าขั้นตอนการผลิตจนถึงการบรรจุไม่มีมาตรฐาน เพราะสารที่นำมา 2 ชนิด คือ คลอริเนเตท พาราฟิน คลอรีน 51% มีคุณสมบัติเหนียว ในสหรัฐอเมริกาห้ามใช้กับเครื่องยนต์ ฯลฯ เพราะจะทำให้พัง และผู้ใช้อาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง ส่วนประเทศไทยห้ามจำหน่าย ส่วนสารอีกชนิดที่นำมาผสมคาดว่าเป็น กลีเซอรีน มีคุณสมบัติทำให้ใส ฉะนั้นเมื่อสารเหล่านี้เจอความร้อนในเครื่องยนต์ หรือที่มีการนำมาเผาโชว์ กลีเซอรีนก็จะระเหย คลอรีนจะกลับมาเหนียวหนืด จนอาจไหม้เป็นตะกอน ซึ่งอาจทำให้เครื่องพัง

สำหรับเหตุผลทำให้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวเป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดีย เพราะมีรูปแบบการตลาดเน้นขายตรง ใช้ระบบให้ลูกข่ายโชว์ทรัพย์สิน หรือรถหรูเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงคิดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ

ผู้เชี่ยวชาญด้านรถรายนี้ ทิ้งท้ายว่า “หัวเชื้อไม่ต้องซื้อ ใช้แค่น้ำมันเครื่องคุณภาพดีเท่านั้นพอ เหมือนกับคนกินข้าวดีๆ จะได้ไม่ต้องลุ้นว่า วิตามินเสริมจะดีหรือไม่”