posttoday

ถอดบทเรียน "เปรี้ยว" เส้นทางตายหมู่ของสื่อหลักที่หลงวิ่งตามโซเชียล

07 มิถุนายน 2560

เวทีเสวนาวิชาการเรื่อง "ฆ่า หรือ ค่า สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย" เพื่อสะท้อนมุมมองพร้อมกับหาทางออกต่อการนำเสนอข่าวในอนาคต

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

สัปดาห์ที่ผ่านมาสังคมไทยมีการถกเถียงหลากหลายแง่มุมต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ กรณีการฆ่าหั่นศพอำพรางหญิงสาวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จนกระทั่งนำมาสู่การจัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ฆ่า หรือ ค่า สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย” เพื่อสะท้อนมุมมองพร้อมกับหาทางออกต่อการนำเสนอข่าวในอนาคต

รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา ฉายภาพว่า เหตุการณ์อาชญากรรมในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติที่มีมานาน แต่กรณีที่เกิดกระแสในระดับที่ทำให้คนในสังคมเริ่มคล้อยกำลังมีเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากสื่อออนไลน์เป็นตัวปลุกกระแสให้สื่อหลักคล้อยตาม หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะกลายเป็นผลร้ายในแง่ลบย้อนกลับมาสู่สังคม

“ระยะสั้นอาจยังไม่มีผลกระทบมาก แต่อนาคตจะกลายเป็นแผลลึกทำให้สังคมไทยเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่กำลังค้นหาพฤติกรรมตัวเอง สื่อยิ่งนำเสนอทำให้ผู้รับสารจดจำและกลายเป็นความเคยชินกับความรุนแรง โดยเฉพาะเยาวชนหากปล่อยให้ซึมซับ โดยไม่มีวุฒิภาวะแยกแยะว่าอะไรถูกหรือผิด คิดเพียงว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากปล่อยไปอีกไม่นานสังคมไทยจะเกิดปัญหา”

นักวิชาการด้านจิตวิทยา เสนอว่า ทางแก้ปัญหา คือ ครอบครัว ชุมชน และสื่อต้องร่วมมือกัน โดยพยายามสร้างมุมมองอีกด้านที่มีความรู้ คุณภาพ เพื่อให้เกิดการรับข่าวสารที่หลากหลาย ไม่เดินตามกระแสอย่างเดียว

ส่วนครอบครัวต้องตระหนักรับผิดชอบดูแลบุตรหลานมากกว่าที่เป็น เพราะการโยนหน้าที่ดูแลเด็กให้กับโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกที่ดี ต้องร่วมกันสร้างชุมชนให้เข็มแข็งกว่านี้

 

ถอดบทเรียน "เปรี้ยว" เส้นทางตายหมู่ของสื่อหลักที่หลงวิ่งตามโซเชียล

 

ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว สะท้อนให้เห็นว่ามีคนลักษณะเช่นนี้อยู่อีกมากในสังคมไทย ต้องการมีรูปร่างหน้าตาดี รวย และดังเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งมีจุดเริ่มมาจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ทางแก้ปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตั้งแต่สื่อหลักและสื่อออนไลน์ที่ต้องมีความรับผิดชอบ จากนั้นควรมีตัวแทนหรือหน่วยงานคอยเฝ้าระวังติดตามวิเคราะห์ดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้สื่อหลักเดินตามกระแสสังคมโซเชียลมีเดียอย่างทุกวันนี้

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้ข่าวฆ่าหั่นศพช่วงที่ผ่านมามีคนสนใจมากกว่าเรื่องดีอื่นๆ เพราะข่าวมีแง่มุมที่หลากหลายทั้งเชิงวาบหวิว ลึกลับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบทำให้ข่าวได้รับความสนใจ พฤติกรรมของสื่อจะชอบเล่นกับเรื่องความอยากรู้อยากเห็นของคน เพราะต้องพยายามแข่งขันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

“สื่อยุคปัจจุบันต้องทำเพื่อปากท้อง แม้จะผิดหลักจรรยาบรรณก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด หากไม่ทำอาจถูกหัวหน้าให้เลือกว่าจะทำงานหรือให้ลาออก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกระหว่างเรื่องอุดมการณ์กับปากท้อง จนทำให้คนในสังคมมองว่าสื่อยุคนี้เป็นเสือกระดาษหรือแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ไม่สามารถกำกับดูแลกันได้จริง สุดท้ายคนจึงหันไปสนใจสื่อประเภทอื่นที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และเล่นข่าวหนักๆ มากกว่า”

ผศ.มรรยาท ระบุว่า สื่อที่เป็นนักวิชาชีพควรมีจุดแข็งเรื่องการนำเสนอในด้านคุณภาพมากกว่าการแข่งขันเชิงปริมาณ เพื่อเป็นเป็นน้ำดีที่คอยไล่น้ำเสีย ไม่ใช่กระโจนลงไปแข่งกับสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหมด ไม่เช่นนั้นสุดท้ายสื่อจะกลายเป็นผู้ฆ่าสังคมและตัวเองตายไปพร้อมกัน

ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชสังคม บอกว่า คดีล่าสุดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมยังมีความเข้าใจผิด หลายคนมักชอบบอกไว้ก่อนว่าผู้ที่ก่อเหตุฆาตกรรมต้องป่วยทางจิตเสมอ ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ จากนี้ขอร้องว่า หากเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น เบื้องต้นอย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าเป็นอาการเจ็บป่วยทางจิต โดยวงการแพทย์ถือว่าผิดหลักการ ไม่ควรวินิจฉัยหรือให้ความเห็นดังกล่าวต่อสื่อมวลชน