posttoday

ทางรอดผู้บริโภคมืออาชีพ ในยุคเทคโนโลยี

15 มีนาคม 2560

ควรเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบระบบคลังฐานข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์สินค้าได้

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

สังคมไทยปัจจุบันพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในทุกๆ ด้านตั้งแต่การทำงาน การดำรงชีวิต ซื้อของ รวมไปถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ให้จบบนเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียว แต่ทว่าประโยชน์มากมายที่ผู้บริโภคได้รับจากบริการที่สะดวกเหล่านี้ อีกด้านกลับมีปัญหาที่แฝงอยู่ เช่น การหลอกลวง ฉ้อโกง นี่จึงเป็นประเด็นที่เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันจัดเสวนา “เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไทยยุค 4.0” เพื่อเป็นขอแนะนำเตือนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี

สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิจัยอิสระ สะท้อนปัญหาว่า ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อโซเชียลมีเดียกว่า 38 ล้านคน หรือ 56% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเฟสบุ๊คยังคงเป็นสื่อออนไลน์ที่นิยมมากที่สุดถึง 41 ล้านยูสเซอร์ ส่วนปัญหาหลักที่พบจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ในกลุ่มยาอาหารเสริม และที่น่าตกใจพบว่าปี 2559 มีคนไทยเสียชีวิตจากการสั่งซื้อยาอาหารเสริมผ่านระบบนี้จำนวน 4 ราย และมีผู้ที่ประสบเหตุเช่นนี้อีกมาก

ขณะที่ปัญหาโดยตรงของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายบนโลกออนไลน์เป็นสินค้าจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ตราหน่วยงานรับรองคุณภาพยังมีการปลอมแปลง ประกอบกับการทำงานของหลายหน่วยงานที่ดูแล ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องรอทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันก่อนว่าสินค้าที่พบผิดกฎหมายหรือไม่ ก่อนจะดำเนินการตามกฎหมาย

ดังนั้น เบื้องต้นวิธีการป้องกันในผู้บริโภค อย.ควรเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบระบบคลังฐานข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์สินค้าได้ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนซื้อสินค้า แต่ปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ถูกจำกัดให้ใช้เพียงหน่วยงานเท่านั้น

รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมาก โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเฉลี่ยวันละเกือบ 10 ชั่วโมง แบ่งเป็นคอมพิวเตอร์ประมาณกว่า 6 ชั่วโมงและโทรศัพท์มือถือมากกว่า 3 ชั่วโมง หลักๆเพื่อการติดต่อสื่อสาร ส่งข้อมูล ทำธุรกรรมต่างๆ 

สำหรับเหตุผลที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้เทคโนโลยีทำธุรกรรมมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่ามีความสะดวก มีบริการส่งถึงบ้าน มีร้านให้เลือกจำนวนมาก และซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าซื้อหน้าร้าน ทำให้ปัจจุบันการตลาดบนสื่อออนไลน์มีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี

รศ.วิทยา กล่าวว่า การป้องกันสิทธิของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ทุกครั้งควรเก็บใบเสร็จการโอนเงินไว้ เพราะถ้าหากถูกโกงสามารถเรียกร้องได้ทันทีซึ่งมีผลทางคดี 3 เดือนนับจากวันเกิดเหตุ แต่คิดว่าทางป้องกันดีที่สุดในเบื้องต้น ผู้บริโภคก็ควรตรวจสอบประวัติผู้ที่ทำธุรกรรมก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันในระดับหนึ่ง แต่คิดว่าไม่ควรเห็นกับสินค้าราคาถูกหรือแพงเกินไปเพราะถ้าหากมีปัญหาเกิดขึ้น อาจไม่คุ้มค่ากับผลที่ตามมา

จินตนา ศรีนุเดช ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า กล่าวว่า การเป็นผู้บริโภคมืออาชีพต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีทุกอย่างที่มี 2.ไม่ควรเชื่อข้อมูลจากแบรนด์สินค้าโดยทันที แต่ควรเชื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้บนอินเทอร์เน็ต และการร้องเรียน 3.หากประสบปัญหาต้องกล้าร้องเรียนเพื่อเป็นผู้นำ ให้กับผู้บริโภคคนอื่นที่ไม่ได้รับความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรหน่วยงานรัฐก็ควรสร้างกลไกมาดูแลคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภคอย่างแท้จริงและให้ภาคประชาชนมีส่วนผลักดัน

ปฏิวัติ เฉลิมชาติ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคประสบปัญหาจากการรู้ไม่ทันการใช้เทคโนโลยีมาก เช่น แชร์ข้อมูลลงไปโดยที่ไม่ได้ไตร่ตรอง ตรงนี้จะเป็นช่องทางทำให้ผู้ประกอบการนำมาโต้ตอบผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นแนะนำว่าผู้บริโภคต้องมีสติก่อนที่จะแชร์ข้อมูลลงไปบนสื่อออไลน์ เพื่อไม่ทำให้การเรียกร้องสิทธิได้รับผลกระทบ

ขณะที่การทำงานของหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค ที่ผ่านมายังคงล้าช้าจึงอยากให้ปรับปรุงการทำงานให้รวดเร็ว เช่น การฟ้องร้องควรฟ้องแทนประชาชนผู้เสียหายจริงๆ ไม่ใช่ให้แต่เพียงคำแนะนำและปล่อยให้ผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องเอง

และสิ่งสำคัญที่อยากให้มีการปฏิรูปหน่วยหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคตอนนี้ ซึ่งมีความหลากหลายมากเกินไปถึง 7 หน่วยงานหลัก เช่น ถ้าหากต้องการร้องเรียนเรื่องยาต้องไป อย. ปัญหาจากการใช้รถต้องไปร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และปัญหาจากการใช้โทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตต้องไปสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอยากให้ ตั้งหน่วยงานมาดูแลคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงเพียงแห่งเดียว เช่น ที่ภาคประชาชนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมา แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ไม่มีความเป็นอิสระตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ที่อาจเข้ามาแทรกแซงได้

ดังนั้นภาคประชาชนขอแสดงจุดยืนคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว และเห็นควรทำให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอิสระจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถทำงานไม่เต็มที่ ไม่เช่นนั้นผู้เสียผลประโยชน์ก็ยังคงตกอยู่กับผู้บริโภคต่อไป เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

 

ทางรอดผู้บริโภคมืออาชีพ  ในยุคเทคโนโลยี