posttoday

อย่าให้รักทำลาย-รับฟังด้วยหัวใจ หนทางลดปัญหา"ฆ่าตัวตาย"

29 เมษายน 2560

ถอดบทเรียนการปัญหาฆ่าตัวตายในเมืองไทย ผ่านปากผู้เชี่ยวชาญเเละคนที่เคยคิดอยากจบชีวิตตัวเอง

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

สถิติการการฆ่าตัวตายล่าสุดของคนไทยจากข้อมูลโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เป็นเรื่องน่าห่วง เมื่อพบว่ามีคนฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 คน เท่ากับเฉลี่ยเดือนละประมาณ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

ที่น่าสนใจคือ การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์โดยเฉพาะความรัก ความหึงหวง จนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองมากที่สุดถึง 20% รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า

คำถามง่ายๆ แต่แก้ได้ยากคือ เราจะป้องกันและจัดการต้นเหตุของความตายนี้อย่างไร

ความรัก–ซึมเศร้า ปัญหาใหญ่สู่ความตาย

ความเศร้าเสียใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ที่ต้องเรียนรู้ก็คือวิธีรักษาเยียวยาความผิดหวังเพื่อให้จิตใจกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว

“คนอกหักครั้งแรกอาจจะเจ็บหนัก แต่ครั้งที่สองจะเริ่มเข้าใจ แต่มีบางคนที่สมานแผลใจไม่ได้ อาจจะด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น บาดแผลนั้นรุนแรงเกินไป มีความผูกพันกันสูงหรือดูแลจิตใจตัวเองไม่เป็นจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือเลือกจบชีวิตด้วยการทำร้ายตัวเอง” เสียงจาก นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคซึมเศร้า

นพ.ประภาส บอกว่า ในการศึกษาทางการแพทย์พบว่า สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายนั้นมาจาก “โรคซึมเศร้า” ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง การรักษานอกจากจะต้องได้รับยาเพื่อปรับระดับของสารเคมีแล้วยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาจิตใจของคนไข้ควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามในแง่ปฎิบัติพบว่า ผู้ป่วยหลายรายมักขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง บางรายเบื่อหน่ายที่จะต้องตกอยู่ในภาวะของคนป่วย หยุดยากะทันหันจนอาการกำเริบ ขณะที่บางรายไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรค

“ปัญหาสุขภาพจิตเหมือนตราบาป ไม่เหมือนโรคอื่น เป็นโรคหัวใจเรายังกล้าพูด กล้าเเลกเปลี่ยนกับคนอื่น แต่พอเป็นเรื่องสุขภาพจิต น้อยคนจะกล้าไปบอกเพื่อนๆ หรือคนอื่นว่า ผมกำลังพบจิตแพทย์อยู่”

สถิติการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเฉลี่ยนเดือนละ 350 รายจากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เป็นเพียงตัวเลขของผู้ที่ทำสำเร็จเท่านั้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกเคยประเมินไว้ว่า แท้จริงแล้ว มีคนพยายามฆ่าตัวตายราว 20 เท่าของคนที่ทำสำเร็จ ขณะเดียวกันยังมีการเปิดเผยว่าราว 75 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายทั้งหมด เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง และคนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงคือเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปีต้นๆ

อย่าให้รักทำลาย-รับฟังด้วยหัวใจ หนทางลดปัญหา"ฆ่าตัวตาย"

นพ.ประภาส บอกว่า การฆ่าตัวตายในเมืองไทยนั้นสะท้อนให้เห็นประเด็นสำคัญ 2 อย่างคือ ปัญหาระบบสุขภาพจิตและปัญหาทางด้านสังคม

“คนไทยยังมีความรู้ ความตระหนักในระบบปัญหาสุขภาพน้อย ขาดการรักษาอย่างถูกวิธีและมีความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังสะท้อนปัญหาด้านสังคม คนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ มีความเครียดง่าย จากสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เอาแค่บนท้องถนนก็เจอปัญหาทะเลาะวิวาทได้แทบทุกวัน”

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า วิธีลดปัญหาการฆ่าตัวตายต้องพัฒนาสังคมให้มีความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่ขาดไม่ได้คือจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่ต้องใส่ใจพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก

“จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์และปรัชญาชีวิต ต้องพัฒนาตั้งแต่การเลี้ยงดู ทำให้เขาเข้าใจ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีจิตสำนึกและเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ จัดการความผิดหวังของตัวเองได้อย่างถูกวิธี เห็นมิติของสังคมในภาพกว้าง ไม่ใช่ยึดติดตัวเองกับความรัก ความสัมพันธ์หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเท่านั้น”

อย่าให้รักทำลาย-รับฟังด้วยหัวใจ หนทางลดปัญหา"ฆ่าตัวตาย"

ปัญหาไม่สำคัญเท่ากับการรับฟังด้วยหัวใจ

ตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์ สมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เเนะนำว่า ทุกคนในสังคมสามารถลดปริมาณการฆ่าตัวตายได้ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี ใช้หัวใจฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ตัดสินเเละไม่สั่งสอน

“คนที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตาย คือคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวจากโลกใบนี้ เผชิญกับความทุกข์ด้วยตัวเอง สิ่งที่เราทำได้คือ ทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึก แม้กระทั่งความคิดอยากฆ่าตัวตาย ฟังโดยไม่ตัดสินว่าคุณคิดแบบนี้มันผิด คุณอ่อนแอไป แต่รับฟังให้เขาพรั่งพรูออกมา นี่คือวิธีการที่ดีที่สุด

“ถ้าไปบอกว่าคิดแบบนี้ได้ยังไง มันผิด เรื่องแค่นี้ทำไมต้องทุกข์ด้วย พูดแบบนี้เขาจะรู้สึกทันทีว่าเราไม่เข้าใจ รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจไม่เก่ง เรื่องนิดเดียวจัดการไม่ได้ ทำให้เขาไม่อยากคุยกับเราอีก เมื่อไหร่ที่เขาคุยแล้วเจอสถานการณ์แบบนี้มันยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่กล้าคุยกับใครอีกเลย เก็บทุกอย่างไว้ในใจ สะสมจนอาจเป็นกลายเป็นความตึงเครียดและนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง”

เบื้องหลังปัญหาของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน หนทางสู่ความสำเร็จของคนๆ หนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกคน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ การเป็นเสมือนกระจกเงาที่คอยสะท้อนและทำให้อารมณ์ของผู้เป็นทุกข์กลับมาอยู่ในภาวะปกติให้ได้

“หากเขากำลังเศร้าเพราะคนรัก อาจลองถามว่า เมื่อแฟนคุณไม่ดี เคยคิดไหมว่าจะยุติความสัมพันธ์ ถ้าเขาบอกว่าเคย ก็ลองถามต่อว่า ถ้ายุติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถามให้เขาเป็นคนคิดเอง ถ้าตอบว่า อ่อ..ถ้าเลิกหรอ คงรู้สึกโล่ง แล้วข้อเสียล่ะมีอะไรบ้าง เขาอาจจะบอกว่า คงมีปัญหาเรื่องเงินเพราะยังพึ่งพากันอยู่ คือทำตัวเป็นกระจกให้เขาสะท้อนความคิด ได้ตระหนักในหลายๆ แง่มุม ในที่สุดเขาจะเป็นคนชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเอง”

ตระการ บอกว่า หลักการของสมาคมฯ คือเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเพียงพอในการเผชิญหน้ากับปัญหาและสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง หากอยู่ในภาวะอารมณ์ปกติที่พร้อมจะเรียบเรียงความคิดเพื่อนำไปสู่ทางออก

“มนุษย์มีศักยภาพเพียงพอในการเผชิญหน้ากับปัญหาเเละสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ ตราบใดที่อารมณ์อยู่ในภาวะปกติ แต่หลายๆ ช่วงเขาอยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้สับสนและนึกอะไรไม่ออกจนเกิดอารมณ์ชั่ววูบ หน้าที่ของผู้ฟังคือ ทำให้ภาวะวิกฤตกลับสู่ความปกติ เมื่อนั้นเขาจะเริ่มเรียบเรียงและเผชิญปัญหาด้วยวิธีการของเขาเอง”

นายกสมาคมสะมาริตันส์ บอกว่า แต่ละปีมีคนที่ตกอยู่ในสภาวะความเศร้า โทรศัพท์เข้ามาระบายความทุกข์ถึง 1 หมื่นสาย โดยมีประมาณ 20% ที่ทุกข์มากถึงขนาดอยากจบชีวิตตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สังคมทุกวันนี้เป็นปัจเจกมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่ เต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวและอ่อนแอ ไร้การดูแลจากคนใกล้ชิด แตกต่างจากสมัยก่อนที่อยู่กันเป็นครอบครัว มีคนที่คอยรับฟังและดูแลมากกว่าปัจจุบัน

อย่าให้รักทำลาย-รับฟังด้วยหัวใจ หนทางลดปัญหา"ฆ่าตัวตาย"

อยากตาย เพราะไม่อยากรับรู้

นุ่น ณัฐพร หญิงสาววัย 27 ปีผู้เผชิญกับภาวะซึมเศร้าและอยู่ระหว่างรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่าอาการของเธอเริ่มจากภาวะกดดันภายในครอบครัว ความผิดหวังจากเพื่อนและคนรักอย่างแฟน ปัญหาใหญ่คือ ความเจ็บปวดที่คลี่คลายผ่านไปแล้วพร้อมกลับมาทำให้ชอกช้ำได้เสมอในยามที่ถูกกระตุ้นจากสถานการณ์รุนแรง

“คิดมากเรื่องที่บ้าน รู้สึกถูกบงการชีวิต กดดันไม่ได้เป็นตัวเอง ต้องฟังอย่างเดียว อ้าปากก็โดนหาว่าเถียง ฟังจนเก็บกด กลายเป็นคนที่แคร์คนสนิทมาก เวลาทะเลาะกับที่บ้าน อยากลืม แต่มันไม่ลืม บางครั้งคืนดีกันแล้วก็ยังไม่ลืม กับเพื่อนสนิท เราชอบเอาเรื่องเครียดของเพื่อนมาคิด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเหมือนอารมณ์คนแบกโลก เก็บมาคิดทุกอย่าง คิด คิด คิด  พอถึงเวลามีอะไรมากระทบกับจิตใจหนักๆ ก็จะเอาทุกอย่างมารวมกันหมด เป็นบ้า หาทางออกไม่ได้ คิดทำร้ายตัวเอง หนักเข้าก็คิดฆ่าตัวตาย”

อาการทำร้ายตัวเองของนุ่นก็คือ การใช้มือทุบศรีษะ กรีดข้อมือด้วยมีด เอาบุหรี่จี้แขนของตัวเองจนเป็นแผล

"เวลาทะเลาะกับแฟน ไม่มีที่ลง อยากทำเขาก็ทำไม่ลง ทุกครั้งที่ทำร้ายตัวเอง ในใจเราคิดว่า ไอ้... ทำไรไม่ได้อ่ะ ไม่มีใครเข้าใจ ทำไมวะ..ทำไม คิดว่าการทำร้าย เอาความเจ็บปวดมาลงกับตัวเองคือคำตอบทั้งที่ไม่ใช่ ทำไปแล้วก็ไม่รู้สึกดีขึ้น ถามว่ารู้ตัวไหม รู้ แต่ห้ามและควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้"

ครั้งหนึ่งเธอเคยเกือบตาย กินยาแก้เครียดที่หมอจ่ายให้กว่า 10 เม็ดหวังตัดปัญหาทุกอย่างลง

“มีปัญหาที่บ้านสะสมรู้สึกยกมันออกจากหัวไม่ได้ เล่าให้ใครฟังเป็นสิบเป็นร้อยก็เอาออกจากหัวไม่ได้ ทำไมวะ ทำไม ที่บ้านก็ไม่เข้าใจ พอมาทะเลาะกับแฟนอีก เลยรู้สึกอยากหลับไปเลย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องมารับรู้อะไร”

ปัจจุบันสาววัย 27 ปีคนนี้เลือกเข้ารับการรักษากับแพทย์ในปีที่ผ่านมา ทำให้อาการต่างๆ ของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จนกระทั่งล้มเลิกความตั้งใจฆ่าตัวตายทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง

โลกนี้ยังมีทางออกให้กับทุกความล้มเหลว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ขอเพียงทุกคนรู้จักยอมรับปัญหาของตัวเองเเละระบายมันออกมากับคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้หรือเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมรอรับฟังเสมอ