posttoday

"ลดเสี่ยงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ" ด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์มือถือต้นทุนหลักร้อย

10 กรกฎาคม 2560

เปิดใจทีมผู้ผลิตนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ "ดริ๊งเซฟ" เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากม.ธรรมศาสตร์ พร้อมประเมินทางออกการขับขี่อย่างปลอดภัย

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

ความสูญเสียจากเมาแล้วขับ เป็นสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุ เพราะนักดื่มส่วนใหญ่มักประมาทคิดว่าตนเองมีสติที่จะขับขี่ยานพาหนะไปต่อได้ ทั้งที่ร่างกายไม่ไหว บางครั้งอาจไม่ถึงขั้นสูญเสียชีวิตและร่างกาย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน เนื่องจากต้องถูกดำเนินคดีจากการตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดในร่างกาย  (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนติดหูว่า “เมาไม่ขับ” แต่จนแล้วจนรอด เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่

ปัญหาเมาแล้วขับกลายเป็นแรงผลักดันให้ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นประดิษฐ์เจ้าอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด พร้อมประเมินสมรรถนะและเสนอทางออกในการขับขี่ที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือชื่อ “ดริ๊งเซฟ”

โพสต์ทูเดย์จึงได้ไปพูดคุยกับ 2 อดีตนักศึกษาและว่าที่บัณฑิตใหม่ ผู้คิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้

ธรณัส กฤตยานวัช และสิรวุฒิ วิรัตนพรกุล พร้อมกับ ผศ.ทรงศักดิ์ รองวิริยะพานิช อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน จะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นและการต่อยอดนวัตกรรมที่น่าสนใจชิ้นนี้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงประชาชนจากการอุบัติเหตุอย่างไร

ลดอุบัติเหตุจุดกำเนิด “แอพดริ๊งเซฟ”

สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2551-2560) พบว่า ปี 51 เกิดอุบัติเหตุจำนวนทั้งสิ้น 4,243 ครั้ง , ปี 52 / 3,977ครั้ง , ปี 53 / 3,516 ครั้ง , ปี 54 / 3,212 ครั้ง , ปี 55 / 3,129 ครั้ง , ปี 56 / 2,828 ครั้ง , ปี 57 / 2,992 ครั้ง , ปี 58 / 3,373 , ปี 59 / 3,690 ครั้ง และปี 60 / 3,690 ครั้ง

ธรณัส กฤตยานวัช เล่าว่า จุดเริ่มต้นการคิดประดิษฐ์เจ้าเครื่องนี้ เพราะเห็นว่าเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มาจากพฤติกรรมนักดื่มหลายคนเมื่อเที่ยวเสร็จมักพยายามขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง แม้ร่างกายจะไม่ไหว ด้วยเหตุผลนี้จึงอยากทำอะไรเพื่อช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเริ่มพูดคุยกับเพื่อน ก่อนนำโครงการไปปรึกษาต่ออาจารย์ และเสนอเป็นผลงาน วิทยานิพนธ์ (THESIS) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี

ธรณัส บอกว่า ขั้นตอนการศึกษาและประดิษฐ์แอพดังกล่าวเริ่มจากหาข้อมูล พร้อมกับศึกษาวิจัยรูปแบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นใกล้เคียง ก่อนค้นหาว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างเพื่อนำมาเป็นตัวตรวจวัด จากนั้นใช้ความสามารถการเขียนโปรแกรมจากที่เคยศึกษามา เพื่อใช้วางระบบขั้นตอนการทำงานของเครื่องให้มีมาตราฐานใกล้เคียงกับของตำรวจ โดยมีการนำไปทดลองจริงร่วมกับเครื่องของเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง

แอพพลิเคชั่นตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บนโทรศัพท์มือถือนี้ ไม่สามารถแสดงผลได้ทันทีที่ตัวเครื่องเหมือนของตำรวจ แต่จะแสดงผลผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และมีลูกเล่นที่มากกว่าเครื่องปกติ โดยมีระบบแนะนำช่วยเหลือหากพบว่าค่าปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ผศ.ทรงศักดิ์ ระบุว่าเป้าหมายการประดิษฐ์เครื่องดังกล่าวต้องการให้เป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนสามารถพกพาไปได้สะดวก โดยใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือและมีมาตรฐานใกล้เคียงอุปกรณ์ของตำรวจ

"ลดเสี่ยงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ" ด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์มือถือต้นทุนหลักร้อย สิรวุฒิ วิรัตนพรกุล / ผศ.ทรงศักดิ์ รองวิริยะพานิช / ธรณัส กฤตยานวัช

