posttoday

"แชร์ลูกโซ่" เมื่อลาภก้อนใหญ่กลายเป็นคำลวงสู่หายนะ

20 เมษายน 2560

เปิดพฤติกรรมแชร์ลูกโซ่และวิธีการตัดตอนอาชญากรรมร้ายแรงทางเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาธุรกิจในลักษณะฉ้อโกงประชาชน โดยเฉพาะแชร์ลูกโซ่กลายเป็นประเด็นร้อนให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย

ไล่ตั้งแต่การลอยแพนักท่องเที่ยวกว่า 1,000 คนที่สนามบินสุวรรณภูมิของซินแสโชกุน กรณีแพทย์หญิงใช้ความสนิทสนมหลอกเอาเงินจากเพื่อนๆไปลงทุนในบริษัททัวร์ รวมถึงการร้องทุกข์จากประชาชนกว่า 50 ราย หลังถูกหลอกให้ร่วมลงทุนในเหมืองแร่ทองคำ มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งหมดกลายเป็นความกังวลว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อให้เห็นแทบทุกปี

จิตวิทยาสร้างความเชื่อมั่น-ไว้วางใจ กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย อธิบายคำจำกัดความของการฉ้อโกงประเภท "แชร์ลูกโซ่" ว่า เป็นลักษณะการเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมลงทุนโดยเสนอผลตอบแทนให้ คนที่เข้ามาร่วมหากสามารถหาสมาชิกเพิ่มได้ก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น

รูปแบบของธุรกิจลักษณะแชร์ลูกโซ่มีหลากหลาย เช่น สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ การลงทุนในตลาดหุ้น-ทองคำ สกุลเงินดิจิตอล การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเกษตร พูดง่ายๆว่ามีการพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลา

“รูปแบบการลงทุนนั้นไม่สำคัญเท่ากับการสร้างความน่าเชื่อถือ ทำยังไงให้คนเชื่อว่าธุรกิจนี้เป็นไปได้ มีเงินอยู่จริงและน่าลงทุน”

สามารถ ยอมรับว่า มิจฉาชีพเหล่านี้วางแผนเป็นอย่างดี ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะหลอกลวง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามแต่ลักษณะการลงทุน เช่น สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ เป้าหมายคือผู้สูงอายุและชาวบ้านต่างจังหวัด ถ้าเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น กลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ที่ติดกับโลกเทคโนโลยี อยากรวยเร็ว

“ความน่ากลัวในปัจจุบันคือ การใช้โซเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือเข้ามาหลอกล่อ สมัยก่อนผู้เสียหายท่านหนึ่งเคยเล่าว่า เกือบตกเป็นเหยื่อแม่ชม้อยซะแล้ว แต่เพราะรถติดจึงไปไม่ทัน โชคดีรอดมาได้ ผิดกับสมัยนี้ มีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ติดต่อโอนเงินกันได้ตลอด มิจฉาชีพหลายคนตั้งกลุ่มไลน์ดึงคนที่ไม่รู้จักเข้ามา มีกระบวนการแบ่งงานกันทำ หน้าม้า คนนึงคอยเชิดชู โน้มน้าว คนนึงสร้างความน่าเชื่อถือ อีกคนดัดแปลงข้อมูล เช่น สลิปเงิน ใส่ยอดสูงๆ แล้วโพสต์ลงไปในห้องไลน์ ไม่นานก็มีคนเชื่อ”

ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ฯ บอกว่า โดยทั่วไปเหยื่อจะเริ่มหลงกลเพราะความสงสัย เริ่มทดลองจ่ายเงินลงทุนในจำนวนหลักร้อยหรือหลักพัน เมื่อเห็นว่าได้ผลตอบแทนจริงก็จะเกิดความเชื่อถือ ไว้วางใจ ก่อนจะขยับจำนวนเงินเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“พอเห็นในไลน์ว่า มีคนได้เงินจริง จะเริ่มคิดแล้ว เฮ้ย..ลองหน่อย หย่อนเงินลงไปดู เช่น อ้างว่าได้ผลตอบแทน 10% ของเงินต้น หย่อนไป 1,000 บาทได้กลับมา 100 บาท เออได้จริงนี่หว่า เริ่มขยับเงินสูงขึ้นๆ เริ่มชักชวนคนรู้จักมาร่วมลงทุน แต่พอองค์กรมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายหาเงินมาจ่ายไม่ได้ ถึงทางตันก็กลายเป็นปัญหา”

"แชร์ลูกโซ่" เมื่อลาภก้อนใหญ่กลายเป็นคำลวงสู่หายนะ

 

