posttoday

ม.44คุมเข้ม "ร้านเหล้า" 3ปีปิดแล้ว300แห่งป้องกันเยาวชนมั่วสุม

16 กรกฎาคม 2560

การดำเนินกิจการต้องมีขอบเขตพรมแดน และไม่เป็นต้นเหตุมอมเมาเยาวชน ทำลายสังคม ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสังคม

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ปฏิบัติการปะฉะดะจับสถานบริการผิดกฎหมายทั่วประเทศ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ปฏิบัติเอาจริงเอาจังครั้งนี้ทำให้สถานบริการใกล้สถานศึกษาหลายแห่งถูกดำเนินคดี หลังจากสร้างปัญหาทำลายอนาคตของเยาวชนไทยสู่กับดักอบายมุข และหวังว่าการดำเนินการจะไม่ใช่เพียง “ไฟไหม้ฟาง” เท่านั้น

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หนึ่งในหน่วยชุดเฉพาะกิจตรวจจับสถานบริการฉายภาพการปราบปรามสถานบริการ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าก่อนมีคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ พบว่าพื้นที่หลายแห่งมีสถานบริการเปิดทำการอยู่บริเวณรอบสถานศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก จากคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่ออกจับกุมปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสถานบริการใกล้กับสถานศึกษาลดน้อยลง

ภายหลังมีการตรวจตราจับกุมอย่างเข้มงวดตามสถานบริการต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้บรรดาสถานบริการหลายแห่งพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการโดยไม่จำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอง แต่มักอ้างว่าลูกค้าเป็นผู้นำมากิน ทางผู้ประกอบการพยายามหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ถ้าหากทางร้านจำหน่ายหรือขายเกินเวลาจะมีโทษความผิด ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลี่ยงจุดนี้แล้วใช้วิธีบอกว่า “ลูกค้านำเครื่องดื่มมาเอง”

“ในความเป็นจริงจากข้อมูลที่ทราบมาคือผู้ประกอบการสถานบริการใช้วิธีร่วมมือกับร้านค้าจำหน่ายสุราที่อยู่ในระยะใกล้เคียงกับสถานบริการ เพียงแต่ไม่ได้เปิดในสถานบริการเท่านั้น แต่ตรงนี้เราสามารถเอาผิดได้อยู่ดีในฐานะผู้สนับสนุน เพราะทราบว่าส่วนใหญ่แล้วร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณด้านนอกส่วนใหญ่มีเจ้าของคนเดียวกัน เพราะการทำให้มีการดื่มสุราในพื้นที่รอบสถานศึกษา ยังไงก็ถือว่าไม่พ้นผิด ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามหลีกเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ สารพัดต่อรองอ้างว่าส่งผลกระทบต่อกิจการของตัวเอง” สหการณ์ กล่าวย้ำรูปแบบสถานบริการ

สหการณ์ ระบุว่า การเข้าไปจับกุมจะลงพื้นที่กดดันตรวจสอบ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบเข้าใจ หากยังพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ จะลงพื้นที่จับกุมทันที ซึ่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจของกรมพินิจฯ กรมสรรพสามิต พม. กรมการปกครอง และ กทม. ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสถานบริการ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิด

ส่วนสถานบริการที่ถูกสั่งปิดแล้วกลับมาเปิดใหม่นั้น ถือว่ามีน้อยมาก เพราะหากเจ้าหน้าที่พบเมื่อไรโทษจะหนักขึ้น การลงโทษครั้งนี้หนักกว่าเก่าที่เน้นเพียงปรับอย่างเดียว ทำให้ผู้ประกอบการที่ถูกคำสั่งปิดบริการไม่กล้ากลับมาทำผิดซ้ำอีก และถ้ามียาเสพติด การพนัน ทุกอย่างจะถูกปิดหมด ในอนาคตสถานบริการต้องไปเปิดในบริเวณจุดโซนนิ่งเท่านั้นและพื้นที่รอบสถานศึกษาต้องปลอดแอลกอฮอล์ หรือร้านที่เอื้อให้เยาวชนเข้าไปใช้บริการ

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสถานบริการสถานประกอบการและจำหน่ายสุรา โดยจังหวัดมีคำสั่งปิด 5 ปี สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการไปแล้วจำนวน 288 แห่ง โดยแยกออกเป็น สถานบริการ 21 แห่ง และสถานประกอบการ 267 แห่ง

ในปี 2558 จำนวน 101 แห่ง เป็นสถานบริการ 5 แห่ง และสถานประกอบการ 96 แห่ง ถัดมาปี 2559 จำนวน 144 แห่ง เป็นสถานบริการ 13 แห่ง และสถานประกอบการ 131 แห่ง และปี 2560 จำนวน 43 แห่ง เป็นสถานบริการ 3 แห่ง และสถานประกอบการ 40 แห่ง และในเขตกรุงเทพฯ มีคำสั่งปิด 5 ปี สถานบริการ และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการไปแล้ว จำนวน 23 แห่ง

รองอธิบดีกรมพินิจฯ ยังเปิดเผยข้อมูลสถิติตัวเลขการออกใบอนุญาตขายสุราทั่วประเทศ โดยเป็นข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 พ.ค. 2560 โดยพบว่า ในปี 2556 จำนวนใบอนุญาตขายสุรา 596,772 ฉบับ ถัดมา ปี 2557 จำนวนใบอนุญาตขายสุรา 597,463 ฉบับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% ต่อมา ปี 2558 จำนวนใบอนุญาตขายสุรา 630,139 ฉบับ เพิ่มขึ้น 5.6%

ถัดมาในปี 2559 จำนวนใบอนุญาตขายสุรา 606,562 ฉบับ ลดลง 3.9% และในปี 2560 จำนวนใบอนุญาตขายสุรา 563,441 ฉบับ ลดลง 7.2%  ตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 มีผลบังคับใช้ พบว่า ใบอนุญาตขายสุราในภาพรวมลดลงทุกปี โดยในปี 2560 ใบอนุญาตขายสุราลดลงจาก ปี 2559 กว่า 43,121 ฉบับ คิดเป็น 7.2%

รองอธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการปราบปรามสถานบริการว่า เนื่องจากสถานบริการหลายแห่งคือจุดมั่วสุมของเยาวชนในสังคม อาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการศึกษา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียกับเยาวชนและสังคมอย่างหนัก เชื่อว่าการดำเนินการเหล่านี้จะเป็นการคุ้มครองสังคมเพื่อช่วยปกป้องไม่ให้สังคมและเยาวชนเกิดปัญหาในอนาคต

“ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงมากำชับให้ปราบปรามจับกุมสถานบริการโดยใช้กฎหมายบังคับเด็ดขาดเอาจริงเอาจัง ทำให้การทำงานหลายอย่างเกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว และยืนยันจะดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมพินิจฯ ฝากถึงผู้ประกอบการทุกรายว่า เข้าใจว่าทุกคนต้องมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว แต่การดำเนินกิจการก็ต้องมีขอบเขตพรมแดน และไม่เป็นต้นเหตุมอมเมาเยาวชน ทำลายสังคม ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสังคม ดูแลเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันปัญหาเยาวชนที่มีความซับซ้อนขึ้นมา