posttoday

รัฐหนุน "ไบโอฟาร์มา" ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาโรคเรื้อรัง

15 พฤษภาคม 2560

นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ครั้งสำคัญ เมื่อไทยสามารถผลิตยา “ไบโอฟาร์มา” ใช้เองในประเทศได้เป็นครั้งแรก

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ครั้งสำคัญ เมื่อไทยสามารถผลิตยา “ไบโอฟาร์มา” ใช้เองในประเทศได้เป็นครั้งแรก

นวัตกรรมการคิดค้นดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากหลายโรคเรื้อรังสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในราคาแพงอีกต่อไป

การผลิตยาไบโอฟาร์มา โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทุนลดาวัลย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยพัฒนาและผลิตยา เวชภัณฑ์ และเวชสำอาง ซึ่งต่างจากการใช้เทคโนโลยีทางเคมีหรือสารเคมีที่มักส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย

“ผลิตภัณฑ์ไบโอฟาร์มาจึงมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดยารักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตนเอง โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดโลกสูงถึง 8 ล้านล้านบาท/ปี และอัตราการเติบโตสูงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

“ประเทศไทยมีการใช้ไบโอฟาร์มากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาล้วนเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ได้เพียงร้อยละ 2 หรือประมาณ 1 แสนราย จากจำนวนผู้ป่วยกว่า 5 ล้านราย” อภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ระบุ

อภิพร กล่าวด้วยว่า หลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย บราซิล ได้ออกมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไบโอฟาร์มา โดยให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อแก่ผู้ผลิตในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนทั้งจากแหล่งทุนในประเทศและต่างประเทศ

“เกาหลีใต้เป็นประเทศตัวอย่างความสำเร็จการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านไบโอฟาร์มาในเวทีโลก ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้เริ่มมาแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมาเลเซียมีการประกันโควตาจัดซื้อยาจูงใจให้ต่างชาติมาตั้งโรงงานในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียมีกฎหมายกำหนดว่า บริษัทยาจากต่างประเทศต้องร่วมมือกับผู้ผลิตในประเทศเท่านั้น จึงจะขึ้นทะเบียนยาเพื่อจำหน่ายได้”อภิพร กล่าว

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเป็นการบุกเบิกอุตสาหกรรมไบโอฟาร์มาที่ใช้ประโยชน์ได้จริง หากรัฐส่งเสริมเช่นในต่างประเทศจะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมไบโอฟาร์มาในประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายแล้ว 2 รายการ คือ ยาบำบัดภาวะเลือดจางในผู้ป่วยโรคไต และยาบำบัดภาวะเสี่ยงการติดเชื้อในผู้ป่วยมะเร็ง การผลิตยาดังกล่าวได้เองในประเทศส่งผลให้ยานำเข้าจากต่างประเทศใน 2 รายการนี้มีราคาลดลงมากกว่า 50% สามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 3,000 ล้านบาท อีกทั้งเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเข้าถึงยากว่าเท่าตัว

ด้าน ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ไบโอฟาร์มาเลียนแบบโปรตีนที่ทําหน้าที่ควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น EPO คือ โปรตีนที่ผลิตจากไต เพื่อเปลี่ยนไขกระดูกเป็นเม็ดเลือดแดง เทคโนโลยีไบโอฟาร์มาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เฉพาะเจาะจง คือเลียนแบบการทำงานร่างกายผลิต EPO เพื่อผู้ป่วยไตวายลดภาวะโลหิตจาง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างเยี่ยมชมโรงงานผลิตไบโอฟาร์มาแห่งนี้ว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายยาให้ขยายกิจการการลงทุน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น ตลอดจนพยายามให้มีการผลิตยาเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลด้วย

ความก้าวหน้าดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงจะมีโอกาสเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเฉพาะการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอย่างเต็มตัว การผลิตยาใช้เองและลดการนำเข้าลง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาและค่ารักษาอย่างมหาศาลต่อปี