posttoday

ชำแหละเส้นทาง "ทุจริตเงินวัด" อย่าให้เจ้าอาวาสใหญ่เกินไป

20 มิถุนายน 2560

ถอดบทเรียนการทุจริตและการบริหารจัดการเงินภายในวัดของประเทศไทย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เงินวัดกลายเป็นประเด็นฉาว

เมื่อตำรวจตรวจพบการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณของ 12 วัด ใน 6 จังหวัด พบความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เกี่ยวข้อง ตามข่าวระบุว่ามีถึง 4 คน รวมถึงคนระดับอดีตผู้อำนวยการ พศ.

การทุจริตครั้งนี้กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นและศรัทธาของพี่น้องประชาชนที่มีต่อวงการพุทธศาสนาอีกครั้ง

เงินอุดหนุน 2 พันล้าน-พิจารณาตามความจำเป็น

ในแต่ละปีรัฐบาลตั้งงบอุดหนุนวัดทั่วประเทศ ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ เงินปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมบูรณะวัดราว 500 ล้านบาท เงินบำรุงการศึกษาพระภิกษุสามเณร (โรงเรียนพระปริยัติธรรม) 1,000-1,200 ล้านบาท และงบเผยแผ่พระพุทธศาสนา 400-600 ล้านบาท โดยเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บอกว่าคำนึงถึงหลักความจำเป็นของวัดและงบประมาณที่ พศ. มี

วิธีการทุจริตที่ตกเป็นข่าว คือจะมีเจ้าหน้าที่ไปติดต่อวัด แจ้งว่าจะจัดสรรงบอุดหนุนให้เท่านั้นเท่านี้ แต่มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้อง “ทอนเงิน” ให้เจ้าหน้าที่ โดยบางแห่งปรากฎว่ามากถึง 75-80%

พ.ต.ท.พงศ์พร บอกว่า ระบบการจัดการบัญชีทรัพย์สินของวัด ยึดกฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการ ไวยาวัจกร เป็นผู้ทำบัญชี เงินเกิน 3,000 บาท ต้องฝากไว้ที่ธนาคารในนามของวัด ซึ่งมติ มส. ปี 2558 ให้วัดส่งรายงานบัญชีทรัพย์สินปีละ 1 ครั้ง โดยพศ. ได้กำหนดเป็นบัญชีรับจ่ายอย่างง่าย ซึ่งผลการรายงานบัญชีทรัพย์สินวัดประจำปี 2559 จาก 40,000 วัด มีวัดรายงานมาแล้ว 39,000 วัด

“พศ.ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบบัญชีวัด เพียงเเต่มีหน้าที่รับรายงานข้อมูลเป็นตัวเลขเพื่อรายงานต่อ มส. เท่านั้น ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัด จะตรวจสอบวัดได้ต้องเป็นพระเท่านั้น"

พ.ต.ท.พงศ์พร บอกว่า ที่ผ่านมาวัดหลายแห่งทำเรื่องขอเงินโดยตรงจากวัดไปที่ พศ. ส่วนกลาง ไม่ผ่าน พศ.ระดับจังหวัด ทำให้เกิดการรั่วไหลและทุจริตได้ง่าย แต่ภายหลังจากปี 2559 คำร้องขอจากวัดจะต้องผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นกรรมการกลั่นกรอง ก่อนนำเอกสารของบประมาณส่งต่อไปยัง พศ. ส่วนกลาง เมื่อมีการอนุมัติ คณะกรรมการจังหวัดยังมีหน้าที่คอยควบคุมการจัดสรรและตรวจสอบการใช้เงินต่อไปด้วย

ชำแหละเส้นทาง "ทุจริตเงินวัด" อย่าให้เจ้าอาวาสใหญ่เกินไป

 

เมื่อไม่มีมาตรฐานก็โกงได้ทุกช่องทาง

ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้อง พิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บอกว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาเงินอุดหนุนวัดของ พศ. นั้นไม่ชัดเจน ในแง่ปฏิบัติจริงขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความเห็นชอบจาก พศ. และ มหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองสงฆ์

“ส่วนใหญ่ พศ. ทำงานสนอง มส. อยู่แล้ว แง่ความเป็นจริง มีกลไกทางเส้นสายอำนาจ วัดที่จะได้งบประมาณจะมีการส่งสัญญาณมาจากฝ่ายปกครองสงฆ์”

เนื่องจากไม่มีแบบแผนการทำงานที่มีมาตรฐานทำให้ทรัพย์สินที่มาจาก 3 ส่วนสำคัญของวัดสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตได้ทุกเมื่อ

การบริจาคจากญาติโยม

“ถวายใส่ซอง ใส่ตู้ ทอดกฐิน เราไม่รู้เลยว่าเอาไปไหน เข้าบัญชีใคร ประกาศบอกได้แล้ว 3 ล้าน จะเอามาปรับปรุงบูรณะวัด ปรากฎทำไปทำมาได้เงินแล้วหายไปเลยก็มี ผู้รับเหมาไม่ได้เงินก็มี”

การหาประโยชน์จากศาสนสมบัติ

“นำที่ดินวัดไปปล่อยเช่า สร้างที่พัก เก็บค่าที่จอดรถ ทำแผงค้า พวกนี้เป็นศาสนสมบัติแต่เจ้าอาวาสเอาไปใช้ตามใจชอบ กลไกในการจัดหาประโยชน์เราไม่ทราบเลย ตรวจสอบไม่ได้และไม่มีหลักเกณฑ์เปิดเผย”

เงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ไพบูลย์ บอกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเงินปฏิสังขรซ่อมแซมบูรณะที่มีการทุจริตเท่านั้น ทราบมาว่า มีการทุจริตในเรื่อง เงินบำรุงการศึกษาพระภิกษุสามเณรอย่างโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย

“เขาเรียกว่า พระลม แต่ละเทอมมีการอุดหนุนค่าเล่าเรียนเป็นรายหัว หัวละหลายพันบาท ต้องมีพระ-เณรไม่น้อยกว่า 40 รูปมาเรียน จึงจะรักษาความเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมไว้ได้ ถ้าต่ำกว่านั้นจะถูกยุบ

วิธีการทุจริตคือ นำชื่อพระและสามเณรจากที่อื่นมาเรียน บางแห่งเณรสึกไปแล้วก็ใส่ชื่อเอาไว้ เพื่อเบิกงบประมาณหลวง”

เขาบอกว่า เงินอุดหนุนจากภาครัฐทั้ง เงินปฏิสังขรซ่อมแซมบูรณะ เงินบำรุงการศึกษาพระภิกษุสามเณรและงบเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ควรละเลย เนื่องจากไม่มีความโปร่งใสและเสี่ยงต่อการทุจริต โดยส่วนที่หนึ่งเเละสองนั้นมีจำนวนมหาศาลกว่าเงินอุดหนุนเสียอีก

 

ชำแหละเส้นทาง "ทุจริตเงินวัด" อย่าให้เจ้าอาวาสใหญ่เกินไป ภาพประชาชนจำนวนมากที่ต่างเดินทางไปกราบไหว้พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร ในช่วงวัดหยุดส่งท้ายปีเก่า 2559

ถ่วงดุล โปร่งใส ตรวจสอบได้

สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการทุจริตคือ การไม่มีกฎหมายจัดการเงินวัด และไม่มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจที่ดีพอ

งานวิจัยเรื่อง “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย: ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล” เมื่อปี 2555 ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยมีวัดจำนวนทั้งสิ้น 37,075 วัด โดยได้ทำการสำรวจวัดจำนวน 490 แห่งใน 15 จังหวัด พบว่า วัดโดยเฉลี่ยมีรายได้ปีละ 3.2 ล้านบาท โดยมากมาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมเเซม เฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาท รองลงมาคือ รายรับจากการสร้างเครื่องบูชา เฉลี่ยประมาณ 1.4 ล้านบาท เเละเงินบริจาคในโอกาสพิเศษเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาท

ขณะที่รายจ่ายมีประมาณ 2.8 ล้านบาท โดยมากเป็นค่าก่อสร้างเเละซ่อมเเซม รองลงมาเป็นค่าบำรุงรักษาสถานที่เเละอุปกรณ์เฉลี่ยประมาณ 4.5 เเสนบาท

ทั้งนี้ เมื่อคูณกับรายได้ของวัดกับจำนวนวัดที่่มีอยู่ในประเทศไทย คาดกันว่าแต่ละปีจะมีเงินหมุนเวียนในวัดประมาณ 1-1.2 แสนล้านบาท

ผศ.ดร.ณดา บอกว่า การทุจริตและปัญหาการบริหารจัดการเงิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงกฎหมายที่ไม่รัดกุมและมอบอำนาจให้กับเจ้าอาวาสมากเกินไป ไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจเจ้าอาวาส ซึ่งทำหน้าที่ทุกอย่าง แม้กระทั่งการแต่งตั้งให้บุคคลอื่นมาทำหน้าที่ที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เช่น ไวยาวัจกรหรือคณะบุคคล ก็มีอำนาจในการคัดเลือกและแต่งตั้ง

สำหรับตำแหน่ง ไวยาวัจกร ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติในเชิงการบริหารจัดการ เป็นเพียงข้อกำหนดในลักษณะกว้างๆ ทั้งที่วัดเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมายต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ทางแก้คือ ทำให้กฎหมายรัดกุมมากขึ้น เพิ่มอำนาจและบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลเจ้าอาวาส

ข้อกฎหมายตามพ.ร.บ. คณะสงฆ์ ปัจจุบันที่กำหนดให้ทุกวัดส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้ พศ. นั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมีระบบตรวจสอบและเปิดเผยรายงานทรัพย์ดังกล่าวด้วย

"พศ. บอกว่า ปี 2559 วัดส่งรายงานบัญชีทรัพย์สินมาถึง 90 เปอร์เซนต์ คำถามคือ ได้มาแล้วเอามาทำอะไร ถ้ามีข้อมูลและออกมาเผยแพร่ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะช่วยเพิ่มกลไกตรวจสอบจากภาคประชาชน แต่ถ้าไม่มีการรายงานข้อมูลออกมาเลย ก็เท่ากับปิดช่องที่จะทำให้คนเห็นและทราบว่ามีเงินมากน้อยแค่ไหนในระบบ"

ผศ.ดร.ณดา บอกว่า วิวัฒนาการของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้อำนาจกับคณะสงฆ์ปกครองกันเอง เพราะฉะนั้นการปรับแก้ต้องเกิดจากการผลักดันของคณะสงฆ์เป็นหลัก

“การปฏิรูปกิจการสงฆ์ผลักดันจากฝั่งฆราวาสอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งสองฝั่งต้องเห็นชอบร่วมกัน คณะสงฆ์ต้องมีบทบาทในการปรับแก้มากกว่าฝั่งฆราวาสไปผลักดัน”

คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ทิ้งท้ายว่า การบริหารจัดการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แม้เม็ดเงินจะมาจากหลายหลายช่องทาง แต่ยืนยันว่าสามารถบริหารอย่างเป็นระบบ โปร่งใส เพื่อปิดช่องไม่ให้กลุ่มบุคคลเข้าไปหาประโยชน์กับวัดได้

ความโปร่งใสถือเป็นเรื่องสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้า เชื่อมั่น และศรัทธา ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการสงฆ์