posttoday

พลิกแฟ้มประวัติดรีมทีมปฏิรูปตำรวจ

08 กรกฎาคม 2560

เวลานี้ทุกสายตากำลังจับตามองการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลานี้ทุกสายตากำลังจับตามองการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี "พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน เพราะเป็นคณะกรรมการที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 258 ง. (4)

"ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรม ในการแต่งตั้งและโยกย้าย และ การพิจารณาบำเหน็จความชอบ ตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน..." สาระสำคัญของมาตรา 258 ง. (4)

คณะกรรมการชุดนี้แบ่งเป็น 3 โครงสร้างสำคัญ ได้แก่ 1.ประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่ง รวม 6 คน 2.คณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล 15 คน และ 3.คณะกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน ซึ่งบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวล้วนมีประวัติโชกโชนแทบทั้งสิ้น

เริ่มที่ "พล.อ.บุญสร้าง" ประธานกรรมการ เป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 6 ร่วมรุ่นกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นอกจากนี้ ยังเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมทหารในช่วงปี 2514-2519 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเป็นนักเรียนอยู่ด้วย

ด้านคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลต้องพุ่งเป้าไปที่ "บิ๊กจุก" พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 34 ปัจจุบันเป็นรอง ผบ.ตร.ที่ดูแลด้านการบริหารและกำกับฝ่ายกฎหมาย ก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานการปฏิรูปตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน ต้องคอยจับตาดูนายตำรวจรายนี้ให้ดี เพราะเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ต่อจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์

พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นคนที่มีบทบาทในการทำร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับรัฐบาล อันเป็นร่างกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งให้ความเห็นชอบไปเมื่อไม่นานมานี้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีงานใหญ่ล้นมือในฐานะ ผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้กลับมาทำงานในเส้นทางสีกากีอีกครั้ง โดยเป็น นรต.รุ่น 30 เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเคยเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่ติดตรงที่ไม่ได้เป็น นรต. ทำให้ไปถึงตำแหน่งสูงสุดในยุทธจักรสีกากี ทำให้รัฐบาลจึงโยกมาดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ แทน
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปัจจุบันเป็นสมาชิก สนช. ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในสภาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่ดูแลการ แก้ไขกฎหมายสำคัญมากมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ในส่วนกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒินั้น ปรากฏว่าได้มีการดึงมือเขียนรัฐธรรมนูญเข้ามาร่วมงานถึง 4 คน ได้แก่ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิก สนช. อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 "มานิจ สุขสมจิตร" อดีต กมธ.ยกร่างฯ ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอาวุโส "ศุภชัย ยาวะประภาษ" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และ "อมร วาณิชวิวัฒน์" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

นอกเหนือไปจากนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีนักกฎหมายมืออาชีพเข้ามาร่วมด้วยอย่าง "เข็มชัย ชุติวงศ์" รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นว่าที่อัยการสูงสุดคนต่อไป "วรรณชัย บุญบำรุง" รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

อย่างไรก็ตาม แม้ถึงจะเป็นกรรมการในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ แต่จะพบว่ายังมีบุคคลในแวดวงทหารและความมั่นคงเข้ามาร่วมด้วย คือ "บิ๊กเฟื่อง" พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์อดีต ผบ.ทอ. ตท.รุ่นที่ 11 ที่ปรึกษา คสช. และ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)