posttoday

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม

03 กรกฎาคม 2560

ระบบถนนต้นแบบ “อารยสถาปัตย์ : เพื่อคนทั้งมวล” แห่งแรกของประเทศ ตอบโจทย์คนพิการหรือไม่

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

“การเดินทาง” สำหรับคนปกติอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้ใช้วีลแชร์ ถือเป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ของชีวิต ที่ต้องเจอกับพื้นผิวทางต่างระดับ จุดที่มีการก่อสร้างหรือการสัญจรของรถ เสมือนโจทย์ยากง่ายแตกต่างกันไปของผู้พิการที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่ผ่านมาทางสำหรับคนพิการเป็นสิ่งที่รัฐพยายามหยิบยื่นให้เพื่ออำนวยความสะดวกกับคนกลุ่มนี้ แต่ทางปฏิบัติจริงหลายเส้นทางตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน จึงมักถูกเบียดเบียนโดยร้านค้าและรถยนต์ที่กีดขวางอยู่เสมอ

การแก้ปัญหาดังกล่าวขณะนี้ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีการคิดค้นและสร้างถนนเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะโดยหวังให้เป็นโมเดลภายใต้ชื่อถนนต้นแบบ “อารยสถาปัตย์ : เพื่อคนทั้งมวล” บริเวณซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 1 หรือซอยประชาบดี

โพสต์ทูเดย์ได้เดินทางลงพื้นที่ไปสัมผัสและพูดคุยกับผู้จุดประกายโปรเจคนี้ รวมถึงสอบถามผู้ใช้จริงว่าผลลัพธ์ที่ออกมาตอบโจทย์คนพิการหรือไม่

จุดเริ่มถนนต้นแบบสำหรับผู้พิการครบวงจร

วิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด เล่าจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนให้ฟังว่า เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี มีผู้พิการอยู่มากกว่า 1 หมื่นคน และบริเวณที่ดำเนินโครงการเป็นที่ตั้งของศูนย์สถานสงเคราะห์ผู้พิการมากกว่า 10 แห่ง แต่เดิมซอยประชาบดีมีถนนแคบ รวมถึงข้างทางมีร้านค้าจำนวนมาก ไม่มีระบบระบายน้ำที่สมบูรณ์ ทุกครั้งเมื่อฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมขัง จนสร้างผลกระทบต่อสถานสงเคราะห์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเป็นอย่างมาก

เทศบาลนครปากเกร็ด จึงร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) ประชาชนในพื้นที่คิดปรับปรุงระบบการจราจร ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้พิการทุกประเภท และผู้สูงอายุซึ่งในอนาคต จึงเลือกถนนแห่งนี้เป็นต้นแบบ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบโครงการเพื่อให้พิการ-ผู้สูงอายุใช้ได้สะดวกและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับรายละเอียดโครงการ มีการปรับขยายพื้นผิวถนนโดยลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตทั้งหมด มีการแบ่งช่องจราจรให้กับผู้ใช้ทุกประเภทอย่างชัดเจน อาทิ ช่องจราจรสำหรับรถปกติ เลนจักรยาน เลนสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และเลนสำหรับผู้พิการทางสายตาที่มีอักษรเบรลล์บนพื้น โดยจะมีการเทขอบปูนแบ่งช่องสัญจรอย่างชัดเจน และมีความกว้างตั้งแต่ 6-12 เมตร (แล้วแต่ช่วงถนน) ตลอดความยาวประมาณ 1, 300 เมตร

นอกจากนี้มีการวางระบบท่อระบายน้ำพร้อมบ่อพักสองฝั่ง บ่อสูบน้ำ และมีการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างแบบประหยัดพลังงานความสูง 9 เมตร จำนวน 89 ชุด รวมถึงมีการติดตั้งเสาไฟสัญญาณจราจรสำหรับคนข้ามแบบอัจฉริยะ โดยใช้งบประมาณดำเนินโครงการเกือบ 70 ล้านบาท

นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ถนนเส้นนี้อาจเป็นถนนต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีระบบเอื้อต่อคนพิการและคนปกติทุกรูปแบบในถนนเส้นเดียวซึ่งมีความปลอดภัยสูง ส่วนการดูแลบำรุงรักษาไม่ให้ร้านค้าและรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดกีดขวางทับเส้นทางคนพิการ โดยมีการทำความตกลงร่วมกันกับสถานสงเคราะห์ในพื้นที่และทุกหน่วยงานว่าจะช่วยกันดูแลรักษา ไม่ให้มีการนำสินค้าไปวางจำหน่ายและจอดรถกีดขวาง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จะกวดขันดูแลเพื่อให้เป็นถนนแห่งนี้ต้นแบบที่ยอดเยี่ยม 

“เราจะไม่ให้ผู้ประกอบการร้านค้า รถจักรยานยนต์จอดขวางเส้นทางผู้พิการ จะมีมาตรการพิเศษบังคับ อาทิ นำต้นไม้ไปปลูกเพื่อให้ถนนดูร่มรื่น มีการคุมเข้มดูแลจากเจ้าหน้าที่และศูนย์ต่างๆ รวมถึงจะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันดูแลรักษา อนาคตกำลังเตรียมสร้างอุปกรณ์ชะลอความเร็วเพื่อไม่ให้เยาวชนนำรถเข้ามาแข่ง”

วิชัย ทิ้งท้ายว่า หากสร้างพื้นที่ให้คนพิการ ผู้สูงอายุได้มีความปลอดภัย จะเป็นแนวทางทำให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีมากขึ้น

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม วิชัย บรรดาศักดิ์

อุปสรรคคนพิการคือการเดินทาง วอนรัฐใส่ใจจริงจัง

ไมตรี คงเรือง ผู้พิการใช้วีลแชร์ เปิดใจว่า อุปสรรคหลักการดำรงชีวิตของผู้พิการขาคือ เรื่องการเดินเพราะปัญหาเหล่านี้จะพบเจอตั้งแต่ออกจากบ้าน ทางเท้าหลายพื้นที่ที่ทำเพื่อคนพิการมีรถเข็น ร้านค้า รถจักรยานยนต์จอดขวางเส้นทางอยู่ ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ได้ จนต้องลงไปเข็นรถวีลแชร์บนผิวจราจรซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก ขณะที่การนั่งรถเมล์ก็ทำไม่ได้ เพราะโครงการรถเมล์สำหรับผู้พิการปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุบังคับให้การเดินทางหลักของผู้พิการต้องใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย บางครั้งทำงานมาไม่คุ้มกับค่าเดินทาง

ไมตรี สะท้อนว่าถ้าหากรัฐบาลทำให้ผู้พิการมีระบบการเดินทางดี จะเป็นส่วนช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการดีขึ้น เพราะเมื่อมีการเดินทางที่เหมาะสม ก็จะทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนได้มากขึ้น เช่น มีฟุตบาทดี ระบบขนส่งมวลชนตอบโจทย์ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ผู้พิการมีศักยภาพไม่ถูกมองว่าเป็นภาระสังคม ทั้งยังช่วยเหลือสังคมได้อีกด้วย

“รัฐต้องใส่ใจ หากทำได้จะทำให้การทุ่มงบประมาณมาดูแลคนพิการลดน้อยลง แต่ความเป็นจริงตอนนี้สิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการยังมีไม่เพียพอและไม่พร้อม แม้มีแนวโน้มทิศทางดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ยังขาดอยู่อีกมาก จะให้ผู้พิการนั่งรถแท็กซี่ทุกวันคงไม่ไหว” 

ไมตรียังเรียกร้องว่าขอสังคมให้โอกาส เพราะคนพิการนั้นมีศักยภาพมากเพียงแต่ควรได้รับโอกาสเหมาะสม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยให้ง่ายต่อการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นอย่างปกติ

“การแก้ปัญหาเรื่องนี้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. อบต. เทศบาล เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีกำลังคน มีงบประมาณทำได้ ควรให้ความสนใจ อย่าคิดว่าทำอะไรแล้วไม่มีคนใช้เพราะซักวันสิ่งเหล่านี้จะได้ใช้ อนาคตประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ วันนั้นสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องจำเป็น”

ราตรี ทะวงษา หรือ น้องเก๋ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนประชาบดี ผู้พิการตั้งแต่กำเนิดและต้องใช้วีลแชร์ บรรยายความรู้สึกสอดคล้องกับผู้พิการรายอื่นว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคของผู้พิการขาคือการเดินทาง เพราะถนนใหญ่ในเมืองไทยไม่รองรับวีลแชร์ เนื่องจากมีสภาพขรุขระ ทางแคบ ไม่เอื้อต่อการเดินทางของวีลแชร์มากเท่าที่ควร มีบางพื้นที่เท่านั้นที่รองรับ

