posttoday

กะเทาะสัญญาประชาคม "ปรองดอง"ได้กี่เปอร์เซ็นต์

07 สิงหาคม 2560

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากภาคธุรกิจต้องการส่งเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาลต่อความพยายามสร้างความปรองดอง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ว่าคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติรับทราบการจัดทำ ร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ไปแล้ว ระหว่างนี้ หน่วยงานความมั่นคง นำไปขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่

ทว่ามีคำถามถึงสัญญาประชาคมดังกล่าวนำไปสู่ความปรองดองได้กี่เปอร์เซ็นต์ “ทีมข่าวการเมือง” ได้สำรวจความเห็นจากประชาชนโดยโฟกัสภาคธุรกิจนักลงทุนเพื่อสะท้อนไปยังรัฐบาล

กะเทาะสัญญาประชาคม "ปรองดอง"ได้กี่เปอร์เซ็นต์ สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน

 

สุวัชชัย วงษ์เจริญสิน นายกสมาคมส่งออกเครื่องหนังแห่งประเทศไทย  มองว่า รัฐมีความพยายามสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในทุกมิติ แต่ผมตอบไม่ได้ว่า จะสำเร็จหรือไม่   หรือจะสำเร็จกี่ %   ส่วนเรื่องที่ต้องระวังก็คือ ถ้าจะลดข้อขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความปรองดอง ก็ต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก  ตรงนี้คิดว่ารัฐบาลเองก็คงประเมินเช่นกัน  ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งได้หยั่งรากลึกและแผ่วงกว้าง  ดังนั้นการจะแก้ปัญหาที่สะสมมานานๆ คงต้องอาศัยหลายๆเครื่องมือและใช้เวลา ไม่นับรวมว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือการสร้างปรองดอง เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” เรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งแก้ไขยากกว่า และต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

สุวัชชัย กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเรื่องของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง มันเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่วิธีการหรือกระบวนการที่จะนำไปสู่จุดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว มีอารมณ์ ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง  จะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ หรือจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องมีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ในทุกเรื่อง ดังนั้น เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าอะไรหนักสุดและเป็นปัญหาเร่งด่วน ซึ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ก็เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขต่างๆ จะสะท้อนว่า มันมีสัญญาณดีขึ้น ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่มันไม่กระจาย อานิสงส์ของการฟื้นตัวมันยังไม่มากพอที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามันดีขึ้น ซึ่งตรงนี้มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นเหมือนกันนะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้ความเชื่อมั่นมันเกิดขึ้นจนถึงจุดที่วงจรเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่มีการมองว่ากระบวนการที่ทำอยู่ เหมือนเป็นการสะกดจิตให้ประชาชนต้องเชื่อ ต้องทำทั้งที่ความจริงแล้ว ต้องมาจากความรู้สึกของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ผมไม่อยากใช้คำว่า “สะกดจิต” มันดูไม่เป็นเหตุเป็นผลและดูเหมือนไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะถ้าจะพูดกันอย่างจริงๆ แล้ว ทุกรัฐบาลต่างก็มีเป้าหมาย และต้องการทำให้ประชาชนเชื่อในเป้าหมายหรือจุดหมายปลายทางที่รัฐบาลวางไว้เหมือนๆ กัน แตกต่างกันที่วิธีการหรือวิธีปฏิบัติ ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้มีกลไกพิเศษ มีอำนาจพิเศษ และมีเครื่องมือพิเศษที่มากกว่ารัฐบาลปกติทั่วๆ ไป แต่อันนั้นเป็นเรื่องวิธีการหรือวิธีปฏิบัติของรัฐ ส่วนประชาชนจะเชื่อหรือไม่ หรือจะเชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐบาลหรือไม่ ผมว่า มันอยู่ที่ว่า ประชาชนแต่ละคนได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเองในช่วง 3-4 ปี หรืออาจจะย้อนไปในช่วงเกือบ 10 ปีอย่างไรบ้าง  ความเชื่อของประชาชนมันอยู่ตรงนั้น ถ้าถูกกระทบทางลบเยอะ ก็ย่อมเชื่อหรือเชื่อมั่นน้อย ถ้าไม่ถูกกระทบ ก็อาจจะเชื่อมากกว่า

 

กะเทาะสัญญาประชาคม "ปรองดอง"ได้กี่เปอร์เซ็นต์ สมหวัง เตชะอินทราวงศ์

สมหวัง  เตชะอินทราวงศ์ กรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือ Swana Hotel  มองว่า  เป็นวิธีที่ไม่อาจจะนำไปสู่เป้าหมายเรื่องความปรองดองได้  เพราะกลุ่มการเมืองหลายๆกลุ่มที่มีอยู่ และรัฐบาลชุดปัจจุบัน  มีมุมมองต่อการมีประชาธิปไตยไม่เหมือนกันเลย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสำเร็จ  อีกทั้งทุกฝ่ายยังคิดว่าวิธีการเรียกร้องประชาธิปไตยในแบบของตน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นการใช้สิทธิอย่างถูกต้องและชอบธรรม โดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะเสียหาย และมีประชาชนมากมายเดือดร้อน  

“ผมไม่คาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำสัญญาประชาคม เพื่อสร้างความปรองดองได้สำเร็จ เนื่องจากปัจจุบัน เรายังเห็นผู้นำระดับสูงหลายๆท่านในรัฐบาล ยังมีท่าทีในการสื่อสารพูดคุยกับสื่อมวลชน , ข้าราชการที่ร่วมงาน , กลุ่มการเมืองต่างๆ หรือบุคคลใดๆ  ที่เห็นต่างในลักษณะที่ไม่มีความเอื้ออาทรกันเท่าที่ควรจะเป็น  ทำให้บรรยากาศที่จะนำไปสู่ความปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย  การรับฟังความคิดเห็นที่เหมือน หรือต่างกัน และนำกลับไปทบทวนพิจารณาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำ”

“อยากฝากถึงรัฐบาลว่า  การที่ท่านเข้ามาเป็นคนกลางในการประสาน , จัดการแก้ไขปัญหา และสร้างความปรองดองในชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก  เราต้องการให้รัฐบาลเป็นคนกลางที่คอยไกล่เกลี่ยลดความขัดแย้ง และจัดการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินคดีกับคนที่กระทำผิด  โดยที่รัฐบาลจะไม่ลงไปเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งนั้นๆด้วย  และอยากให้ทุกฝ่าย กลับมาทบทวนสิ่งที่ทำในอดีต รับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำไม่ถูกต้องในอดีต และช่วยกันแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม กระบวนการในครั้งนี้ผลที่ออกมาคงคล้ายๆกับการตอบคำถาม 5 ข้อของท่านนายกรัฐมนตรี และตราบใดที่ทุกคนยังรู้สึกว่าการกระทำต่างๆมีสองมาตรฐาน  ความเชื่อถือในกระบวนการก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คล้ายๆกับการทำประชาพิจารณ์ในหลายหลายเรื่อง ที่ต้องการเพียงตัวเลขจำนวนมากกว่าคำตอบที่จะนำไปใช้ประโยชน์”

 

กะเทาะสัญญาประชาคม "ปรองดอง"ได้กี่เปอร์เซ็นต์ เบญจมาศ ชาญประดิษฐ์

ด้าน เบญจมาศ ชาญประดิษฐ์  นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ปทุมนนท์ ระบุว่า รัฐบาลคือผู้มีอำนาจในการปกครอง ได้รับอำนาจนั้นมาจากประชาชน เพื่อมาประสานกลุ่มต่างๆที่กำลังแตกแยกกัน ถ้าดูตามหลักการ ก็ตรงกับทฤษฎีสัญญาประชาคม คือการที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมสละสิทธิบางอย่างให้แก่ผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครอง และจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้นมา เพื่อความผาสุกของประชาชน จึงเป็นการดีที่รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มที่ เข้ามาบริหารจัดการให้เกิดความปรองดองในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ที่การใช้การเมืองภาคปกติไม่สามารถทำได้ หรือหาข้อยุติได้

เบญจมาศ  กล่าวว่า  ส่วนตัวคิดว่าการปรองดอง โดยทำสัญญาประชาคมมีเปอร์เซ็นต์ที่จะสำเร็จสูงมาก แต่จะกี่เปอร์เซ็นต์ คงตอบเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะการเมืองไม่ใช่สูตรตายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์โอกาสและสภาพแวดล้อม ส่วนปัจจัยที่จะทำให้สำเร็จ อยู่ที่รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาและความยุติธรรมเป็นจุดหลัก ด้วยการประสานความเข้าใจกับทุกฝ่าย และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ปัญหาที่สั่งสมมาจึงหาข้อยุติได้   ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามสุดความสามารถ และเหตุที่มาของรัฐบาลชุดนี้ ก็มาเพื่อจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว การสร้างควความปรองดองจึงเป็นหัวใจหลักของรัฐบาลนี้  ท้ายนี้อยากฝากกำลังใจไปให้รัฐบาล  ทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วและยั่งยืน เพื่อความผาสุกของคนไทย

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากภาคธุรกิจต้องการส่งเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาลต่อความพยายามสร้างความปรองดองโดยผ่านการจัดทำ “ร่างสัญญาประชาคม”