จุดเหนือเครื่องวัดแอลกอฮอล์ คือมีระบบช่วยเหลือ

ธรณัส แนะนำว่าแอพดังกล่าวมีปุ่มเชื่อมต่อสำหรับเรียกรถรับจ้างสาธารณะ (แกร็บแท็กซี่-อูเบอร์แท็กซี่) ให้มารับโดยรูปแบบจะใช้งานเหมือนปกติ นอกจากนี้มีช่องทางติดต่อเพื่อนผ่านทางข้อความเฟซบุ๊กให้มาช่วยเหลือ รวมถึงมีโหมดคำนวนระยะเวลาการลดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นรายชั่วโมง จนกว่าระดับค่าจะเป็นศูนย์ เพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะขับรถต่อหรือควรเลือกใช้บริการช่วยเหลือ แต่อนาคตคิดว่าจะเชื่อมต่อกับระบบบริการเรียกพนักงานขับรถอีกด้วย

ขณะที่ขั้นตอนการทำงานเมื่อเป่าลมหายใจเข้าไปที่กล่องเซนเซอร์ ข้อมูลจะถูกส่งผ่านสายไปที่แผงชิปประมวลผล จากนั้นข้อมูลจะแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับมีข้อแนะนำตัวช่วยอื่นต่อไป หากพบว่าร่างกายปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูง

ธรณัส กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ดริ๊งเซฟ เป็นระบบแรกในประเทศไทยที่คิดค้นและพัฒนาระบบเทคโนโลยีขึ้นได้ เพราะระบบเครื่องที่ทางสถาบันการศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเพียงเครื่องใช้เฉพาะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์เท่านั้น มีรูปแบบคล้ายเครื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีราคาประมาณ 3 หมื่นบาท แต่นวัตกรรมดริ๊งเซฟ เป็นการทำงานเชื่อมต่อเทคโนโลยีแอพพิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ มีลูกเล่นมากกว่า แต่ราคาต้นทุนการผลิตเพียง 500-600 บาท

ผศ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เครื่องดังกล่าวอาจมีประสิทธิภาพและความแม่นยำน้อยกว่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 10% แต่ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงที่สามารถเชื่อถือได้ โดยอนาคตจะพัฒนาให้สมบูรณ์เต็มที่และใช้งานได้สะดวกว่าปัจจุบัน

“เครื่องของเจ้าหน้าที่ความแม่นยำ 100 % เครื่องนี้ทำได้ 90% ใกล้เคียงกันและสามารถเชื่อถือได้”

"ลดเสี่ยงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ" ด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์มือถือต้นทุนหลักร้อย หน้าจอแสดงผลการใช้งานรูปแบบต่างๆ

มหา’ลัย มีผลงานดี แต่ขาดการเชื่อมต่อรัฐ-เอกชน

ผศ.ทรงศักดิ์ มองว่าการพัฒนาอนาคตต้องทำให้รองรับโทรศัพท์มือถือระบบ iOS ของไอโฟน รวมถึงพัฒนาให้สะดวกในการพกพา และรองรับความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกับความชื้นหลากหลายสถานที่ ปัจจุบันความแม่นยำเครื่องนี้ทำงานได้เฉพาะบริเวณอุณหภูมิคงที่เท่านั้น การใช้งานจริงจำเป็นต้องใช้ได้ทุกสถานการณ์ เช่น ภายในร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ นอกจากนี้จะพัฒนาทำให้สามารถคำนวณอัตราการเผาผลาญของร่างกายแต่ละคนให้ได้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป 

ขณะที่การจัดจำหน่ายหรือเผยแพร่ยอมรับว่าขณะนี้สถาบันยังไม่ได้มองเรื่องนี้ แต่ยินดีหากหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชน มาขอศึกษาหรือนำไปพัฒนาต่อยอดใช้ในองค์กร ซึ่งสามารถประสานติดต่อเข้ามาทางสำนักงานวิทยาลัยนวัตกรรมของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ดูเรื่องลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยต่างๆ

ผศ.ทรงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า ผลงานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัยของสถาบันมหาวิทยาลัยต่างๆ ยอมรับว่ามีมาก แต่เหตุผลที่ทำให้ผลงานดีๆ มักไม่ถูกนำเสนอสู่สังคมเป็นเพราะปัญหาเรื่องการสื่อสาร ขาดการมองเห็นแบบสองด้านเหมือนสื่อมวลชน ทำให้ผลงานวิจัยที่ดีไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ-เอกชน หรือเผยแพร่สู่สังคม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมสร้างการรับรู้เรื่องเหล่านี้เพื่อทำให้ผลงานนวัตกรรมวิจัยออกสู่สังคม ทั้งยังเป็นโอกาสทำให้นักศึกษาเจ้าของผลงานมีความก้าวหน้าในการทํางานอีกด้วย

"ลดเสี่ยงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ" ด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์มือถือต้นทุนหลักร้อย อุปกรณ์ครบชุด

"ลดเสี่ยงอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ" ด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์มือถือต้นทุนหลักร้อย