“พอเจอถนนต่างระดับ ต้องยกรถขึ้นไปให้ได้ วิธีการคือ เอารถวีลแชร์จอดไว้ใกล้ๆ ฟุตบาท แล้วกระดกล้อรถขึ้นก่อน และใช้แรงจากข้อมือหมุนล้อเพื่อปีนขึ้นไป ซึ่งต้องใช้กำลังมาก ทำให้บางครั้งปวดข้อมือ แต่เมื่อบางพื้นที่มีทางสำหรับผู้พิการ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น อยากให้ผู้ใหญ่ใจดีปรับปรุงถนนทุกพื้นที่ให้เหมาะกับคนพิการมากกว่านี้”

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม ถนนต้นแบบ อารยสถาปัตย์

ระบบช่วยเหลือรัฐ ยังไม่ตอบโจทย์คนพิการสายตา

สวียน (ขอสงวน นามสกุล) ผู้พิการสายตาตั้งแต่กำเนิด ยอมรับว่าการเดินทางถือเป็นเรื่องลำบากหนึ่งในชีวิตของผู้พิการ แต่คิดว่าสิ่งที่ภาครัฐพยายามทำให้ผู้พิการทางสายตานั้น เป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น โดยไม่ได้มองการไกลเพราะภาพรวมสิ่งที่รัฐทำให้คนพิการ หากมองมุมคนตาดีอาจดูว่าดี แต่สำหรับผู้พิการนั้นถือว่าไม่ดีเลย

เนื่องจากสิ่งที่รัฐพยายามจัดไว้อำนวยความสะดวกให้คนพิการ ตามหลักความเป็นจริงผู้พิการสายตาไม่ได้ต้องการมากเหมือนกับสิ่งที่คนปกติคิด แม้แต่อักษรเบรลล์บนพื้นสำหรับผู้พิการ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมากในชีวิตประจำวัน เพราะไม่มีทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่คนพิการสายตาต้องการเพียงแค่ขอบ สัน หรือแนวกันชนไว้ป้องกันการกระแทกตามเสา กำแพงเท่านั้นก็เพียงพอ เพราะการเดินทางของผู้พิการทางสายตา จะมีการระวังตัวเองอยู่แล้ว และยังมีคนในสังคมคอยช่วยเหลือ

"จริงๆ แล้ว สิ่งที่รัฐจัดไว้ให้ คือ การศึกษา เมื่อคุณโตมา อยากร้องเพลงก็ให้ไปอบรมเอาใบประกาศร้องเพลง อยากทำงานต้องไปเข้าระบบ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการส่งเสริมเรื่องการศึกษาให้คนตาบอดได้มีความรู้พื้นฐาน เพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และผู้พิการโตมามีครอบครัว พ่อ-แม่ร้องเพลงตลอดชีวิต จะเอาความรู้อะไรไปอบรมสั่งสอนลูก เมื่อพ่อแม่ไม่มีคุณภาพ ลูกจะมีคุณภาพอย่างไร

เรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่ปัญหาของคนตาเพียงบอดไม่กี่คู่ แต่เป็นเรื่องของคนตาบอดเกือบทั้งประเทศ ที่ตกอยู่สภาพนี้ คือ ไม่มีความรู้อย่างเหมาะสม เมื่อมาตรฐานต่ำ การเข้าทำงานตามบริษัท ก็ทำจริงไม่ได้ บริษัทส่วนใหญ่จึงเลือกหาทางออกด้วยการไม่รับคนกลุ่มนี้เข้าทำงาน แต่ยอมจ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้พิการ และเอาหลักฐานไปดำเนินการทางกฎหมายว่า มีการจ้างคนพิการจริง ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐละเลย"

เสวียน ฝากทิ้งท้ายว่าอุปสรรคของคนพิการทางสายตา นอกจากเรื่องการเดินทางยังมีหลายเรื่องที่สำคัญ อาทิ  การประกอบอาชีพ การศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ดังนั้นอยากให้ช่วยทำให้คนพิการใช้ชีวิตเป็นปกติที่สุด ไม่ต้องทำให้ยิ่งใหญ่  เพราะยังไงระบบแบบนี้ ไม่มีทั่วประเทศ สิ่งที่สำคัญควรทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติใกล้เคียงกับคนในสังคม เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม ราตรี ทะวงษา หรือ น้องเก๋

 

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม

"ซอยประชาบดี ถนนต้นแบบเพื่อผู้พิการ" จุดเริ่มต้นเพื่อความเท่าเทียม