posttoday

“เลนขวาสุด” จุดเสี่ยงตายของคนข้ามถนน

15 พฤษภาคม 2560

ถอดบทเรียนการใช้ชีวิตในเมือง หลังคลิปเหตุการณ์สาวคุยโทรศัพท์ขณะข้ามถนนแล้วถูกรถชนเสียชีวิต

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เมื่อเร็วๆ นี้มีคลิปวิดีโอเหตุการณ์อุบัติเหตุหนึ่งถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์

ภาพผู้หญิงสาวเดินข้ามถนนพร้อมกับคุยโทรศัพท์ถูกรถยนต์ชนอย่างรุนแรง ร่างกายของเธอลอยขึ้นไปกลางอากาศ ก่อนหล่นลงมากระแทกกับรถยนต์อีกคันด้านหน้า บาดเจ็บสาหัส กระทั่งไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

เหตุดังกล่าวกำลังมอบบทเรียนและทำให้ประชาชนหันกลับมาตระหนักในการเดินเท้าและข้ามถนนอย่างมีสติมากขึ้น

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยข้อมูลมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พบว่า รอบ 5 ปีที่ผ่านมาการเสียชีวิตของคนเดินถนนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด พ.ศ. 2559 จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศราว 14,000 คน มีคนเดินถนนเสียชีวิตอยู่ราว 8% หรือเท่ากับ 1,200 คน เฉลี่ยแล้วทุกวันจะมีคนเดินถนนเสียชีวิตถึง 3 ราย

“ส่วนใหญ่ 3 ใน 4 ของตัวเลข 1,200 คน หรือประมาณ 900 คนต่อปี เสียชีวิตจากการข้ามถนน ไม่ใช่แค่คุยโทรศัพท์ แต่ยังรวมไปถึงการอ่าน พิมพ์ข้อความ จับกลุ่มเดินไปคุยไป บางส่วนเป็นการถูกชนเพราะรถไม่หยุด ข้ามนอกทางข้ามหรือข้ามถนนเวลากลางคืน” นพ.ธนะพงศ์ ยกตัวอย่าง

นอกเหนือจากพฤติกรรมในการข้ามถนนแล้วอีกหนึ่งเรื่องสำคัญก็คือ กายภาพของถนนที่ส่งผลกระทบให้เกิด “จุดบอด” ระหว่างคนเดินและคนขับ

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า พื้นที่บริเวณเลนขวาสุดคือจุดบอดหรือมุมอับที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุด พูดง่ายๆว่า ถนนยิ่งกว้างความเสี่ยงก็ยิ่งมาก

“รถยนต์เลนซ้ายสุด สามารถมองเห็นคนข้ามถนนได้ดี แต่เลนถัดมาจะเริ่มมองลำบาก โดยเฉพาะถ้าเป็นถนน 3 เลน หากเลนที่ 1 และ 2 จอดหรือชะลอตัว โอกาสที่รถเลนที่ 3 จะมองเห็นคนข้ามถนนนั้นมีน้อยมาก กลายเป็นจุดบอดที่ทำให้คนข้ามและคนขับปะทะกันโดยไม่ทันระวังตัว”

เพราะฉะนั้นการขับรถในพื้นที่ที่มีหลายช่องทาง แม้เลนที่เรากำลังวิ่งอยู่นั้นโล่ง ก็จำเป็นต้องสังเกตเลนรอบข้างอยู่เสมอ หากรถด้านซ้ายชะลอตัว ให้คิดไว้เลยว่า มีโอกาสสูงที่ด้านหน้าจะมีอะไรโผล่ออกมากะทันหัน

ต่อคำถามถึงหนทางลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต

นพ.ธนะพงศ์ เสนอว่า ควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทำความเร็วของรถในเขตเมือง จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหลือเพียงไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและโอกาสรอดจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายเมืองทั่วโลกปฏิบัติกัน

“80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากชนคนโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% เทียบเคียงง่ายๆ ความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงปะทะที่เกิดขึ้นเทียบได้กับ คนตกตึก 5 ชั้น โอกาสเสียชีวิตราวๆ 80-85% โอกาสรอดเหลือเพียง 15%

ตัวอย่างเคสล่าสุดที่ผู้หญิงเดินคุยโทรศัพท์แล้วถูกรถชนเสียชีวิต ความเร็วไม่น่าเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทบไม่มีใครอยากเชื่อว่า เธอจะตัวลอยได้ขนาดนั้น เราเห็นแล้วว่าความเร็วเพียงแค่ 60 ก็ทำให้คนเสียชีวิตได้”

นอกจากนั้นอาจติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายอย่าง เส้นสัญลักษณ์ซิกแซกบนท้องถนนก่อนถึงทางม้าลาย แจ้งผู้ขับให้รู้ล่วงหน้าก่อนถึงทางม้าลายก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางลดความเสี่ยงได้ โดยกรุงเทพฯ มีการติดตั้งสัญลักษณ์ดังกล่าวเช่นกันในพื้นที่ถนนอโศก ภายหลังมีอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งในช่วงก่อนหน้านั้น

โดยสรุปคือ ผู้ข้ามถนนจำเป็นต้องระมัดระวัง มีสติ และคำถึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ยอมเสียเวลาและพลังในการเดินมากเสียหน่อยเพื่อขึ้นสะพานลอยหรือข้ามถนนในจุดที่กำหนดไว้ ขณะที่ผู้ขับรถก็ต้องระมัดระวัง รู้จักสังเกตสถานการณ์รอบข้างเสมอ โดยเฉพาะถนนที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เลนขึ้นไป 

 

 ขอบคุณคลิปจาก TNN24 , ข่าวช่อง 8 เเละ Prit RitRong