posttoday

หลากมุมมอง "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกหรือเพิ่มนักสูบหน้าใหม่

17 มกราคม 2560

ฟังความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้สูบบุหรี่เกี่ยวกับ"บุหรี่ไฟฟ้า"

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

"บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สูบมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกใหม่ที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทั้งยังเป็นเครื่องมือทำให้คนเลิกบุหรี่ง่ายขึ้น อีกฝ่ายคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมาก เป็นตัวการให้เกิดผู้เสพหน้าใหม่โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน  

บุหรี่ไฟฟ้า=เพิ่มผู้สูบหน้าใหม่?

ในงานเสวนา เรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด" โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แพทย์หลายคนระบุตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตราย ถึงแม้จะไม่เทียบเท่ากับบุหรี่แบบปกติ รวมทั้งยังไม่มีรายงานผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าพึ่งเกิดขึ้นมาเพียง 10 ปี อย่างไรก็ตามถือว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มผู้เสพหน้าใหม่ และเพิ่มโอกาสให้เสพติดสารชนิดอื่นมากขึ้น

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อมูลจากเอกสาร THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young  Adults จากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้  ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจและทันสมัย ปรุงรสชาติต่างๆ ได้ รวมถึงเหตุผลด้านความอยากรู้ อยากเห็น อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าละอองฝอยปลอดภัยเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ อีกทั้งอุตสาหกรรมยาสูบได้ใช้เทคนิคที่ล่อตาล่อใจ ทำให้วัยรุ่นสหรัฐฯมีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว 

"จริงๆการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษต่างๆเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเสพติดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสมองและระบบประสาท ทำให้มีโอกาสติดง่าย ติดทนและติดนาน"

นพ.สุริยเดว บอกว่า ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ยังคงมีการติดตามอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งองค์การอาหารและยา (อย.) ระบุว่า สารที่ก่อให้เกิดละอองฝอยในบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอาหารเพื่อรสชาติ สีสัน และใช้ในการผลิตยาหรือเวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์  หากสัมผัสในระยะสั้นก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา  ส่วนระยะยาวจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น

ผ.อ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวฯ บอกด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่ แต่เป็นจุดเริ่มตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นในเด็กและเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบทำให้สร้างความยั่วยวนใจให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสในวงกว้างในหมู่วัยรุ่นอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งยังขาดความรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต  

"คำถามคือ เราใช้มันเพื่อ 'เลิก' หรือเพื่อ 'เริ่ม'บุหรี่กันแน่ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดบุหรี่ปกติ และอาจนำไปสู่การใส่สารเสพติดอื่นๆ ในอุปกรณ์นั้นได้ด้วย”

หลากมุมมอง "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกหรือเพิ่มนักสูบหน้าใหม่

กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  เผยว่า ผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี  ปี 2558 พบว่า เยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 ส่วนเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2557 ผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทยมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย  

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2558 กรณีพบผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือให้บริการเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งนำเข้ามาขาย ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 

นอกจากนี้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 7 (COP7) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-12 พ.ย. 2559 ณ ประเทศอินเดีย มีมติร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศภาคี 180 ประเทศ ให้ความสำคัญและดำเนินการออกกฎเกณฑ์มาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเร็ว 

หลากมุมมอง "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกหรือเพิ่มนักสูบหน้าใหม่

คำลวงโลกของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆทั่วโลก 55 ประเทศ มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ ขณะที่ 17 ประเทศ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง และ 4 ประเทศที่กำหนดว่าภาชนะบรรจุนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษ ทั้งนี้ 4 ประเทศในอาเซียนคือ บรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ได้ประกาศห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

ปัจจุบัน บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ลงทุนในบุหรี่ไฟฟ้า อย่างบริษัทฟิลิป มอริส ได้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อ “iQQS” บริติช อเมริกัน โทแบคโค ผลิตยี่ห้อ “Vype EPe” บริษัท japan tobacco international ผลิตยี่ห้อ “E-lites” และ “Ploom tech” และบริษัท Imperial Group ผลิตยี่ห้อ “Puritane”

“บริษัทเหล่านี้มียอดจำหน่ายบุหรี่ปกติลดลงอย่างมากในช่วงหลัง ทำให้พวกเขาเลือกสร้างโฆษณาและวาทกรรมชวนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และจัดเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ โดยมีองค์กรล็อบบี้ยิสต์ คือ Factasia.org และนักวิจัยตะวันตกหลายคนได้สนับสนุนให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่มีข้อมูลยืนยันจากองค์กรอนามัยโลกว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดจากสารพิษ และไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในเรื่องประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ แต่กลับพบว่าควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะมีสารเฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 15 เท่าของบุหรี่ทั่วไป”

ผศ.ดร.ลักขณา ย้ำหนักแน่นว่า คำกล่าวอ้างใดๆของบริษัทบุหรี่เป็นเพียงการดิ้นเฮือกซึ่งต้องการค้ากำไรบนความตายของผู้บริโภคเท่านั้น

หลากมุมมอง "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกหรือเพิ่มนักสูบหน้าใหม่

รู้ว่าอันตราย แต่ขอเลือกเอง 

“บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย ทุกคนทราบ เรายอมรับ แต่มันอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ซึ่งเรามองว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่าของคนที่ติดนิโคติน และคนรอบข้างที่ไม่สูบบุหรี่จะไม่ได้รับความเดือดร้อนจากควันมือสอง”  มาริษ กรัณยวัฒน์ แกนนำกลุ่มบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร ยืนยันหนักแน่น

มาริษ บอกว่า นอกจากผลกระทบที่น้อยลงของคนรอบข้างแล้ว ผู้สูบเองยังลดโอกาสเจ็บป่วยจากโรคภัยที่เกิดจากบุหรี่ปกติลง โดยทางกลุ่มได้ศึกษาอ่านงานวิจัยจากสถาบันและองค์กรระดับโลกหลายแห่งเช่นกัน อาทิ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ สถาบันสุขภาพเเละการวิจัยทางการเเพทย์เเห่งชาติประเทศฝรั่งเศส ต่างยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนทั่วไป เพราะไม่มีการเผาไหม้ เเละเป็นตัวช่วยในการเลิกหรือลดบุหรี่ได้อีกด้วยด้วย

“เอกสารหลายอย่างที่มูลนิธิและกลุ่มต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง เป็นข้อมูลเก่าหรือถูกหยิบขึ้นมานำเสนอเพียงแค่ส่วนเดียว ตัวอย่างเช่น ควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะมีสารเฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 15 เท่าของบุหรี่ทั่วไปนั้น เป็นการยกอ้างงานวิจัยเก่าของญี่ปุ่นเมื่อ 5-6 ปีก่อน ปัจจุบันถูกหักล้างไปแล้ว ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน อุปกรณ์พัฒนาขึ้นมาก ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับสากล ทำให้สารเฟอร์มาลดีไฮด์ลดน้อยลงหรือจำกัดได้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง” 

มาริษ ยืนยันว่า ผลวิจัยจำนวนมากก็ยืนยันเเล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ปกติถึง 95 % สามารถช่วยให้ผู้สูบสามารถเลิกบุหรี่มวนได้ ขณะที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือเอฟดีเอ (FDA) ก็ได้ออกกฎระเบียบเข้มงวดมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยป้องกันเด็กเเละให้ข้อมูลที่ถูกต้องเเก่ผู้ใหญ่ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่ได้แสดงความต้องการแบนเหมือนในประเทศไทย

หลากมุมมอง "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้เลิกหรือเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ ภาพจากเพจ บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร

ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายควบคุมง่ายกว่า

เป้าหมายในการออกมาเรียกร้องของกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ต้องการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ เพียงแต่ต้องการให้เกิดการควบคุมดูแลการใช้งานอย่างถูกต้อง ไม่ปิดกั้นหรือแบนอุปกรณ์ที่พวกเขาเห็นว่า อันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบปกติมาก

“ไม่ได้เรียกร้องให้คนมาสูบ แต่เรียกร้องให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้สามารถบังคับใช้อย่างถูกต้อง ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำกัดไม่ให้เยาวชนเข้าถึง หรือนำไปใช้งานในทางที่ผิดและแม้แต่สูบในที่สาธารณะจนกระทบต่อคนรอบข้าง ว่าไปแล้วเป้าหมายของพวกเราก็เหมือนกับภาครัฐที่ต้องการช่วยให้คนมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพในระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” 

มาริษ บอกว่า ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนคือการไม่สูบบุหรี่เลย แต่ถ้าคุณเลือกเสพนิโคตินและติดมันเสียแล้ว ทางที่ดีกว่าสำหรับผู้เสพติดก็คือ บุหรี่ไฟฟ้า

"ในเมื่อยังเลือกที่จะสูบสารนิโคตินอยู่ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร เราก็ต้องเลือกให้มันปลอดภัยต่อตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ในอดีตมีวาทกรรมของสาธารณสุขที่พูดว่า บุหรี่จะนำไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่น ผมสงสัยว่าทำไมมาโยนประโยคดังกล่าวให้กับบุหรี่ไฟฟ้าเสียแล้ว ทั้งๆ ที่บทบาทของบุหรี่แบบปกติก็ยังคงมีอยู่"

หนุ่มรายนี้ทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลมีกฎหมายรองรับบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากจะสามารถควบคุมดูแลการใช้งานได้แล้ว ในมุมเศรษฐกิจยังเชื่อว่าด้วยศักยภาพของคนในประเทศไทยมีมากพอในการผลิตอุปกรณ์และส่งออกเหมือนที่ประเทศมาเลเซียทำอีกด้วย 

“จริงๆ ไม่ต้องอ้างงานวิจัยให้มากมาย เอาแค่ตอบคำถามที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนอันไหนปลอดภัยกว่ากัน  ทำไมของที่อันตรายกว่าถึงถูกกฎหมาย ในเมื่อห่วงใยสุขภาพประชาชนมาก ทำไมถึงไม่ให้โอกาสเราใช้ของที่อันตรายน้อยกว่า” มาริษที่เลิกบุหรี่แบบปกติได้เพราะบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวทิ้งท้าย

หลากหลายมุมมองความคิดเห็นทั้งหมดนี้คงจะช่วยทำให้ทุกคนได้รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น