posttoday

กับดัก 4.0 หนทางฉุดรั้งการพัฒนาแรงงานไทย

27 เมษายน 2560

สิ่งที่น่ากังวลคือไทยยังเป็นประเทศ ที่มีการพัฒนาศึกษาวิจัยอยู่ในอันดับต่ำสุดในเอเชีย ไม่เหมือนสิงคโปร์ อินเดีย

โดย...วิรวินทร์ ศรีโหมด

แรงงาน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ก้าวหน้า ฉะนั้นในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ทุกประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคน ซึ่งจะใช้วิธีการรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปคงไม่ได้ แต่ต้องเพิ่มในเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ สติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์เข้ามาร่วมด้วย

นี่จึงเป็นประเด็นที่กระทรวงแรงงาน จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อเรื่อง “ May Day ความหวังของแรงงาน จาก Manpower สู่ Brainpower ” เพื่อเป็นเวทีวิพากษ์ถึงทิศทางและอนาคตของแรงงานไทยว่า ควรเดินอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกต้องพร้อมการเปลี่ยนแปลงจากแรงงานปกติ สู่ แรงงานที่ทำงานด้วยปัญญา เนื่องในโอกาสที่จะเข้าสู่วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม นี้

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า ในสังคมไทยแม้ปัจจุบันคำว่า 4.0 มีการกล่าวถึงกันมาก แต่ความเป็นจริงความเข้าใจเรื่องนี้ สำหรับภาคแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริง และการที่รัฐต้องการนำ 4.0 เข้ามาแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ส่วนตัวขอถามว่า ความเป็นจริงประเทศไทย มีการกระจายรายได้กันจริงหรือไม่ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของไทย อยู่กับกลุ่มคนเพียงไม่กี่ตระกูล

และอีกอย่างสิ่งที่น่ากังวลคือไทยยังเป็นประเทศ ที่มีการพัฒนาศึกษาวิจัยอยู่ในอันดับต่ำสุดในเอเชีย ไม่เหมือนสิงคโปร์ อินเดีย ที่ลงทุนในเรื่องการศึกษาวิจัยมาก ฉะนั้นมองว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา วิจัยให้เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิตอล 4.0 ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่วิจัยแล้วเก็บเป็นงานวิชาการหรือเกิดประโยชน์เฉพาะบุคคล

ดังนั้นการที่รัฐจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ก็ต้องคำนึกถึงประชาชนรายได้กลุ่มใหญ่ของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านแรงงานสอดคล้องกับระบบการที่จะพัฒนาอย่างแท้จริง

ณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอิสระ วิพากษ์ว่า โลกใหม่ในยุคศตวรรษนี้ถือ เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเครื่องจักร เทคโนโลยี หากเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งไทยจะเปลี่ยนแปลงแบบเดิมโดยยังคงผลิตด้วยแรงคนไม่ได้ เพราะคนไม่สามารถสู้กับแรงงานเครื่องจักรกล ที่รับคำสั่งทำตามโปรแกรมอยู่ตลอดเวลาได้

ทั้งนี้ยอมรับว่า งานวิจัยในประเทศไทยเก่งเทียบเท่ากับภูมิภาคอื่น แต่งานวิจัยของไทยยังทำเพื่อวิชาการและส่วนตัว ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อสังคมส่วนรวม เหมือนต่างประเทศ เช่นเยอรมันที่ทุกบริษัทจะมุ่งพัฒนาวิจัยเพื่อให้เกิดการแข่งขันและนำผลที่ได้มาใช้ประโยชน์ แต่ไทยไม่ยอมทำเช่นนั้น เพราะมัวแต่กลับสนับสนุนระบบธุรกิจผู้ขาด จึงทำให้งานวิจัยของไทยสู่ประเทศอื่นไม่ได้

"ยุคทศตวรรษที่ 21 นี้ ที่มีการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไทยต้องพร้อมรับการแข่งขันและสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพคนไทยให้ได้ ไม่ใช่นิยมแต่การไปซื้อเทคโนโลยีของประเทศอื่น เพราะเท่ากับว่ายิ่งเป็นการสร้างรายได้ และทรัพยากรให้กับต่างประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น"

ณรงค์ ชี้ว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไปพร้อมกับควรต้องได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ เพื่อให้อนาคตประเทศไทยสามารถสร้างเครื่องจักรได้ มากกว่าเป็นเพียงผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นประเทศไทย จะมีแต่หนี้สินเพราะต้องคอยซื้อของจากชาติอื่นอยู่ตลอด และถ้าหากประเทศไทยยังขายทรัพย์กรแรงงานถูกๆ เหมือนประเทศอื่นอยู่ ก็ไม่มีวันหลุดพ้นจะประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นทิศทางของไทย ไม่ควรพัฒนาเฉพาะเครื่องจักร แต่ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นประเทศผู้พัฒนาแรงงาน ทั้งด้านด้านฝีมือ ความสามารถ และสติปัญญา เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดและพัฒนาได้อยู่ตลอด

ชัยพร จันทนา ประธานองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐปล่อยให้ลูกจ้างต่อรองกับทุนข้ามชาติเพียงอย่างเดียว และไม่เคยส่งเสริมเรื่องการพัฒนา แต่กลับมีการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ฉะนั้นไทยแลนด์ 4.0 อยากร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือกลุ่มภาคแรงงานทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องการศึกษา ภาษา เพราะทุกวันนี้ในสังคมอยู่แบบเอารัดเอาเปรียบกัน เพราะทุกฝ่ายคิดแต่เพียงทำเพื่อหวังผลกำไรเท่านั้น ฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องการพัฒนาคน รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้างต้องช่วยกันพัฒนา ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไม่สามารถสู้กับชาติอื่นได้

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ในอีก 15 ปีข้างหน้า ฉะนั้นการปรับตัวจึงต้องทำให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ยุคโลกาภิวัฒน์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่วนตัวในฐานะผู้ที่เกี่ยวที่ทำงานด้านแรงงานคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงาน จะต้องปรับตัว โดยรัฐจะทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปฏิรูปกฎหมาย ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ส่วนภาคธุรกิจ นายจ้าง แรงงาน ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจและตัวเองให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่กำลังคนของประเทศ ต้องใช้สติปัญหา ความรู้ ความสามารถเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการทำงาน และความมั่นคงในการดำรงชีวิตไปพร้อมกัน

สุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงาน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการกำหนดกรอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาทิ ด้านความมั่นคง ด้านความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาศักยภาพของคน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม และการบริหารจัดการหน่วยงานรัฐ ซึ่งทั้งหมดกระทรวงแรงงานได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด พร้อมกับได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศระยะ 20 ปี ( ปี 2560 – 2579 ) เนื่องจากกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ต้องพัฒนากำลังคนของประเทศ