posttoday

ก่อการร้ายแนวใหม่เขย่าโลก ไทยไม่ใช่เป้า แต่ต้องระวัง

15 มิถุนายน 2560

เหตุการณ์โจมตีประเทศอังกฤษเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 3 เดือน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก คือนัยความรุนแรงต่อสถานการณ์ก่อการร้าย สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เหตุการณ์โจมตีประเทศอังกฤษเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 3 เดือน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก คือนัยความรุนแรงต่อสถานการณ์ก่อการร้าย สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วโลก ทำให้ทางอังกฤษเองออกมายอมรับว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเทรนด์ใหม่ของการก่อการร้ายที่ต้องรับมือเพราะคนร้ายเลือกใช้อาวุธมีด และรถยนต์ ก่อเหตุเป็นหลัก

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยอมรับว่า การก่อการร้ายปัจจุบันเป็นการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ปืน ระเบิด ฯลฯ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องง่ายที่หลายประเทศจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ เพราะฉะนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ ความคลั่งและความศรัทธา ถ้าหากมีความศรัทธาเชื่อมั่นแบบหัวชนฝาในเชิงศาสนาอย่างสาวกรัฐอิสลามทำ ก็สามารถวางเป้าหมายก่อการร้ายโดยใช้เครื่องมือที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างรถยนต์ และมีด

“เป้าหมายเหมือนเดิมคือต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อส่งข้อความไปถึงฝ่ายการเมือง อย่างกรณีของประเทศอังกฤษที่ผ่านมา ใช้รถยนต์ รถตู้ ใช้มีดไล่แทงไล่ฟันคน เพื่อต้องการสร้างความรุนแรงสยองขวัญ โดยสื่อความหมายว่ารัฐอิสลามมีแสนยานุภาพมีพลัง และการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง โดยเขย่าขวัญประเทศตะวันตก หรือประเทศ อื่นๆ ด้วย”

นอกจากเรื่องอาวุธใกล้ตัวแล้ว การก่อเหตุในลักษณะปัจเจกบุคคลมีเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีขบวนการหรือมีผู้คนจำนวนมาก ปัจจุบันมีเพียงคนเดียวก็สามารถก่อเหตุได้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่เช่นกัน หากเทียบกับอดีตต้องมีเครือข่ายมีการเตรียมการซับซ้อนมีขั้นตอน แต่ปัจจุบันเพียงคนเดียวสามารถอาศัยสื่อออนไลน์ เทคโนโลยีในการสื่อสารก็สามารถเข้าถึงวิธีการกลไกรูปแบบการใช้ความรุนแรงเพื่อการก่อการร้ายขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งการใช้เครื่องมือใกล้ตัวโดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธปืน ระเบิด มีการทำเป็นปัจเจกบุคคล โดยไม่ต้องอาศัยหรือมีเครือข่าย และเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เห็นถี่และเป็นประจำแบบนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับ ประกิจ ประจนปัจจนึก อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มองเทรนด์การก่อการร้ายในโลกปัจจุบันว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่พบกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากต่างประเทศเข้ามาก่อเหตุร้ายแรง แต่เราต้องไม่ประมาทเพราะว่าแม้แต่ประเทศที่มีการข่าวด้านความมั่นคงชั้นเลิศแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ ยังถูกกลุ่มก่อการร้ายโจมตีสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากเช่นกัน

อย่างกรณีล่าสุดที่ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษออกประกาศทั่วโลกว่า การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศครั้งนี้เป็นการก่อการร้าย “เทรนด์ใหม่” ในการใช้อาวุธมีดและรถยนต์ เรื่องนี้อดีตเลขาธิการ สมช. มองว่า การก่อการร้ายขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเอื้ออำนวยให้เหมาะสมกับการใช้อาวุธแบบใดมากกว่า ไม่ว่าการใช้ระเบิด อาวุธมีด และรถยนต์ ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเป็นตัวแปรสำคัญ

“คนร้ายก่อเหตุบางคนใช้อาวุธมีดแล้วหลบหนีไป แต่ก็ยังมีระเบิดพกพาติดตัวไว้ก่อเหตุซ้ำอีกเช่นกัน ไม่ได้ใช้เพียงอาวุธชนิดเดียว โดยมีเป้าหมายหลักมุ่งไปสู่การสร้างความเสียหาย และไม่ว่าอย่างไรก็ตามกลุ่มก่อการร้ายจะใช้วิธีการทุกวิถีทางในการก่อเหตุ ต้องมีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต และเป็นข่าวขยายออกไปสู่สาธารณะจนเกิดความหวาดกลัว” ประกิจ อธิบายลักษณะการก่อเหตุ

อดีตเลขาธิการ สมช. ฉายภาพการก่อการร้ายอีกว่า เหตุการณ์หลายครั้งมาจากพฤติการเลียนแบบอย่างเหตุร้ายแรงในประเทศอังกฤษก็มาจากการเลียนแบบการก่อเหตุทั้งสิ้น อาจมีผู้ก่อเหตุแค่ 1-2 คน แต่มีผู้ร่วมขบวนการจำนวนมาก ดังนั้นการก่อเหตุจึงเปลี่ยนแปลงไปในหลายรูปแบบ ดังตัวอย่างพื้นที่ในตะวันออกกลางที่มีกลุ่มก่อการร้ายฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยม ทั้งใช้มีดเฉือนคอ ราดน้ำมันเผา ทั้งหมดอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซีย มีกลุ่มพวกหัวรุนแรงเดินทางไปร่วมอุดมการณ์กับผู้ก่อการร้ายอย่างกลุ่มไอเอสเช่นกัน ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศยังไม่มีกลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ ยอมรับว่าห่วงพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน

ขณะที่ ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า นักรบต่างชาติที่เข้าร่วมรบในซีเรียและอิรักมีความแตกต่างกับนักรบที่เข้าไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน เพราะนักรบที่ไปสมรภูมิในอัฟกานิสถานจะถูกฝึก ส่วนในสงครามซีเรียและอิรักพวกนักรบต่างชาติจะถูกส่งเข้าไปรบทันทีไร้การฝึก จึงทำให้กลุ่มนี้ไม่มีทักษะในการสู้รบใช้ความรุนแรงก่อการร้าย เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้วิธีการก่อการร้ายไม่รุนแรง แต่เลือกใช้วิธีการง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมพร้อมหรือใช้ทักษะ

ศราวุฒิ มองว่า ผู้ก่อเหตุเป็นคนที่ได้รับอุดมการณ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่างในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียมีพื้นที่เสี่ยงที่กลุ่มไอเอสจะหลบซ่อนตัวอยู่ ซึ่งกลุ่มนี้จะเลือกประเทศที่มีพื้นที่รัฐอ่อนแอหรือรัฐล้มเหลว เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ สำหรับในพื้นที่เซาท์อีสต์เอเชียมีดินแดนเสี่ยงคือรัฐมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา พื้นที่เหล่านี้กลุ่มไอเอสเคยประกาศจะเดินทางเข้ามาอยู่หลังแตกตัวจากตะวันออกกลางจึงถือว่าน่าเป็นห่วงมาก

“แต่อาจเข้ามาในลักษณะการปลุกระดมผ่านการใช้รูปแบบการสื่อสารสมัยใหม่ขับเคลื่อน จูงใจคนบางกลุ่มที่หัวอ่อนถูกชักจูงได้ง่าย ส่วนพื้นที่ชายแดนใต้ ประเทศไทย ยังไม่รุนแรงขนาดมีกลุ่มสวามิภักดิ์เข้าร่วมขบวนการรบกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องไม่ประมาท เพราะอาจมีพฤติกรรมการเลียนแบบ”

รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษาฯ แสดงท่าทีว่า ภาพรวมในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียยังไม่เสี่ยงต่อภัยคุกคามการก่อการร้ายไอเอสเหมือนที่ก่อเหตุในภูมิภาคต่างๆ ในตะวันออกกลางและประเทศในยุโรป แต่เป้าหมายของกลุ่มไอเอสต่อไปคือการขยายความรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวและให้เห็นว่ากลุ่มไอเอสยังมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติ ซึ่งไอเอสพยายามส่งสารให้ผู้ร่วมขบวนการปฏิบัติในรูปแบบง่ายๆ กระตุ้นให้แนวร่วมปฏิบัติ โดยใช้อาวุธมีดไล่แทง หรือขับรถยนต์ไล่ชน

“ผมมองว่ามันอาจไม่ใช่เทรนด์ใหม่เพียงแต่สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป วันนี้การตลาดของไอเอสเปลี่ยนไปตามรูปแบบยุคของไซเบอร์ หลายเหตุการณ์เวลาเกิดเหตุกลุ่มไอเอสจะออกประกาศรับก่อนว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งมันเป็นลักษณะการทำให้ยี่ห้อไอเอสติด ตลาด สร้างความหวาดกลัวและเป็นที่รู้จัก แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงของไอเอสเพื่อไปสู่เป้าหมายใดเนื่องจากยังสะเปะสะปะมาก” ศราวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย