posttoday

คำพิพากษา "บุญทรง" ปิดฉากโกงจำนำข้าว

11 กันยายน 2560

การระบายข้าวไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์ชาวนาและประเทศชาติ แต่กระทำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ : เว็บไซต์ของศาลฎีกา (www.supremecourt.or.th) ได้เผยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558 อม.1/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม.178/2560 อม.179/2560 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

สัญญาซื้อขายข้าวมีด้วยกันรวม 4 ฉบับ คือ สัญญาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2554 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัทกว่างตงนำเข้าและส่งออกสินค้าและเครื่องเขียนและอุปกรณ์กีฬา (Guangdong Stationery & Sporting Goods IMP.&EXP.CORP) ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในคลังสินค้าของรัฐบาลไทย ปีการผลิต 2548/2549 ถึง 2552/2553 ปริมาณ 2,195,000 ตัน

สัญญาฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2554 ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กับบริษัทกว่างตงฯ ตกลงซื้อขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหักและข้าวขาวหักในคลังสินค้าของรัฐบาลไทย ปีการผลิต 2554/2555 ปริมาณ 2 ล้านตัน

สัญญาฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 ก.ค. 2555 ระหว่างการค้าต่างประเทศกับบริษัทกว่างตงฯ ตกลงซื้อขายข้าวขาว 5% และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1 ล้านตัน ต่อมาจำเลยที่ 4 (มนัส สร้อยพลอย) ได้ทำบันทึกเสนอขอแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% อีก 1.3 ล้านตัน รวมเป็น 2.3 ล้านตัน และจำเลยที่ 2 (บุญทรง เตริยาภิรมย์) ได้ให้ความเห็นชอบ

สัญญาฉบับที่ 4 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2555 ระหว่างกรมการค้าระหว่างประเทศกับบริษัทห่ายหนานค้าเมล็ดธัญพืชและอุตสาหกรรมน้ำมัน (Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company) ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน ปีการผลิต 2554/2555 และ 2555 ปริมาณ 6.5 หมื่นตัน

สำหรับการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นได้ความจาก วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการ บริษัท ไรซ์แลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งประกอบธุรกิจส่งออกข่าวตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้หน่วยงานชื่อ China National Cereals, Oil and Foodstuff Import and Export Corporation (COFCO) เป็นตัวแทนในการลงนามในสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ

นอกจากนี้ อดีตข้าราชการระดับสูงของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้มีประสบการณ์รับผิดชอบดำเนินการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับประเทศต่างๆ ล้วนยืนยันว่าการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเจรจาขายผ่าน COFCO เท่านั้น โดยประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องดำเนินการโดย COFCO เท่านั้น

ในประเด็นเรื่องการระบายข้าวนั้น ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนได้ความว่า เริ่มดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2554 จนถึงจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ในวันที่ 30 มิ.ย. 2556 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 ไม่เปิดประมูลขายข้าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าวในประเทศกลับมุ่งขายข้าวให้รัฐวิสาหกิจของมณฑล สาธารณรัฐประชาชนจีนถึง 6 รัฐวิสาหกิจ รวม 8 สัญญา ประมาณ 22 ล้านตันเศษ อย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาก่อน ผลที่สุดข้าวที่ขายไปไม่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ถูกนำมาขายต่อภายในประเทศเพื่อประโยชน์จากส่วนต่างราคา

การระบายข้าวของจำเลยที่ 2 จึงมิได้กระทำไปเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลประสบผลสัมฤทธิ์เพื่อยกระดับราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้นอันจะเป็นประโยชน์แก่ชาวนาและประเทศชาติอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่กระทำไปเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง

พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแยกตามรายสัญญาตามประมวลกฎหมาย จำเลยที่ 2 กระทำความผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 18 ปี รวมเป็นจำคุก 36 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2545 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 151 (เดิม) อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 42 ปี