posttoday

หาคำตอบ "ประตูกั้น" กระแทกผู้โดยสาร ระบบบกพร่องหรือปัญหาพฤติกรรมคน

01 พฤษภาคม 2560

ฟังความคิดเห็นอันหลากหลายจากผู้ใช้งานเเละผู้เชี่ยวชาญต่อประเด็นระบบประตูอัตโนมัติของรถไฟฟ้าบีทีเอส

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ระบบประตูกั้นอัตโนมัติบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกำลังกลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ เมื่อผู้ใช้งานบางกลุ่มเห็นว่า ประตูบานเลื่อนสีแดงที่ใช้อยู่นั้นไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เครื่องกั้นมักกระแทกสะโพกจนเกิดความเจ็บปวด นำไปสู่การเรียกร้องให้บริษัทผู้ดูแลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียที

นับตั้งแต่เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 วันนี้ระบบประตูอัตโนมัติที่รองรับผู้ใช้งานสูงสุดกว่า 8 แสนเที่ยวต่อวันกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก...

หาคำตอบ "ประตูกั้น" กระแทกผู้โดยสาร ระบบบกพร่องหรือปัญหาพฤติกรรมคน

 

หนีบเร็ว แรง ไม่ปลอดภัย

ธีรวุฒิ สถิตภัทรกุล เจ้าของแคมเปญ “เปลี่ยนซะทีเหอะ…ที่กั้นรถไฟฟ้าให้มันไม่กระแทกสะโพกจนม่วง” โดยรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เห็นว่าเครื่องกั้นประตูรถไฟฟ้าบีทีเอส มักปิดเร็วและกระแทกผู้โดยสารอยู่เสมอ จึงขอเสนอให้เปลี่ยนระบบเครื่องกั้นให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ธีรวุฒิ บอกว่า เครื่องกั้นประตูของรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นบีทีเอส ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มักจะปิดกระแทกโดนสะโพก โดยที่พนักงานบริเวณนั้นไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งช่องทางประตูสำหรับคนตั้งครรภ์ก็ไม่ได้มีพนักงานคอยบริการเสมอไป รวมถึงส่วนตัวพยายามเข้าให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การใช้บริการรถไฟฟ้าแล้วก็ตาม

ทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์เหล่านี้ ซึ่งมีผลต่อการบาดเจ็บในร่างกาย เขียวจนถึงม่วงบริเวณสะโพกเป็นสัปดาห์ข้อสังเกตคือ ระบบเครื่องกั้นประตูของประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีความอันตราย หรือสร้างความเจ็บปวดเท่ากับเมืองไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนระบบหรือพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยเลย จึงขอเสนอให้ไปใช้ระบบเครื่องกั้นประตูแบบในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว

เจ้าของแคมเปญรายนี้ บอกว่า เรื่องนี้แยกเป็น 2 ประเด็น 1.การใช้งานอย่างถูกต้อง 2.การพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

“เรื่องการใช้งานเครื่องกั้นที่ถูกวิธีนั้น ล่าสุดทางบีทีเอสได้ชี้แจงแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้กระแทกอย่างที่หลายคนโดน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าระบบไม่ได้ลื่นไหล แต่สำหรับประเด็นที่สอง สังคมยังไม่ได้รับการชี้แจง เรื่องการพัฒนาให้ดีขึ้น อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เครื่องกั้นเป็นแบบพับไม่ใช่แนวขวาง คำถามคือ ระบบของบีทีเอส เมื่อใช้มาเป็น 10 ปี จะไม่มีการพัฒนาเลยหรือ เหล่านี้คือสิ่งที่องค์กรระดับใหญ่ที่เป็นองค์กรที่ก้าวหน้า ต้องนำไปขบคิด เพราะมีการร้องเรียน”

หาคำตอบ "ประตูกั้น" กระแทกผู้โดยสาร ระบบบกพร่องหรือปัญหาพฤติกรรมคน

ไม่ต้องเร่งรีบ ประตูเปิดเมื่อสอดบัตร ปิดเมื่อเดินผ่าน

ภายหลังมีการเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์จากพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง บีทีเอสได้มีการสาธิตช่องแตะบัตรโดยสารอัตโนมัติอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยสรุปคือ ช่องทางผ่านประตูอัตโนมัติมีความกว้าง 50 เซนติเมตร ทำงานด้วยระบบเซนเซอร์ที่มีมาตรฐาน ผู้โดยสารไม่ต้องรีบเดิน เพราะไม่ได้มีการตั้งเวลากำหนด ประตูจะเปิดเมื่อผู้โดยสารสอดบัตร และปิดเมื่อเดินผ่านไปแล้ว สำหรับผู้โดยสารที่ตั้งครรภ์ สูงอายุ หรือมีสัมภาระขนาดใหญ่ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดใช้ช่องทางพิเศษ

เมื่อผู้สื่อข่าวลองสอบถามผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับรู้ความเห็นและความเข้าใจดังนี้

ปิยนุช สุขใจดี อายุ 48 ปี บอกว่า หากมีสัมภาระหรือมากับเด็กต้องรีบเดินซะหน่อย เพราะกลัวว่าจะเดินไม่พ้นประตูอัตโนมัติ

ภาณุวัฒน์ พานิชกุล อายุ 18 ปี บอกว่า ไม่มีปัญหาและไม่เคยกังวลในการเดินผ่านประตู ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบก็สามารถพ้นประตูได้ด้วยความปลอดภัย

เบญจมาศ ทองประไพ อายุ 26 ปี บอกว่า ใช้งานมาหลายปี ไม่เคยโดนหนีบ ประตูมีมาตรฐานดีอยู่แล้ว

วิทยา รักจ้อย อายุ 21 ปี เล่าว่า เคยโดนหนีบเมื่อหลายปีก่อน ระหว่างเดินผ่านพร้อมกระเป๋า หากเป็นไปได้อยากให้บีทีเอสปรับปรุงระบบลดความเสี่ยงอันตรายให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน มีผู้ใช้จำนวนมาก แต่ละคนค่อนข้างรีบ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระแทกได้

ษา อรษา 28 ปี บอกว่า ตัวเองไม่เคยถูกเครื่องกั้นกระแทก แต่พบเห็นชาวต่างชาติที่มาพร้อมกับกระเป๋าถูกกระแทกบ่อยครั้ง เข้าใจว่าประตูอัตโนมัติทำงานด้วยระบบเซนเซอร์และไม่มีปัญหาสำหรับผู้ใช้โดยทั่วไป แต่อยากให้มีการแจ้งเตือนชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับสัมภาระให้เลือกไปใช้ช่องทางพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายถูกกระแทก

ศจิกา ฉายอรุณ อายุ 26 ปี บอกว่า ระบบที่ใช้อยู่นั้นดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาสำหรับคนส่วนใหญ่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ใช้บางราย อย่างไรก็ตามหากมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าก็ควรปรับปรุงพัฒนา

คลิปวิดีโอสาธิตการใช้งานประตูอัตโนมัติบีทีเอส โดย JS100

เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมและความรู้สึก

ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระบบรางของเมืองของไทย ให้ความรู้ว่า ระบบประตูอัตโนมัติที่รถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีใช้เป็นลักษณะบานเลื่อน ในแง่พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีปริมาณมากได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว

ประตูนี้เรียกว่า AFC barrier gates มีเซนเซอร์ชนิด optical ติดอยู่ 4 จุด ไล่ตามลำดับการเข้าใช้งาน เมื่อเราสอดตั๋วโดยสารเข้าไปในช่องสอดตั๋ว ตราบเท่าที่เรายังไม่ดึงตั๋วออกจากช่องรับตั๋ว barrier หรือประตูจะไม่เปิดออก เมื่อเราดึงตั๋วออกจากช่องรับตั๋วแล้วประตูจะเปิดออก ให้เราเดินเข้าไปได้ ระบบถูกออกแบบมาให้ป้องกันไม่ให้มีการโกงด้วยการเดินผ่านประตู มากกว่า 1 คน ในการสอดตั๋วครั้งเดียว ดังนั้น เซนเซอร์ทั้ง 4 จุด จะทำหน้าที่ตรวจสอบการเดินผ่านของคน และควบคุมการปิดประตู

"เซนเซอร์ตัวที่ 1 และ 2 จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่ามีคนผ่านเข้ามาแล้ว และประตูจะปิดลงเมื่อคนเดินผ่านเซนเซอร์ตัวที่ 3 ส่วนเซนเซอร์ตัวที่ 4 มีไว้ตรวจสอบการผ่านออกไปจากประตู มีเพียงเหตุการณ์เดียวที่จะทำให้ประตูปิดตัวลง คือ มีคนเดินผ่านเซนเซอร์ตัวที่ 3 สำหรับเหตุการณ์ปกติ ผู้โดยสารสามารถเดินผ่านแบบช้าๆ ไม่ต้องรีบได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์ประตูหนีบ เวลาที่กำหนดมีมากพอ และในกรณีที่มีผู้โดยสารสอดบัตรติดๆ กัน ระบบจะตรวจจับได้ว่าต้องมีคนผ่านกี่คน ตามจำนวนตั๋วที่สอดติดๆ กัน ต่อให้จำนวนผู้โดยสารมีจำนวนมากก็จะไม่มีใครโดนหนีบ"

หาคำตอบ "ประตูกั้น" กระแทกผู้โดยสาร ระบบบกพร่องหรือปัญหาพฤติกรรมคน ภาพจาก http://www.bts.co.th

 

หาคำตอบ "ประตูกั้น" กระแทกผู้โดยสาร ระบบบกพร่องหรือปัญหาพฤติกรรมคน ภาพจาก http://www.bts.co.th

ดร.ประมวล บอกว่า เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการหนีบคือ ผู้โดยสารมีสัมภาระ กระเป๋าหรือสิ่งของ โดยถือนำเข้าไปก่อนจนถูกเซนเซอร์ตัวที่ 3 จับได้ ระบบจะเข้าใจว่ามีคนกำลังจะแอบผ่านประตูโดยไม่สอดบัตร หรือเข้าใจว่า สิ่งของนั้นเป็นผู้โดยสารและทำให้ตัวเราเองที่เดินตามหลังสิ่งของมาถูกประตูหนีบได้ ฉะนั้นหากต้องถือของผ่านประตู ให้ยกของให้สูงพ้นจากระดับเซนเซอร์ ก็จะไม่มีปัญหา

ในกรณีสตรีมีครรภ์ เจ้าหน้าที่จะเชิญให้ผู้โดยสารเดินผ่านประตูพิเศษซึ่งอยู่ด้านข้างแทน เพราะเข้าใจว่าอาจเกิดความผิดพลาดจากการตรวจสอบได้ เช่นกันกับในกรณีท้องใหญ่ เดินแอ่นมาก จนมีอะไรไปผ่านเซนเซอร์ตัวที่ 3 ก่อนที่ตัวจะเดินผ่านไปก็อาจเกิดความผิดพลาดและถูกหนีบได้

"พิจารณาจากเทคโนโลยีแล้ว ระบบที่บีทีเอสและเอ็มอาร์ทีใช้ ไม่ได้เก่า ล้าสมัย หรือไม่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ปัญหาที่กำลังเกิดในขณะนี้น่าจะเกิดจากความไม่เข้าใจของผู้โดยสาร ตลอดจนพฤติกรรมการถือของเดินนำเข้าไป การเปลี่ยนตัวประตูเป็นนวมแบบญี่ปุ่นจึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ตราบเท่าที่ระบบตรวจจับ และพฤติกรรมการเดินผ่านยังเป็นแบบเดิม"

ผู้เชี่ยวชาญระบบราง ทิ้งท้ายว่า แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่ความผิดพลาดของเทคโนโลยี เป็นเรื่องพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเมื่อคนส่วนหนึ่งเห็นว่า ระบบที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม บีทีเอสก็อาจจะศึกษาเรียนรู้ระบบอื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับรถไฟฟ้าเส้นทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป