posttoday

หอชมเมืองแพ็กเกจเอื้อเอกชน ค่าเช่าที่รัฐถูก 100 เท่า

08 กรกฎาคม 2560

“นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถามว่าการให้เอกชนสร้างหอชมเมืองมีธรรมาภิบาลมากแค่ไหน "

“นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถามว่าการให้เอกชนสร้างหอชมเมืองมีธรรมาภิบาลมากแค่ไหน " 

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัดเสวนาเรื่องการทุจริตเชิงนโยบายและการประพฤติมิชอบของคนในรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกรุงเทพมหานคร กรณีโครงการเอื้อประโยชน์เอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง หอชมเมือง ฯลฯ เพื่อตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า มีหลายโครงการที่มีการรวบรัดลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน โดยโครงการหอชมเมืองกลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เงินของรัฐก็ตาม แต่การให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเห็นชอบให้บริษัทเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเช่าพื้นที่บริหารจัดการ ซึ่งบังเอิญว่าพื้นที่หอชมเมืองตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ห้าง “ไอคอนสยาม” ทำให้สงสัยว่าโครงการประชารัฐเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ หากจับตาจะเห็นว่ากรมธนารักษ์ บอกว่าเป็นพื้นที่ตาบอดไม่มีใครสนใจ แต่อนุญาตให้เช่า 30 ปี ราคา 70 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 แสนบาท ถือว่าราคาค่าเช่าที่ดินต่ำมาก

ทั้งนี้ สถานที่ตั้งของไอคอนสยาม ถูกอ้างว่าจะมีสิ่งมหัศจรรย์ 7 อย่าง สอดคล้องกับหอชมเมืองที่มีความสูงมาก มีพื้นที่มาก และใช้พื้นที่บางส่วนจัดแสดงงาน “ศาสตร์พระราชา” เป็นการแอบอ้างถึงพระราชา เพื่อทำให้ที่ดินแปลงนี้มีราคาถูกใช่หรือไม่

“นายกรัฐมนตรีจะต้องตอบคำถามว่าการให้เอกชนสร้างหอชมเมืองมีธรรมาภิบาลมากแค่ไหน รวมถึงโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง เอื้อต่อไอคอนสยามใช่หรือไม่ แสดงว่าโครงการนี้กำลังเป็นแพ็กเกจใหญ่ที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนอย่างเต็มที่” รสนา กล่าว

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า การดำเนินการของ ครม.ได้กระทำผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะตามหลักที่ถูกต้องเมื่อ ครม.อนุมัติให้เอกชนเข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ของรัฐแล้ว ทางมูลนิธิหอชมเมือง ซึ่งเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ต้องเข้าไปเซ็นสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ แต่ปรากฏว่ามูลนิธิได้เซ็นสัญญาดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จหมดแล้ว ดังนั้นแสดงว่ามีการทำสัญญาก่อนที่ ครม.จะอนุมัติได้อย่างไร เรื่องนี้จึงผิดชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการหอชมเมืองมีการแถลงข่าวจากโฆษกรัฐบาล ระบุในช่วงแรกว่าโครงการมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุการณ์พูดราคาผิด แต่เป็นเรื่องจริงที่ถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อสังคมตกใจว่าทำไมราคาแพง จึงถูกเปลี่ยนราคาใหม่ลงมาให้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการขนาดกลาง ครม.สามารถอนุมัติได้ทันที แต่ถ้ามูลค่าเกินกว่า 5,000 ล้านบาท ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนให้เอกชนเข้ามาดำเนินการร่วมกับรัฐ ซึ่ง ครม.อนุมัติเองไม่ได้

ศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า คำแถลงในช่วงแรกยังไม่มีการพูดถึงศาสตร์พระราชา หรือประชารัฐ ดังนั้น ครม.ไม่มีสิทธิที่จะยกเว้นให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แสดงให้เห็นว่าเป็นอุบายที่ตั้งขึ้นมาทั้งนั้น เรื่องนี้ทำให้ต้องยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ตรวจสอบ ครม.ทั้งชุดถึงความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นต่อไป

“ผมไม่ได้เกลียดหอชมเมือง แต่ไม่ชอบการอนุมัติที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย เพราะรัฐบาลไม่เคารพกฎหมายเสียเอง ทำให้โครงการหอชมเมือง ต่อจากนี้จะมีการฟ้องร้องคดีตามมาอีกมาก” ศรีสุวรรณ กล่าว

วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านการสร้างหอชมเมือง เพราะหลายประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ เป็นเรื่องดีที่สามารถต่อยอดเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ไม่ชอบความไม่โปร่งใส เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง และหอชมเมืองมองอย่างไรก็เอื้อประโยชน์ให้ไอคอนสยาม

“พื้นที่ก่อสร้างติดปัญหาน้ำท่วมถึงจึงไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดก่อสร้างอาคารใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ ทั้งยังมีทางเข้า-ออกถนนคับแคบ สุดท้ายอาจต้องอาศัยทางออกที่ห้างไอคอนสยาม และถ้าวันหนึ่งไอคอนสยามไม่ยอมให้ใช้เส้นทางร่วมกัน นักท่องเที่ยวจะทำอย่างไร เพราะเหลือแต่ทางเข้า-ออกด้วยเรือเท่านั้น จึงเป็นคำถามคาใจที่รัฐบาลต้องชี้แจง” วิลาส กล่าว

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจในเรื่องหอชมเมืองที่มีการอ้างเรื่องศาสตร์พระราชา และอยากรู้ว่ามีตรงไหนบ้างที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ความเป็นไทย น่าสังเกตว่าหอนี้มีความคล้ายกับหอโดฮา ประเทศกาตาร์ จึงแปลกใจที่มีการอ้างแบบนี้ การเช่าพื้นที่สร้างหอชมเมืองที่เฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่เดือนละประมาณ 1.9 แสนบาท ซึ่งประเมินแล้วว่าผิดจากความจริงถึง 100 เท่า

ทั้งนี้ ขอกล่าวหาว่าผู้มีอำนาจ คสช.มีพฤติการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน