posttoday

ม.116 ทำลายเสรีภาพ เพื่อความมั่นคง

04 กันยายน 2560

การใช้มาตรา 116 ขณะนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและสมเหตุสมผล ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ?” โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย

มาตรานี้เรียกสั้นๆ ว่า ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 นั้น พบว่าก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเด็นมาตรา 116 แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย แต่เมื่อมีการยึดอำนาจหลังการรัฐประหาร ก็มีคดีตามมาตรา 116 จำนวนมาก มีการใช้ตามอำเภอใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้การใช้มาตรา 116 นำมาสู่บรรยากาศความหวาดกลัว เพราะอาจติดคุกได้ถึง 7 ปี รวมทั้งต้องขึ้นศาลทหารซึ่งหลักการระหว่างประเทศมองว่า ไม่มีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ทุกกระบวนการคืออยู่ในกระทรวงกลาโหม ภายใต้ คสช. ต่างประเทศจึงมองว่าเป็นเครื่องมือปิดกั้นคนเห็นต่าง ใช้เครื่องมือในการสอบสวนอย่างไม่ปกติ ซึ่งประเด็นมาตรา 116 มีการพูดในสหประชาชาติอยู่หลายครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจคือการเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ถือว่ายากมาก จึงหวังว่าในท้ายที่สุดจะเอาผิดไม่ได้ แต่จะเห็นได้ชัดกรณีที่ใช้มาตรา 116 แล้วติดเบรกทันทีคือกรณีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการพิพากษา เพราะกรณีแบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายความมั่นคง มองเต็มที่ก็เป็นเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น ดังนั้นมาตรา 116 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางการเมือง

จักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในยุคก่อนมีข้อหาสำเร็จรูปคือข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ความผิดในการกระทำจะไม่ครบองค์ประกอบ แต่ถ้าเขาต้องการให้เป็นคอมมิวนิสต์ก็ชี้ได้ วันนี้เรากำลังกลับเข้าสู่บรรยากาศแบบนั้น คือตั้งข้อหาไว้ก่อนแล้วไปเอาความผิดภายหลัง ซึ่งก่อนหน้านี้

ช่วงที่ส่วนตัวทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการพบว่า มีพัฒนาการการปิดปากสื่อมวลชนตามข้อหาหมิ่นประมาท แต่ทั้งหมด
ก็ยอมความได้ ต่อมาเมื่อมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ขึ้นมา ข้อหาก็มีเพิ่มขึ้นมาจากการหมิ่นประมาท

ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไปหมด เมื่อมีมาตรา 116 ขึ้นมา ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งบทบาทของสื่อมวลชนที่โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการตัดสินคดีจำนำข้าว การจัดการน้ำท่วม หรือกรณีนักข่าวไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวแล้วเจ้าหน้าที่ทหารจะยึดกล้องนั้น สิ่งเหล่านี้มองอย่างไรก็ไม่กระทบกับความมั่นคง เชื่อว่าท้ายที่สุดข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 จะเอาผิดไม่ได้ แต่อาจจะกระทบในเรื่องความไม่สบายใจในกระบวนการที่อาจจะยาวนาน

วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

ความผิดตามมาตรา 116 มีช่องทางสู้คดีได้มากมาย เชื่อว่าหากศาลจะลงคดีตามมาตรา 116 จะยากมาก เพราะไม่รู้จะสืบคดีอย่างไรให้เข้าองค์ประกอบความผิดว่ามีความไม่สงบ

ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากทะเลาะกับสื่อมวลชน แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่วาทะที่ว่าสื่อเลือกข้าง การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลก็อยากไปบล็อกสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามหาเครื่องมือจนมาเจอมาตรา 116 ซึ่งนัยของรัฐบาลคือป้องปราม แต่ผู้ถูกกระทำก็ไม่สนุก แต่ตนเชื่อว่าการสืบตามมาตรานี้เป็นไปไม่ได้เลย แต่ต้องยอมรับว่า สื่อเลือกข้างก็มี รัฐจึงต้องหาวิธีทำอย่างไร แต่เชื่อว่ามาตรานี้ไปไม่ได้ถึงเป้าหมาย ยังถือว่าสบายใจได้

เสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)

มาตรา 116 เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริงเพื่อปกป้องประเทศให้มีความมั่นคง อีกส่วนจะมีนัยทางการเมืองจะนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปกป้องให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังควบคุมได้ อาจจะมีผลกระทบกับผู้ที่คัดค้านทางการเมือง โดยผู้มีอำนาจก็จะนำมาตรา 116 มาใช้ แต่ในความเป็นจริงนั้นต้องกล้าพูดได้ว่าผู้มีอำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถควบคุมสภาพบ้านเมืองได้อย่างไร เพื่อประโยชน์กับประเทศโดยรวม

ที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคนที่เสนอความเห็นทางการเมือง และถูกดำเนินคดีจะไม่ถูกลงโทษ และเมื่อเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยทุกคนจะได้เรียนรู้ อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 116 ขณะนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและสมเหตุสมผล ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะประชาชนเริ่มกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของสื่อหลักใหญ่ต้องไม่ถูกปิดกั้น