posttoday

ใช้ ‘เทคโนฯวิเคราะห์’ ป้องอีสานจมบาดาล

10 สิงหาคม 2560

บทเรียนน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานส่งผลให้เศรษฐกิจ ภาคการเกษตร เสียหายนับพันล้านบาท โดยน้ำท่วมครั้งนี้ จ.สกลนคร สาหัสที่สุดสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอน

โดย...เอกชัย จั่นทอง

บทเรียนน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานส่งผลให้เศรษฐกิจ ภาคการเกษตร เสียหายนับพันล้านบาท โดยน้ำท่วมครั้งนี้ จ.สกลนคร สาหัสที่สุดสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอน แม้ว่าพื้นที่ราบสูงอย่าง จ.สกลนคร ยังถูกน้ำท่วมได้

อุทกภัยครั้งนี้ทำให้ ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ริเริ่มคิดเกิดเป็น “สกลนครโมเดล” เพราะครั้งนี้สังเกตได้ว่าประชาชนในพื้นที่ตั้งตัวไม่ทันทำให้บ้านเรือน รถจอดจมน้ำเสียหายจำนวนมาก

“อาจเป็นไปได้ว่าประชาชนคุ้นเคยกับเหตุการณ์ฝนตก น้ำไม่ท่วม เพราะเนื่องจากเป็นที่ราบสูง น้ำไม่เคยท่วมหนักแบบนี้มาก่อน ทำให้ประชาชนเองอาจไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้ ปัจจัยต่อมาเรื่องการเตือนภัยไม่ทั่วถึง แม้ภาครัฐมีการเตือนแล้วก็ตาม หรือจากปัจจัยอื่น เช่น เตือนแล้วยังนิ่งเฉย”

นั่นทำให้ต้องย้อนมองว่าทำไมจึงเกิดน้ำท่วมครั้งนี้ อาจเป็นเพราะสาเหตุจากฝนตกหนักมากหรืออ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอ!!!

ธเนศ ฉายภาพต่อไปว่าต้องมาวิเคราะห์ว่าน้ำท่วมสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่จำเป็นต้องภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ย้อนไปปี 2553 น้ำยังท่วมพื้นที่ราบสูงอย่าง จ.นครราชสีมา แต่ทุกคนคงหลีกเลี่ยงเรื่องน้ำท่วมไม่ได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องของความเสียหายได้

ธเนศ อธิบายรูปแบบของ “สกลนครโมเดล” ว่าควรมีการป้องกันโดยใช้ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ช่วยในการวิเคราะห์ว่าน้ำมีโอกาสไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองมากน้อยแค่ไหน แล้วมีโอกาสท่วมจากพื้นที่เดิมมากน้อยหรือไม่ ส่วนนี้จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการทำงาน

ถ้าเราจะป้องกันลดความเสียหายของประชาชนให้น้อยที่สุด ต้องมีระบบการ “แจ้งเตือนประชาชน” เพราะน้ำไม่ท่วมฉับพลันอยู่แล้ว แต่ต้องใช้เวลานับจากฝนตกวัดปริมาณน้ำฝนได้เป็นปริมาณมากผิดปกติจากนั้นจะเกิดการไหลบ่าของน้ำไปถึงตัวเมืองใช้ระยะเวลานานกี่ชั่วโมง เราจะวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้แล้วส่งข่าวสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เพราะทุกครัวเรือนมีสมาร์ทโฟนกันหมด

สำหรับการใช้เทคโนโลยี เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และแจ้งเตือน เป็นเรื่องที่ควรจะเริ่มทำ โดยใช้รูปแบบ “สกลนครโมเดล” เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น และไม่น่าเกิดเหตุน้ำท่วมกับเมืองที่ไม่เคยท่วมเลย เมื่อเจาะจงไปตัวเมืองที่เกิดเหตุน้ำท่วมมันทำให้แคบลง จนมองว่าโครงการที่ดูใหญ่กลายเป็นโครงการสามารถจับต้องได้ อย่าง “สกลนครโมเดล”

“เหตุนี้เองจึงระดมรวบรวมนักวิชาการเชิงปฏิบัติจำนวน 10 คน ที่มีประสบการณ์จริงคลุกคลีปฏิบัติในภาคสนามตลอดเวลา ได้สัมผัสปัญหาของชาวบ้าน มาประชุมเริ่มต้นสตาร์ททำแผนตัวสกลนครโมเดล เพื่อกำหนดแผนให้ชัดเจน”

ขณะเดียวกันต้องกำหนดดูว่าต้องใช้ข้อมูลจากส่วนใดบ้าง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ผ่านข้อมูลระบบ “ภูมิศาสตร์สาร สนเทศ” หรือ “สารสนเทศภูมิศาสตร์”  โดยนำข้อมูลปริมาณน้ำฝน ภูมิประเทศ มาประเมินผ่านเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องการไหลของน้ำ ว่าน้ำจะไหลถึงตัวเมืองใช้เวลาเท่าใด น้ำมาเส้นทางไหน น้ำควรจะท่วมสูงปริมาณใด เกิดฟลัดดิ้งเอเรียในพื้นที่นี้เท่าไหร่

โดยมีเจ้าหน้าที่ “วิศวกรอาสา”เป็นผู้เก็บข้อมูลระดับความสูงต่ำในพื้นที่ กำหนดพิกัดจุดจีพีเอส (GPS) ก่อนส่งข้อมูลเหล่านี้เข้ามาวิเคราะห์ นั่นจึงทำให้เราสามารถวิเคราะห์ในภาพรวมได้ว่า ในตัวเมือง จ.สกลนคร ถ้าน้ำมาแบบนี้ฝนตกเหมือนช่วงที่ผ่านมาจะท่วมพื้นใดบ้าง แล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงว่าน้ำท่วมปริมาณสูงเท่านั้นจริงหรือไม่

“เมื่อข้อมูลปรับแก้ไขตรงชัดเจนแล้ว เราจะแจ้งเตือนประชาชน สมมติว่า หมู่บ้านในอำเภอแห่งนี้ น้ำไหลจะใช้เวลากี่ชั่วโมงถึงเข้าตัวเมือง ถ้า 3 ชั่วโมง เราจะแจ้งเตือนอย่างไรหากเกิดไฟฟ้าดับขณะประกาศเสียงตามสาย แต่อย่าลืมว่าโทรศัพท์มือถือยังสามารถใช้ติดต่อได้อยู่ จึงคิดว่าควรทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเตือนโดยเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนอพยพ และแจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงข้าวสารต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นให้กับประชาชน”

ธเนศ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบ “สกลนครโมเดล” ที่จะนำร่องมาใช้ในพื้นที่เขตเมืองก่อนเท่านั้น หากทำทั้งหมดอาจมีค่าใช้จ่ายสูง โดยหลังจากนี้คาดว่าอีก 3 เดือน น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น และในอนาคตยังสามารถทำขยายไปแต่ละอำเภอ จังหวัดได้อีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าทำได้จริงเนื่องจากเรามีเทคโนโลยีเข้าไปถึง ผนวกกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ภัยพิบัติเป็นของอยู่คู่กับคนไทยแล้ว มันต้องเกิดขึ้นกับเรา เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบตามภูมิประเทศ ทั้งหมดทาง วสท.เป็นเจ้าภาพหลักนำร่อง “สกลนครโมเดล” โดยขอข้อมูลจากภาครัฐมา หลังจากนั้นจะเชิญให้ภาครัฐ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภาคเอกชน และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาร่วมกันพูดคุยวางแผนร่วมกัน