posttoday

เซฟตี้โซนชายแดนใต้ ดาบสองคม เสี่ยงรุนแรง

07 มีนาคม 2560

เส้นทางสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มคืบหน้า หลังการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมาราปัตตานี จนได้ข้อสรุปที่จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเซฟตี้โซนใน 5 อำเภอ 3 จังหวัด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสันติสุขในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้เริ่มคืบหน้า หลังการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมาราปัตตานีล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา จนได้ข้อสรุปที่จะกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเซฟตี้โซนใน 5 อำเภอ 3 จังหวัด  ซึ่งแต่ละฝ่ายไปพูดคุยในรูปแบบ รายละเอียดพร้อมตั้งคณะทำงานจากภาคประชาสังคมรวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อไป

ท่ามกลางเสียงสะท้อนว่าข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย 5 อำเภอนี้ เป็น  "ดาบสองคม" ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย

ด้านหนึ่ง หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นจุดเริ่มต้นช่วยคลี่คลายสลายความ ขัดแย้งในพื้นที่ที่สะสมมายาวนาน ต่อเนื่อง แต่ถ้าทำไม่สำเร็จย่อมสะท้อนสภาพปัญหาในเชิงศักยภาพของกลุ่มมาราปัตตานีที่ไม่อาจควบคุมกลุ่มอื่นๆ จนเกิดการแตกแถวออกมาก่อเหตุท้าทายข้อตกลงที่มี แต่จะทำให้สถานการณ์บานปลายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

แนวคิดเรื่องการกำหนด "เซฟตี้โซน" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทางฝ่ายไทยพยายามผลักดันมาตั้งแต่เริ่มต้นหาทางเจรจาสันติสุขปี 2556 แต่ก็เป็นได้เพียงแค่ข้อเสนอ ที่ไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันได้

ในมุมของฝั่งไทยการเจรจาทำ ข้อตกลงเซฟตี้โซนถือว่ามีความสำคัญในหลายด้าน

ประการแรก เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ แม้จะไม่สามารถสลายความขัดแย้งความรุนแรงในพื้นที่ให้หมดไปจากพื้นที่ได้ แต่อย่างน้อยการควบคุม ตีกรอบความรุนแรงไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้างถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

ที่สำคัญการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเจาะจงไปยังพื้นที่เศรษฐกิจหรือพื้นที่ใจกลางเมืองนั้น ยังช่วยบรรเทาความหวาดวิตก รวมทั้งสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนและนักลงทุนทั้งในและนอกพื้นที่

นี่จะเป็นหลักประกันการสร้างความมั่นใจที่จะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่กลับมาเดินหน้าไปตามกลไก ไปจนถึงสามารถขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต หลังจากที่นักลงทุนนักธุรกิจขาดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนหรือประกอบธุรกิจจนหลายพื้นที่มีปัญหาซบเซารุนแรง

จากเดิมทางฝั่งไทยพยายามกำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนไว้ 7 พื้นที่ รวม 4 จังหวัด ครอบคลุม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่สุดท้ายผลจากการเจรจาล่าสุด ได้ขยายข้อเสนอจากที่ทางไทยเคยเสนอพื้นที่ปลอดภัยนำร่องไว้ก่อนหน้านี้ใน 2 อำเภอ มาเป็น 5 อำเภอ ได้แก่ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้แก่ สุไหงโก-ลก กับเจาะไอร้อง พื้นที่ 2 อำเภอของ จ.ยะลา ได้แก่พื้นที่ อ.รามัน กับ  อ.บันนังสะตา และ 1 อำเภอ ใน จ.ปัตตานี ได้แก่ อ.สายบุรี

ประการที่สอง การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยรอบนี้ยังสามารถช่วยพิสูจน์ตัวตนและศักยภาพของกลุ่มผู้เห็นต่างที่มารับหน้าที่เป็นกลุ่มเจรจาในนามกลุ่มมาราปัตตานีว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง หรือมีประสิทธิภาพทำตามข้อตกลงได้มากน้อยแค่ไหน

อย่าลืมว่าความพยายามกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องนานหลายปี แต่ก็ยังไม่อาจทำได้สำเร็จชัดเจน ด้วย "เงื่อนไข" ที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจเห็นพ้องและดำเนินการได้อย่างที่ตกลงกัน

โดยเฉพาะกับข้อเรียกร้องของฝั่ง ผู้เห็นต่างที่ต้องการให้ยกเบิกหมายจับหรือไม่ดำเนินคดีกับแกนนำคนสำคัญ ด้วยการอ้างว่าเพื่ออิสระในการประสานงานกับคนอื่นๆ ในพื่นที่ รวมทั้งประกาศให้กลุ่มมาราปัตตานีเป็นกลุ่มเจรจาหลัก

ทว่า เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังสุ่มเสี่ยงเกินไปที่ฝั่งไทยจะยอมรับทั้งเรื่องไม่ดำเนินคดีกับแกนนำและการประกาศให้กลุ่มมาราปัตตานีเป็นกลุ่มเจรจาหลัก เพราะไม่ต้องการยกระดับความสำคัญของทางกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่แรงกระเพื่อมหรือการออกมาเคลื่อนไหว ก่อเหตุของกลุ่มอื่นๆ เพื่อแสดงศักยภาพของตัวเอง

ประการที่สาม หากเซฟตี้โซนเกิดขึ้นได้จริงนี่จะถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทางฝ่ายไทยสามารถคลี่คลายปัญหาความรุนแรงได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด หลังจากเดินหน้าเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาในระยะหลัง

แต่จะเห็นว่าหลังมีข้อตกลงเซฟตี้โซนแล้ว ก็ยังปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ประปรายแม้จะอยู่นอกพื้นที่เซฟตี้โซนก็ตาม ไม่ว่าจะทำร้ายประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เหตุปล้นรถกระบะและฆ่าเจ้าทรัพย์ก่อนนำรถกระบะไปประกอบระเบิด และเหตุลอบยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจนภรรยาและลูกเสียชีวิต 4 คน  ที่ อ.รือเสาะ รวมถึงเหตุลอบยิงทหารเสียชีวิต 3 นาย ที่ อ.มายอ

ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มมาราปัตตานียังไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพราะฝั่งไทยไม่ขานรับข้อเสนอ หรือเป็นเพราะยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอิสระนอกเหนือการควบคุมได้

อีกส่วนสะท้อนให้เห็นว่าเส้นทางสันติภาพนับจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คาดหวัง  จะเห็นว่ารอบนี้เจ้าหน้าที่ดูจะตั้งใจทุ่มเทสรรพกำลังลงไปแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการตั้ง พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

เรื่อยมาจนถึงการวางตัว พล.ท. ปิยวัฒน์ นาควานิช มารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีความชำนาญด้านการข่าว เป็นที่ยอมรับในฝีไม้ลายมือ และเชื่อว่าจะนำเอาประสบการณ์มาควบคุมดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น

แต่หากข้อตกลงเซฟตี้โซนรอบนี้ไม่อาจเดินหน้าไปถึงฝั่งฝันได้ นอกจากจะตอกย้ำสภาพปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้แล้ว ดีไม่ดีนี่จะเป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม