posttoday

เห็นผลทันตา จ่ายค่าปรับมากขึ้น

08 เมษายน 2560

หลังจากที่ คสช. ใช้มาตรา 44 ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายการจราจร 3 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือการเข้มงวดจ่ายค่าปรับตามใบสั่ง หากฝ่าฝืนจะมีผลต่อการต่อทะเบียนภาษีหรืออาจถึงขั้นถูกฟ้องศาล

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เมื่อ วันที่ 21 มี.ค. ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายการจราจร 3 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือการเข้มงวดจ่ายค่าปรับตามใบสั่ง หากฝ่าฝืนจะมีผลต่อการต่อทะเบียนภาษีหรืออาจถึงขั้นถูกฟ้องศาล

พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยว่า หลักคิดเรื่องนี้เพื่อต้องการให้เป็นผู้ขับขี่เปลี่ยนพฤติกรรมและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาสถิติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นทุกปี จนเมื่อปี 2559 ไทยติดอันดับประเทศที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากที่สุดของโลก

พล.ต.ท.วิทยา กล่าวว่า เหตุที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการออกใบสั่งและชำระค่าปรับ เนื่องจากแต่ละปีมีใบสั่งที่เจ้าพนักงานออกไปมากกว่า 1 ล้านใบไม่มีการชำระค่าปรับจำนวนมาก โดยปี 2559 มีการออกใบสั่งทั้งหมด 1,738,296 ใบ แต่มีผู้มารายงานตัวชำระค่าปรับเพียง 698,300 ใบเท่านั้น หรือคิดเป็น 60% ข้อหาที่พบมากที่สุด คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด รองลงมาไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า จากการประเมินกลุ่มใบสั่งที่มีการชำระน้อย คือใบสั่งจากการตรวจสอบทางกล้องและส่งสำเนาไปทางไปรษณีย์มากกว่าการตรวจยึดใบขับขี่จากเจ้าพนักงานโดยตรง เนื่องจากปัญหาอาจเกิดที่ใบสั่งไปไม่ถึงผู้ครอบครองรถ หรือบางครั้งเจ้าของเพิกเฉยไม่มาชำระค่าปรับ แต่เมื่อครบกำหนดต่อทะเบียนเสียภาษีกับดำเนินการได้ ทำให้ใบสั่งนั้นเป็นอันต้องหมดอายุความลงภายใน 1 ปี นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่ต้องขอแก้ไขกฎหมายการเรียกเก็บค่าปรับ

ทั้งนี้ เดิมทีนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลชำระค่าปรับคงค้างได้ ขณะนี้ได้ปลดล็อกเปิดให้สามารถตรวจสอบได้ในส่วนนี้ ผ่านระบบการตรวจสอบและระบบชำระค่าปรับเดียวกันทั่วประเทศจากผู้ปฏิบัติ 3 ฝ่าย คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ออกใบสั่ง ธนาคารกรุงไทยจะรับชำระค่าปรับ และกรมการขนส่งทางบก มีหน้าที่ตรวจสอบ ถ้าหากพบว่ายังไม่มีการชำระค่าปรับ สามารถยุติการต่อทะเบียนไว้ก่อนได้จนกว่าเจ้าของรถจะไปดำเนินการให้เสร็จถึงที่สิ้นสุด

ขณะเดียวกันในเรื่องมาตรการตัดคะแนนเป็นเรื่องเดิมที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2543 แต่ที่ผ่านมาได้ยุติการใช้ชั่วคราวสืบเนื่องจากประสบปัญหาในขั้นตอนบันทึกคะแนน และขณะนี้ได้ปรับปรุงและนำระบบนี้กลับมาใช้ร่วมกับใบสั่งปกติ หากเจ้าของรถถูกตัดคะแนนครบกำหนดจะต้องเข้ารับการอบรม หรือถูกพักใช้ใบอนุญาตตามระเบียบ สำหรับคะแนนที่ถูกหักมีตั้งแต่ 10, 20, 30 และ 40 คะแนนแล้วแต่ฐานความผิด

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยังเล่าว่าการแก้ปัญหาการตรวจจับจากการบันทึกภาพ ที่ผ่านมาพบว่าสามารถตรวจสอบได้เฉพาะรถยนต์ เพราะมีแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้าและหลังตัวรถ แต่กลุ่มรถจักรยานยนต์ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนจะอยู่ด้านหลัง ซึ่งการแก้ปัญหาเบื้องต้นจะใช้วิธีสกัดจับกุมหรือตั้งด่านและเปรียบเทียบปรับเต็มอัตรา

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีแผนเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนวางระบบกล้องตรวจจับสองทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเอกชนจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับ ซึ่งความคืบหน้าแผนโครงการดังกล่าวตอนนี้ผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แล้วกำลังอยู่ขั้นตอนของฝ่ายกฎหมาย

พล.ต.ท.วิทยา มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดที่ออกมาทำถูกทางแล้ว เนื่องจากพบว่าหลังมีคำสั่งมาตรา 44 มีผู้ที่ชำระค่าปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนและหลังวันที่ 21 มี.ค. 7 วัน คือ วันที่ 14-20 มี.ค. มีผู้ชำระค่าปรับทั้งสิ้น 7,888 ราย แต่หลังจากออกประกาศวันที่ 21-26 มี.ค. มีผู้มาชำระค่าปรับเพิ่มขึ้นรวม 13,782 ราย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากลุ่มผู้ที่ถูกใบสั่งก่อนหน้าวันที่ 21 มี.ค. ขณะนี้กฎหมายยังไม่สามารถบังคับย้อนหลังได้ จึงคิดว่าเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่พลเมืองดีทุกคนที่ต้องตระหนัก เพราะการจะให้ยกเลิกใบสั่งทั้งหมดก่อนหน้าเป็นเรื่องของกฎหมายซึ่งทำไม่ได้ แต่มาตรการที่จะดำเนินการเรียกเก็บค่าปรับกับใบสั่งที่ค้างอยู่ ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังหาทางว่าจะทำอย่างไร

เมื่อถามว่ามาตรการเข้มงวดที่ออกมาจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.ต.ท.วิทยา ระบุว่า คำสั่งนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อให้เจ้าพนักงานได้ค่าปรับมากขึ้น เพราะเงินรางวัลจากค่าปรับเป็นเพียงส่วนน้อยและมีเพดานจำกัดเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 330 บาท/คน/วัน หากนำมาเทียบกับเงินค่าล่วงเวลา การที่เจ้าหน้าที่ต้องตื่นแต่เช้าและกลับบ้านดึกเพื่อทำงานอำนวยความสะดวกประชาชน และต้องเผชิญฝุ่นละอองบนมลพิษบนท้องถนน มองว่าอย่างไรก็ไม่คุ้มค่า

พล.ต.ท.วิทยา ทิ้งท้ายว่า หากประชาชนเจอตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ไม่ถูกระเบียบ ควรใช้กล้องหน้ารถบันทึกภาพไว้ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายไม่กล้ากระทำผิดทั้งตำรวจและประชาชน