"แชร์ลูกโซ่" เมื่อลาภก้อนใหญ่กลายเป็นคำลวงสู่หายนะ

สารพัดเล่ห์เหลี่ยม "ล่าเหยื่อ"

พิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) สคบ. รวบรวมรูปแบบแชร์ลูกโซ่ยอดฮิตที่สามารถดึงคนอยากรวยเข้ามาเป็นเหยื่อไว้ดังนี้ 

- แอบอ้างชื่อผู้มีอิทธิพล พยายามหว่านล้อมว่า ผู้มีอิทธิพลหรือคนดังคนนั้นสามารถเอื้อประโยชน์กับคนใดคนหนึ่งได้ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและเกิดความมั่นใจ

- ล็อกเป้ากลุ่มนักศึกษาเป็นเป้าหมาย พวกนี้อยากสบายและเชื่อใจคน มีการชักชวนในลักษณะใช้คนในกลุ่มอาจเป็นเพื่อนเฟซบุ๊กหรือไอดอล แชร์ข้อมูลรายได้ โชว์ความเป็นอยู่ที่หรูหรารายได้ดีท่องเที่ยวต่างประเทศโดยลักษณะธุรกิจจะแฝงด้วยการขายสินค้า แต่ไม่เน้นการขาย เน้นให้มีการจ่ายค่าสมาชิกและขยายเครือข่าย

- ใช้อัตราแลกเปลี่ยนดึงดูดใจ มีวิธีการเชิญชวนผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียให้คนมาร่วมลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยเสนอเงินปันผลให้ทุกเดือน ขณะเดียวกันหากผู้ลงทุนปรับสถานะตัวเองเป็นตัวแทน ชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนก็จะได้รับผลประโยชน์กลับคืน

- ใช้สินค้าเกษตรเป็นตัวล่อ เป็นการลงทุนในกองทุนสินค้าเกษตร มีการคืนเงินบางส่วนในระยะแรกๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนวางใจ และชักชวนผู้อื่นมาลงทุนด้วย เพราะเห็นประโยชน์จากผลตอบแทน เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น กองทุนนั้นก็ปิดตัวลงโดยไร้ผู้รับผิดชอบ สร้างความเดือดร้อนในการติดตามดำเนินคดี

- ขายฝันระดมทุนตั้งบริษัทเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นลักษณะบริษัทข้ามชาติ ด้วยการวางแผนธุรกิจระดมทุนแลกกับสิทธิในการถือหุ้นในบริษัท และอาจมีสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งสมาชิกสามารถซื้อได้ในราคาถูก แต่เป้าหมายที่นำมาชวนเชื่อคือการขายฝันว่าบริษัทมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากพอก็จะปิดตัวหนี

- ผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค อาศัยความเจ็บป่วยมาเป็นเครื่องมือหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ ซึ่งแชร์ลูกโซ่รูปแบบนี้ระบาดในพื้นที่ต่างจังหวัด

- อ้างศาสนาและการทำบุญ ใช้การทำบุญบังหน้า ได้ทั้งบุญและเงิน สร้างความน่าเชื่อถือโดยการติดตั้งป้ายโฆษณาแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนหรือคนมีชื่อเสียงในพื้นที่ว่าได้มาร่วมทำบุญ

- หากินในลักษณะทัวร์ท่องเที่ยว เป็นพฤติกรรมแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนควรระมัดระวัง ซึ่งกรณีซินแสโชกุนสะท้อนให้เห็นว่า การจูงใจในลักษณะการท่องเที่ยวในต่างประเทศนั้นกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก

- ซื้อขายประมูลทองคำ กรณีนี้เอาทองมาเป็นตัวล่อ เปิดโอกาสให้ทำสัญญาผ่อนทองในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เช่น ผ่อน 10 งวดในราคาเพียง 20,000 บาท ถูกกว่าท้องตลาดถึง 4,000 บาท หากสามารถหาเหยื่อรายอื่นมาผ่อนทองได้อีก ก็จะได้ทองเพิ่มอีก 1 เส้นทันที แต่เมื่อผ่อนไปถึงกำหนดเวลากลับไม่ได้อะไรเลย

พิฆเนศ บอกว่า เหตุผลใหญ่สำคัญที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อคือ ความเชื่อมั่นและภาวะเกรงใจจากคนใกล้ชิด ขณะที่ความโลภและภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือของผู้มีอิทธิพลหรือเหล่าคนดังนั้นเป็นส่วนประกอบตามมาภายหลัง

“คนใกล้ชิด มีความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นสำคัญมาก บางทีเชื่อใจ เกรงใจ อาศัยช่องนี้ในการขยายธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องความโลภอย่างเดียว ถ้าเป็นคนไม่รู้จักมาชวน ค่อนข้างยากมากที่เราจะยอม แต่ตัวคนใกล้ชิดพูดนี่ตัวดี เช่น พี่ชาย น้องสาว เพื่อนสนิท ญาติๆ นี่แหละ ‘โหย...ลองดิ กูได้มาแล้วนะมึง’ พวกนี้ตัวหลักเลย ขยายต่อกันเป็นช่วงๆ”

"แชร์ลูกโซ่" เมื่อลาภก้อนใหญ่กลายเป็นคำลวงสู่หายนะ

 

ประชาชนต้องตาสว่าง ภาครัฐต้องเข้มงวด

ปัญหาเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ หรือการฉ้อโกงประชาชน ถือเป็นภัยร้ายที่กำลังทำลายระบบเศรษฐกิจของสังคมและประชาชนในทุกระดับ นอกจากนั้นยังทำลายความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อการดำเนินธุรกิจขายตรงอื่นๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สามารถบอกว่า จากความเสียหายของการฉ้อโกงที่เกิดขึ้น ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อ 3.2 แสนรายชื่อ เสนอให้ทาง สนช. แก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดในฐานฉ้อโกงประชาชน ที่แต่เดิมมีอัตราโทษเพียงแค่ 3-5 ปีเป็น 7-14 ปี เพื่อทำให้มิจฉาชีพติดคุกอย่างต่ำ 50 ปี

“คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคดีนี้ 22 คน ตั้งแต่ 12,255-12,267 ปี แต่มิจฉาชีพติดจริงแค่ 20 ปี เพราะมีกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) ระบุว่าถ้าอัตราโทษไม่ถึง 10 ปี ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น เราจึงเสนอแก้กฎหมายให้มีอัตราโทษระหว่าง 7-14 ปี เพื่อให้ติดคุกอย่างน้อย 50 ปี”

อีกเรื่องที่ผู้ต่อต้านธุรกิจแชร์ลูกโซ่อยากผลักดันก็คือ ต้องการให้ภาครัฐมีหน่วยงานลักษณะ "One-Stop Service" บริการแบบเบ็ดเสร็จรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ทราบที่แจ้งความอย่างชัดเจน

“ไม่รู้จะไปแจ้งที่ไหน สถานีตำรวจ กองปราบปราม กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประชาชนไม่เข้าใจ ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ”

นอกจากนี้บทบาทของภาครัฐยังต้องมีกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายให้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวควรพัฒนาปฎิบัติการเชิงรุก สร้างการรับรู้ แสวงหาตรวจสอบและจับกุม ผู้กระทำความผิดที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงประชาชน ไม่รอให้เกิดความเสียหายจำนวนมหาศาลขึ้นก่อน

“อย่ารอให้ประชาชนไปหลงเชื่อ เกิดความเสียหายก่อนแล้วรัฐค่อยทำงาน สมมุติผมไปบอกเพื่อนว่า เฮ้ยบริษัทเอ มันผิดกฎหมายนะ เพื่อนที่มันเชื่อและลงทุนไปแล้วก็คงด่าผมว่า ไอ้บ้า มันได้เงินจริงๆ เว้ย มึงเห็นไหมเนี่ย กลายเป็นทะเลาะกันอีก เพราะงั้นมันไม่ควรเป็นหน้าที่ผมเป็นหลัก แต่มันควรเป็นหน้าที่รัฐในการมาบอกว่า บริษัทนี้มันผิดไหมและจัดการมันก่อนซะ”

สามารถ ทิ้งท้ายว่า ทุกคนสามารถผิดพลาดได้หมด สิ่งสำคัญคืออย่าเขินอาย เมื่อตกเป็นเหยื่อ กรุณาเข้ามาร้องทุกข์และทำหน้าที่ช่วยเหลือ ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อื่นต่อไป เพื่อตัดวงจรแชร์ลูกโซ่

“แชร์ลูกโซ่นั่นเป็นอาชญากรเลือดเย็น ฆ่าคนทั้งเป็นได้ อย่าหลงเชื่อเขาเด็ดขาด แม้เป็นข้อมูลจากคนใกล้ตัว หากไม่ชอบมาพากลหรือมีผลประโยชน์น่าสงสัย ขอให้ตั้งสติและตรวจสอบก่อนอย่างรอบคอบ”

ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารนั้นมีมากมายเเละเข้าถึงได้ไม่ยาก การตรวจสอบเเละเปรียบเทียบข้อมูล ลักษณะการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนผลตอบเเทน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเสียเวลาเพื่อจะได้ไม่ต้องน้ำตาตกในภายหลัง

"แชร์ลูกโซ่" เมื่อลาภก้อนใหญ่กลายเป็นคำลวงสู่หายนะ จุดจบของผู้ร่วมขบวนการคดียูฟันในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน