posttoday

ส่องกฎหมายกกต. เพิ่มอำนาจคุมเลือกตั้ง

12 มิถุนายน 2560

นอกเหนือไปจากเรื่องการเซตซีโร่แล้ว ในส่วนอื่นๆ ของร่างกฎหมายก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็เป็นไปตามคาด ภายหลังเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มติเสียงข้างมาก 177 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

นอกจากนี้ มีมติเสียงข้างมาก 161 ต่อ 15 คะแนน เห็นด้วยกับมาตรา 70 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่ว่าด้วยการให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

สำหรับมาตรา 70 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของ สนช.ได้ทำการแก้ไข จนทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันควันออกหู มีเนื้อหาระบุว่า “ให้ประธาน กกต. และ กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กกต. และกรรมการ กกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”

มาตรา 70 ที่คณะ กมธ.วิสามัญแก้ไขนั้นมีเนื้อหาแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่ชี้ขาดคุณสมบัติของ กกต.แทน

การเซตซีโร่ กกต.ครั้งนี้ ถือเป็นการแหวกม่านประเพณีครั้งใหญ่ เพราะย้อนกลับไปเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นกำหนดให้ กกต. และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากเรื่องการเซตซีโร่ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในส่วนอื่นๆ ของร่างกฎหมายก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาอย่างกระบวนการเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต.นั้น มาตรา 11 ได้กำหนดให้กรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของ กกต. และไม่มีพฤติการณ์ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ

ขณะเดียวกันการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่ง กกต.ของคณะกรรมการสรรหาก็ยังมีการกำหนดรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไว้ในมาตรา 12 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาสามารถเสนอชื่อบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ยื่นใบสมัคร กกต.ต่อคณะกรรมการสรรหามาเข้าร่วมรับการสรรหาเป็น กกต. และที่สำคัญยังกำหนดให้กรรมการสรรหาต้องบันทึกเหตุผลที่ตนเองลงมติเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาเป็น กกต.ด้วย

“ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ

โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย” เนื้อหาของมาตรา 12

ทั้งนี้ ในภาพรวมของอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่มีบางเรื่องที่มีการกำหนดขึ้นใหม่

โดยเฉพาะการให้ กกต.ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามมาตรา 28 เพื่อทำหน้าที่เป็นตาสับปะรดให้กับ กกต.กลางในระหว่างการจัดเลือกตั้ง สส. หรือการเลือก สว. ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง และที่สำคัญต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ สส. สว. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น

ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเน้นในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง แล้วรายงานให้ กกต.กลางทราบ

จากนี้เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ผ่าน สนช.แล้ว จะต้องรอดูว่าทั้งคณะ กรธ. และ กกต.จะมีท่าทีต่อร่างกฎหมายที่ สนช.แก้ไขอย่างไร

ดังนั้น ศึกนี้จะเป็นศึกใหญ่ที่ต้องจับตา เนื่องจาก กกต.ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบคงต้องสู้ยิบตาอย่างแน่นอน