posttoday

ชำแหละมายาคติวงการศึกษา ติดหล่มไม่พัฒนารอบ 100 ปี

28 มิถุนายน 2560

ระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษา ของประเทศไทย เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางความเชื่อที่ผิดพลาด มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับธรรมชาติของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2559 แสดงปาฐกถา หัวข้อ "มายาคติในอุดมศึกษาไทย" ในโอกาสที่ มธ. จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 83 ปี

"ระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษา ของประเทศไทย เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางความเชื่อที่ผิดพลาด มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับธรรมชาติของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ขัดแย้งกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัย และ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย จัดตั้งมหาวิทยาลัย กับทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการศึกษาของประเทศที่มุ่งจะรับรองความเป็นอิสระของสถาบันอุดมศึกษาด้วย

มายาคติ หรือความเข้าใจของมหาวิทยาลัยที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของอุดมศึกษาของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้บริหารประเทศ กลุ่มที่ 2 ความเชื่อกลุ่มผู้บริหารการศึกษา โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มที่ 3 ความเชื่อผิดๆ ของสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกลุ่มที่ 4 ความเชื่อผิดๆ ในกลุ่ม ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาการบริหารนโยบายของอุดมศึกษา ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

สิ่งที่ผู้คนในแวดวงอุดมศึกษาและคนทั่วไปไม่ตระหนัก คือ การที่มหาวิทยาลัยไทยมีลักษณะพิเศษ ที่ไม่เหมือนหน่วยงานภาครัฐ ไม่เหมือนกรม กระทรวง ไม่เหมือนหน่วยราชการ ไม่เหมือนราชการ อื่นๆ ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้ง และกำหนดวิธีการบริหารงานมหาวิทยาลัยไว้เป็นเอกเทศของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ไม่มีส่วนราชการไหนของไทยที่มี และ พ.ร.บ.แต่ละมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องเขียนเหมือนกัน ขณะที่หน่วยราชการอื่นๆ มี พ.ร.บ. 1 ฉบับ ที่ทำไว้สำหรับ 20 กระทรวง อธิบายการทำงาน เขียนไว้เหมือนกันหมด

2.ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถบริหารเบ็ดเสร็จโดยสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์คณะบุคคล สภามหาวิทยาลัย เป็นผู้ตั้งอธิการบดี อนุมัติหลักสูตร ถอนปริญญาใครก็ได้ สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรกลุ่ม มีจำนวนคนหลากหลาย แต่ละที่ จะมีใครก็ได้ ไม่มีสายบังคับบัญชา และ รมว.ศธ.ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาสภามหาวิทยาลัย ไม่มีใครสั่ง สภามหาวิทยาลัยได้ เป็นอำนาจของ สภามหาวิทยาลัย

3.โดยผลจากการกำหนดกฎหมาย และการบริหารโดยคณะกลุ่ม ทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระอย่างมาก มหาวิทยาลัยทำสัญญาตกลงอะไรกับใครก็ได้ เพราะเป็นนิติบุคคล เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องส่งให้คลัง ที่ดินที่มี ผู้มอบให้มหาวิทยาลัยสามารถจำหน่าย ถ่ายโอนได้เอง ไม่ต้องไปขออนุมัติ หน่วยงานรัฐ

ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา คนในระบบการบริหารงานอุดมศึกษาไม่เข้าใจ จุดประสงค์ที่อยากให้เป็นอิสระ โดยไม่อยากให้คนคนเดียวดูแล รอบคอบ ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ใช้ความอิสระให้เกิดประโยชน์

ด้าน มายาคติ ในมุมผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ และองค์กรกลาง  ภาครัฐ มีการตั้งคำถามว่า ทำไมจึงสั่งมหาวิทยาลัยไม่ได้

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดพลาด เป็นมายาคติในผู้กำหนดนโยบาย แม้แต่องค์กรสูงสุด คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีความเข้าใจผิดว่าไม่สามารถควบคุม กำกับมหาวิทยาลัยได้ จนต้องแก้กฎหมาย ทั้งที่จริงๆ ทำได้

หากพบว่าสถาบันหรือคณะวิชาใดไม่ได้มาตรฐาน มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ กกอ.ไม่จำเป็นต้องสั่ง แต่ใช้วิธีตักเตือน ถ้ายืนยันว่าแก้ไขไม่ได้สามารถประกาศได้ทันทีว่าไม่ได้มาตรฐาน และดูว่า ก.พ.จะบรรจุ และมีใครจะกล้าสมัครเรียนมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีวิธีมากมายที่ กกอ.สามารถใช้อำนาจได้ ถ้าพบว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล แต่ที่ทำ เราจะเปลี่ยนสำนักงานเลขาธิการ คือ เลขานุการ และรับไปทำงาน แต่เหมือนเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา จะมีอำนาจในการสั่งการ

ระดับที่ 3 มายาคติอุดมศึกษาเกิดในการบริหารงานมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง การบริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัย คือ สภามหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ในการทำงานภาครัฐ คุ้นเคยระบบราชการ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนมาก หน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ปล่อยให้การบริหารเป็นหน้าที่ของอธิการบดี ไม่ได้นำพากับการบริหารมหาวิทยาลัย ปล่อยให้อธิการบดีรับผิดชอบ

ด้านมายาคติของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยมีความพิเศษ อิสระไม่เหมือนที่อื่น เช่น การที่ประชุมสภาคณาจารย์ หรือสภาบุคลากร พนักงานของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เรียกร้อง ต่อต้าน การที่เอาคนอายุเกิน 60 ปี มาแต่งตั้งเป็นอธิการบดี ทั้งที่อายุเกิน 60 ปีแล้วเป็นอธิการบดีไม่ได้ เป็นการอธิบายเชิงราชการ แนวคิดของอุดมศึกษาต้องมองว่า ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนก็ เป็นอธิการบดีได้ ถ้าสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ไม่มีข้อห้ามใดๆ เพราะมหาวิทยาลัยมีลักษณะเฉพาะเป็นดุลพินิจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง

เรื่องเหล่านี้สะท้อนความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ไปจนถึงในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ และเกิดขึ้นในระดับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐด้วย และได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ลุกลามไปเป็นปัญหาในทางการบริหารงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานกลางกับสถาบันอุดมศึกษา และกลายไปเป็นการฟ้องร้องเป็นคดีต่างๆ มากมาย ทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ถ้าหากไม่มีความเข้าใจและไม่สามารถมองทะลุมายาคติ ที่เคยเชื่อตามๆ กันมาอย่างยาวนานในระบบอุดมศึกษาของประเทศไทยแล้ว ย่อมไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะรื้อปรับระบบอุดมศึกษาไทย

ปัญหานี้เห็นได้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่การศึกษาไทยในช่วง 1 ศตวรรษนี้ไม่มีพัฒนาการ แต่ยังคงล้าหลังไปทุกวัน ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนหรือเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ แต่หากสามารถปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยของรัฐให้มีพลวัต มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพที่เป็นแกนหลักและจะนำสังคมไทยให้เปลี่ยนแปลงตามทันพัฒนาการของโลก และเป็นความหวังที่จะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับ สังคมไทยในอนาคตได้"