posttoday

ถอดบทเรียนไฟไหม้ห้างฟอร์จูน "ปฏิบัติตามกฎหมาย-ตรวจเช็คอุปกรณ์-ซ้อมรับมือ"

20 มีนาคม 2560

ถอดบทเรียนเพลิงไหม้ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคาร งานป้องกันและระงับอัคคีภัย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ข่าวใหญ่วันนี้หนีไม่พ้นเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กทม. บริเวณโซนพลาซ่า ซึ่งเป็นอาคารสูง 10 ชั้น ต้นเพลิงพร้อมกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากบริเวณชั้น 3 เจ้าหน้าที่ทำการฉีดควบคุมเพลิง และใช้เวลาไม่ถึง 30 นาทีก็สามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ไม่นานหลังเกิดเหตุ ศัลย์ มูลศาสตร์ ผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ อาคารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ เปิดเผยว่า จุดเกิดเหตุเป็นร้านขายเครื่องเสียงชื่อ"สวนเสียง" มีขนาดความกว้างประมาณ 20 ตารางเมตร ได้รับแจ้ง เวลาประมาณ 7.15 น. โดยเวลาดังกล่าวระบบดับเพลิงของตัวอาคารทำงานปกติ เมื่อตรวจพบกลุ่มควัน สปริงเกอร์ก็ทำงานทันที ต่อมาได้ประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงตัวอาคารเข้ามาทำการฉีดสกัดเพลิง และประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาร่วมอำนวยความสะดวกในการดับเพลิงจนสามารถควบคุมได้สำเร็จ

"พื้นที่เพลิงไหม้นั้นเสียหายเฉพาะบริเวณของร้านเครื่องเสียงไม่กระทบร้านใกล้เคียงคาดว่าช่วงบ่ายวันเดียวกันจะเปิดทำการในส่วนของร้านอื่นๆได้ตามปกติ"

พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รักษาการผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า การจัดการเพลิงไหม้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ได้น่ากลัวและอันตรายเท่ากับเชื้อเพลิงในกลุ่มสารเคมี ที่สำคัญโดยหลักการการก่อสร้างอาคารและตึกสูงในประเทศไทยถูกควบคุมด้วยกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบป้องกันอัคคีภัย กฎหมายกำหนดไว้ในระดับที่เพียงพอต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้อยู่แล้ว เพียงแต่จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของเจ้าของอาคารและผู้ตรวจสอบ

แนวทางป้องกันเหตุอัคคีภัยสำหรับตึกสูงนั้นมีระบุไว้อย่างชัดเจน เป็นลักษณะของการบอกว่าคุณต้องมีอุปกรณ์ในการจัดการหากเกิดเหตุฉุกเฉินยังไงบ้าง ต้องมีระบบสปริงเกอร์ ทางหนีไฟ เสียงสัญญาณเตือนเหตุ เครื่องตรวจจับควัน ระบบท่อ ลิฟท์ดับเพลิง เครื่องปั๊มน้ำ เป็นต้น พูดง่ายๆ กฎหมายควบคุมและบอกให้คุณมีระบบในการจัดการ แต่ระบบจะทำงานได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจสอบอาคารประจำปีว่าได้ไปตรวจสอบหรือเปล่าว่าอุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานได้หรือไม่ วางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆได้ถูกต้องแค่ไหน จัดการอุปสรรคที่อาจขัดขวางการทำงานได้มากน้อยเพียงไร สำหรับอาคารสูงถ้าอุปกรณ์ทุกอย่างได้มาตรฐาน อุบัติเหตุเพลิงไหม้มันไม่ลุกลามมากไปกว่าที่เกิดขึ้นเหตุภายในห้อง” พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ระบุ

ถอดบทเรียนไฟไหม้ห้างฟอร์จูน "ปฏิบัติตามกฎหมาย-ตรวจเช็คอุปกรณ์-ซ้อมรับมือ"

อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หัวหน้ารถกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า การจัดการพื้นที่โดยรอบอาคาร มีผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพไว้พร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝันถือเป็นเรื่องสำคัญในการลดความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้

“เพลิงไหม้ในอาคารสูง สิ่งที่น่ากังวัลคือ พื้นที่ในการปฎิบัติการ เนื่องจากสถานที่และอาคารหลายแห่งมักละเลยในการสร้างพื้นที่ฉุกเฉินไว้ ขณะเดียวกันอุปกรณ์ดับเพลิงภายในอาคารยังมักขาดการดูแล เช่น ลิฟท์ฉุกเฉินไม่ทำงาน สัญญาณและไฟฉุกเฉินแจ้งเตือนไม่ทั่วถึง สปริงเกอร์ไม่ทำงาน พวกนี้หลายแห่งปล่อยปละละเลย วัวหายล้อมคอก รอให้เกิดเหตุก่อนแล้วค่อยทำ”

อัญวุฒิ บอกว่า หากเจ้าของผู้ดูแลสถานที่ใส่ใจกับทีมรักษาความปลอดภัย มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานและเข้าถึงได้ง่าย หากถึงเวลาเกิดเพลิงไหม้ขึ้นก็จะสามารถจัดการปัญหาเบื้องต้นได้ดีและทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างรวดเร็ว

ถอดบทเรียนไฟไหม้ห้างฟอร์จูน "ปฏิบัติตามกฎหมาย-ตรวจเช็คอุปกรณ์-ซ้อมรับมือ"

ด้าน เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) บอกว่า หลักใหญ่ 4 ข้อในการกำจัดความเสี่ยงต้นเหตุที่อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่ประชาชนควรรู้คือ

จัดการความเสี่ยงด้วยตัวเอง

“ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดไฟไหม้ด้วยตัวเองก่อน โดยมีความรอบคอบในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์หรือสิ่งของต่างๆ ที่อาจเป็นเชื้อเพลิงและต้นเหตุเพลิงไหม้ได้”

ทางหนีทีไล่

“ตัวอย่างใกล้ตัวเช่น บ้าน ต้องมีหน้าต่างสัก 1 บาน ประตูหรือพื้นที่ที่สามารถเปิดออกได้ง่ายและเป็นที่รับรู้ของทุกคนในบ้าน ปัจจุบันหลายคนละเลย ต่อเติมบ้านเรือนอาคารสถานที่จนอาจเป็นอุปสรรคในยามฉุกเฉินได้”

ติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย

“เครื่องจับควัน เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งได้ง่ายมากในปัจจุบัน หากมีการติดตั้ง ตรวจเช็คเเละทดลองใช้อย่างสม่ำเสมอ ความปลอดภัยในสถานที่ก็จะมีมากขึ้น”

ซ้อม ซ้อม ซ้อม

“หลายคนมักละเลยหรือไม่ใส่ใจการร่วมซ้อมหนีไฟของบริษัท สถานประกอบการ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก”

เอนก ยืนยันว่า อาคารขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างภายหลังปี พ.ศ. 2535 ตัวอาคารจะสามารถผจญเพลิงได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว โดยมีกฎหมายบังคับ อย่างไรก็ตามเจ้าของอาคาร ผู้ประกอบการ พนักงานหรือผู้อยู่อาศัยต้องใส่ใจในการซ้อมและมีแผนรองรับหากเกิดเหตุ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกอาคารต้องปฎิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ตกอยู่ในความประมาท หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์จัดการเพลิงไหม้เเละซ้อมรับมืออยู่เสมอ