posttoday

ไขปมผู้ปกครองกระเป๋าหนัก ยอมควักค่าเทอมอนุบาลแพงลิ่ว

13 มีนาคม 2560

ผู้ปกครองที่มีรายได้สูงมองว่าโรงเรียนเอกชนนั้นสามารถตอบสนองความต้องการที่คาดหวังจากโรงเรียนได้

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

จากการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าเทอมในกลุ่มโรงเรียนอนุบาลเอกชน ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง ทำให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ พระราม 4 ค่าเทอมแรกเข้า 6.3 หมื่นบาท เทอมต่อไป 4 หมื่นบาท โรงเรียนแสงโสม ประชาชื่น ค่าแรกเข้า 5,000 บาท บวกค่าเทอม 4.1 หมื่นบาท โรงเรียนเพลินพัฒนา ทวีวัฒนา ค่าแรกเข้า 6.5 หมื่นบาท ค่าเทอม 1.3 แสนบาท/ปี ไม่รวมค่าเครื่องแบบ โรงเรียนรุ่งอรุณ บางขุนเทียน ค่าเทอมแรกเข้า 6 หมื่นบาท เทอมต่อไป 3.2 หมื่นบาท เรียน 3 เทอม โรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า เพชรเกษม ค่าแรกเข้า 9,000 บาท หลักสูตรแบบบูรณาการค่าเทอม 6 หมื่นบาท หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม ค่าเทอม 9 หมื่นบาท โรงเรียนสาธิตพัฒนา คลองสามวา ค่าเทอมบวกค่าแรกเข้า 7 หมื่นบาท ฯลฯ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น

ทั้งหมดทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมผู้ปกครองจึงยอมควักกระเป๋าแบกภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ข้อมูลที่เคยมีการรวบรวมไว้ระบุว่า ประชากรที่มีรายได้สูงนั้นใช้บริการโรงเรียนเอกชนเป็นหลัก ขณะที่รายได้น้อยพึ่งพาโรงเรียนของรัฐ เรื่องนี้แยกกันอย่างชัดเจน เพราะผู้ปกครองที่มีรายได้สูงมองว่าโรงเรียนเอกชนนั้นสามารถตอบสนองความต้องการที่คาดหวังจากโรงเรียนได้

คุณภาพการศึกษาที่ดีจากโรงเรียนอนุบาลเอกชน เกิดจากความคาดหวังว่าเด็กจะมีพื้นฐานที่ดีจนมีความสามารถมากพอที่จะสอบเข้าชั้นประถมปีที่ 1 หรือในระดับที่สูงขึ้นๆ ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และแนวคิดนี้นี่เองที่ทำให้มีโรงเรียนอนุบาลเอกชนค่าเล่าเรียนสูงลิบ ตั้งขึ้นหรือบริหารจัดการจากทีมงานที่เคยอยู่ในกลุ่มโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาก่อนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

“ยกตัวอย่างโรงเรียนสาธิตพัฒนา ซึ่งยกทีมบริหารมาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาทั้งทีม ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กที่เข้ามาเรียนสามารถสอบเข้าสาธิตจุฬาฯ ได้ ผู้ปกครองจะพูดต่อๆ กันว่าเรียนที่นี่แล้วจะได้เรียนสาธิตจุฬาฯ เราจึงได้เห็นภาพวันเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ มีผู้ปกครองมาปักหลักจองคิวกันข้ามคืน ถึงขนาดกางเต็นท์นอนหน้าโรงเรียนล่วงหน้าสามวันห้าวัน มีการจัดคิวจอง มีเงินอย่างเดียวเรียนไม่ได้ ต้องมีความอุตสาหะด้วย ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนทั้งภาพการแข่งขันและตอบคำถามว่า ทำไมผู้ปกครองยอมจ่ายเงินค่าเทอมแพงลิบที่ชัดเจน”

ไกรยส กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกำลังเป็นค่านิยมเฉพาะกลุ่มของผู้ปกครองมีรายได้สูง ที่มีความพร้อมในการจ่ายเงิน ประกอบกับโรงเรียนในกลุ่มนี้มักจะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญๆ ของกรุงเทพมหานคร หรือบนเนื้อที่ทำเลที่เดินทางสะดวก มีระบบการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ปกครองกลุ่มนี้ แต่การแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลกลุ่มนี้ก็ยังถือว่าเป็นคนละกลุ่มกับผู้ปกครองที่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาติชั้นนำที่ต้องจ่ายค่าเรียนปีละนับล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐ ศาสตร์การศึกษา สสค. ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตามในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก เพราะไม่มีการสอบวัดมาตรฐานความรู้ของเด็ก และยังเด็กเกินไปที่จะชี้วัดอะไรได้ การชี้วัดกรณีเดียวที่มีจึงหมายถึง เด็กอนุบาลคนนั้นๆ จะสอบเข้าชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนชั้นนำในสถาบันใดได้

“สอบเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนดังที่ไหนได้จะเป็นผลลัพธ์ที่ชี้ชัดและเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ปกครองยอมจ่ายค่าเทอมอย่างไม่อั้น ทั้งหมดฟังดูเหมือนความพยายามซื้อความสำเร็จที่จะหาได้จากสถาบันการศึกษาชั้นนำ ทั้งหมดเป็นแรงจูงใจเดียวกันของผู้ปกครอง”ไกรยส กล่าว และระบุด้วยว่า ความต้องการที่สูงกว่าจำนวนเก้าอี้ที่จะสามารถรองรับได้นี่เอง ที่จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันในทางที่ผิด เพราะเด็กอนุบาลกลุ่มนี้จะต้องถูกวัดความรู้ด้วยความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ทั้งๆ ที่เด็กในวัย 5-6 ขวบ ไม่ควรที่จะถูกคาดหวังให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ควรเรียนผ่านการเล่น เรียนทักษะเชิงพัฒนา ทักษะเชิงพฤติกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในวัยนี้ ไม่ใช่ต้องเรียนทักษะเชิงวิชาการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแข่งขัน

“หากไปดูข้อสอบเข้า ป.1 ก็จะเห็นได้ทันทีว่าข้อสอบกำลังวัดอะไรจากเด็ก ซึ่งเป็นการวัดเกินหลักสูตร วัดเกินพัฒนาการ ซึ่งจะมีเด็กที่ทำไม่ได้และถูกคัดออก กรณีนี้จะไม่ยุติธรรมกับเด็กที่ยังไม่มีพัฒนาการให้รองรับข้อสอบ และเป็นปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำของคุณภาพระหว่างสถานศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาในประเทศไทย คุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมจะมีผลกระทบต่อการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ผลกระทบต่ออนาคต ซึ่งหมายถึงหลักประกันด้านความสำเร็จในชีวิตที่มากเกินไป ทั้งหมดย้อนกลับมาผลักดันให้ผู้ปกครองต้องดิ้นรนจ่ายค่าเล่าเรียนอนุบาลที่สูงลิ่ว อยู่ในวงจรนี้อย่างเต็มใจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ระบุทิ้งท้าย