posttoday

"แพะรับบาป" ความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย

12 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนกรณีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร แพะรับบาปรายล่าสุดของกระบวนการยุติธรรมไทย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ข่าวครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร กำลังกลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในสังคมไทย 

หลังเธอถูกกล่าวหาว่าขับรถยนต์ชนผู้อื่นเสียชีวิตที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ซึ่งต่อมากระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานจนประจักษ์ว่าผู้ที่กระทำความผิดไม่ใช่เธอ ส่งผลให้ศาลรับคำร้องรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง 

มีคำถามดังๆต่อกระบวนการยุติธรรมไทย อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งตกเป็นแพะ.....

เร่งปิดคดีจนผิดพลาด

กระบวนการพิสูจน์ความจริงให้เกิดความยุติธรรมตามกฎหมาย ประกอบด้วย “ตำรวจ” ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญา “อัยการ” ทำหน้าที่ฟ้องร้องคดีแทนตำรวจ  “ศาล” ทำหน้าที่รับฟังพยาน ตรวจดูหลักฐานและพิจารณาตัดสินคดี และ “ทนายความ” มีหน้าที่ทำให้รูปคดีส่งผลดีหรือก่อประโยชน์ต่อลูกความของฝ่ายตนให้มากที่สุด

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ มองว่า สาเหตุของการจับผิดตัวหรือจับแพะนั้น เริ่มมาจากกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นอย่างการสืบสวนสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานและการปิดสำนวน ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความรอบคอบ ประมาท ละเลยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน ก็อาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้ โดยแรงกดดันที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งปิดสำนวนมาจากหลายทาง ได้แก่ อิทธิพลของผู้เสียหาย อิทธิพลของจำเลย กระแสสังคม จนถึงผลงานส่วนตัว  

"ผู้เสียหายบางคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แบบนี้ช้าไม่ได้ ตำรวจต้องเร่ง หาคนผิดไม่เจอก็ต้องรีบจับใครสักคนมาเชือดเพื่อรับผิดชอบให้ได้ก่อน หรือตัวจำเลยเอง หากมีอิทธิพล ก็ไปจับใครสักคนมาเป็นแพะแทน ต่อมากระแสสังคม ถ้าคดีนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ก็ต้องรีบปิดให้ไว หรือผลงานส่วนตัว พวกที่สุกเอาเผากิน เร่งปิดคดีให้พ้นมือ คิดหวังแต่ประโยชน์ของตัวเอง ก็มีโอกาสสร้างความผิดพลาดได้มากขึ้น”

ทนายความชื่อดัง เล่าว่า มีหลายครั้งที่ชาวบ้านโดนเกลี้ยกล่อมจากตำรวจให้ยอมรับสารภาพไปก่อนทั้งที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด เพื่อลดความยุ่งยากในการทำคดี ประหยัดเวลาและหวังให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว 

"บางทีชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าโทษคดีนี้มันสูงขนาดไหน ตำรวจก็กล่อมๆไปว่ารับๆ ไปเถอะ จะได้จบ เดี๋ยวศาลก็ลดโทษให้และสั่งให้รอลงอาญา สู้ไปก็เสียตังค์เปล่าๆ ต้องจ้างทนายความ จ่ายเงินประกัน ถ้าไม่มีเงินก็รับสารภาพไปดีกว่า บางคนบอกอีกว่าความผิดฐานประมาท ยังไงศาลก็สั่งให้รอลงอาญา รับผิดไปเถอะ ทีนี้ท้ายสุด เกิดศาลพิจารณาสั่งลงโทษขึ้นมาโดยไม่รอลงอาญา เขาค่อยมาคิดกันได้ว่า โถ รู้อย่างงี้ไม่น่ารับเลย เรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นเยอะ” 

นอกจากตำรวจ เจ้าหน้าที่อัยการและศาลก็มีส่วนสำคัญมากในกระบวนการยุติธรรม เมื่อท่านผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นต้องพิจารณาคดีอย่างรอบคอบ ใส่ใจ หากเห็นความบกพร่องของพยานหลักฐาน ก็จำเป็นต้องให้โอกาสผู้ต้องหาโดยเรียกมาสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและมีน้ำหนักมากกว่าก็เป็นได้

"แพะรับบาป" ความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย

"ระบบกล่าวหา"ทำจำเลยตกเป็นมวยรองเสมอ 

ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วิธีพิจารณาคดีในเมืองไทยเป็นระบบกล่าวหา ทำให้ศาลไม่มีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ศาลถูกจำกัดกรอบให้พิจารณาเฉพาะจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาลเท่านั้น

"ระบบกล่าวหาทำให้ศาลไม่สามารถจะสอบถามอะไรได้ นอกเหนือจากหลักฐานที่พยานทั้งสองฝ่ายเอามา ต้องทำตัวเป็นกลาง ชั่งน้ำหนักพยานที่แต่ละฝ่ายเอามาเท่านั้นเอง ผิดกับระบบไต่สวนศาลจะมีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ หากสงสัยตรงไหนก็ถามได้เลย"

ธวัชชัย บอกว่า ในระบบกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาเสมือนตกเป็นเบี้ยล่างตั้งแต่เริ่มต้น ต้องพยายามไปหาหลักฐานมาต่อสู้ ซึ่งแม้จะเป็นผู้บริสุทธิ์ในหลายกรณีก็มีความลำบากในการไปแสวงหาหลักฐานมาประกอบข้อเท็จจริง

"บางคดีมีการชี้ตัวผู้กระทำความผิดเรียบร้อย ไม่มีผู้เสียหายชี้ตัวคุณเลย แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่ได้บันทึกไว้ พอพยานหลักฐานถูกนำขึ้นสู่ชั้นศาล จำเลยก็ไม่มีประเด็นในการต่อสู้ ศาลก็ตัดสินพิจารณาได้เพียงแค่หลักฐานที่มี"

ทั้งนี้ สิ่งที่ธวัชชัยเห็นว่าจะป้องกันความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมได้คือ การพิสูจน์หลักฐานอย่างรอบคอบชนิดสิ้นกระแสความสงสัย โดยนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดการโต้แย้งและความหวาดระแวงระหว่างผู้ควบคุมกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องหลักการและเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ ขณะเดียวกันอาจถึงเวลาที่เมืองไทยต้องแยกการทำหน้าที่ระหว่างพนักงานสอบสวนและสืบสวนออกจากกัน เหมือนในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่ง รอบคอบ ทั้งยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย 

"เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ผู้บริสุทธิ์ถูกละเมิดด้วยกระบวนการของรัฐ ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองผู้บริสุทธิ์และให้ความเป็นธรรม ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนและปฎิรูป"รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยัน

"แพะรับบาป" ความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย

ทัศนคติต่อความยุติธรรมต้องพัฒนา 

ขณะที่ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด แสดงความเห็นว่า นอกจากปัญหาในการสืบหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนแล้ว ข้อเสียในกระบวนการยุติธรรมไทยก็คือ บทบาทและทัศนคติของศาลไทยที่คุ้นเคยกับการวางบทบาทและอำนาจไปในทางระบบกล่าวหา

"ศาลไม่ค่อยรับฟังพยานจำเลย มักฟังแต่พยานโจทย์ ซึ่งจริงๆแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 175 ก็บอกชัดว่า เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ หมายถึงให้ชั่งน้ำหนัก อย่าพิพากษาจนกว่าจะเชื่อ ฟังทั้งโจทย์และจำเลย แต่ในทางปฎิบัติพยานจำเลยได้รับความสำคัญน้อย ทุกคนถูกสอนให้ฟังแต่พยานฝ่ายโจทย์ มีทัศนคติว่าเราอยู่ในระบบกล่าวหา แต่จริงๆแล้ว ต้องฟังความทั้งสองฝ่าย"

ปรเมศวร์ บอกต่อว่า เงื่อนไขเรื่องเวลาก็เป็นอีกปัจจัยให้เกิดความผิดพลาด เมื่อเจ้าหน้าที่หลายคนมีความเชื่อว่าต้องรีบทำสำนวนและสั่งฟ้องให้ทันเวลากำหนดฝากขัง 84 วัน ซึ่งความเร่งรีบอาจทำให้เจ้าหน้าที่ขาดความรอบคอบและประมาทได้

"หลายคนพยายามเร่งให้ทันเวลา ทั้งที่จริงๆแล้ว หากหลักฐานไม่พอ ฟ้องไม่ทัน ก็ปล่อยตัวไปก่อนได้ เหมือนในต่างประเทศ เขาปล่อยไปก่อนเลย พร้อมเมื่อไหร่ค่อยฟ้องภายในอายุความ บ้านเราหลายครั้งคำนึงถึงแต่ระยะเวลาควบคุมตัว กลัวปล่อยไปแล้วผู้ต้องหาจะหลบหนี ทั้งที่ตามหลักยุติธรรม ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้นั้นต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์" 

หนึ่งในวิธีพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่ข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดรายนี้บอก ก็คือ คนในสังคมต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และเปิดโอกาสให้ศาลทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเพิ่มบทบาทในการไต่สวน 

“ทุกวันนี้ศาลถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะเพียงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาล ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดีไม่ได้ เพราะในเมืองไทยถ้าศาลทำอย่างนั้นจะถูกครหา มองในแง่ร้ายทันทีว่าศาลไม่ยุติธรรม เปิดโอกาสให้รับสินบนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ พอไปมองในแง่ร้ายกันเช่นนั้น ระบบยุติธรรมมันก็เบี่ยงเบนและไม่สมบูรณ์”

"แพะรับบาป" ความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมไทย

ตัวอย่างคดีเปลี่ยนผู้ร้ายเป็นผู้บริสุทธิ์

สถิติรับเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากคดีอาญา ตั้งแต่ปี 2558 – 2559  โดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้นมีสูงถึง 250 คดี สามารถรื้อฟื้นคดีอาญาและประกอบฎีกาที่สำเร็จแล้ว 10  เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ คดีที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางล่าสุดอย่าง คดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ส่วนคดีอื่นๆ มีตัวอย่างดังนี้ 

- คดีนายพัสกร สิงคิ ถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ที่อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี กระทั่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้จำคุก 20 ปี กระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนหาข้อเท็จจริงจนทราบว่า นายพัสกรไม่ใช่ผู้กระทำความผิด และมีคนร้ายตัวจริงรับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิด จึงได้ฟ้องดำเนินคดี จนศาลพิพากษาให้จำคุก 12 ปี 6 เดือน จนกระทั่งสรุปผลยื่นขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์ภาค1 มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ นายพัสกรจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาระหว่างการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งเป็นคดีแรกของประเทศไทย ที่ให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่

- คดีนางจารุพรรณ วุ่นสุวรรณ  ถูกกล่าวหาว่าจ้างวานฆ่าสามี ที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กระทั่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต กระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนหาข้อเท็จจริงจนทราบว่า คนร้ายที่ฆ่าสามีนางจารุพรรณถูกบังคับให้ใส่ร้ายนางจารุพรรณฯว่า เป็นผู้จ้างวานให้ฆ่าสามี แต่ภายหลัง รับสารภาพกับเจ้าที่กระทรวงยุติธรรมว่าไม่ใช่เรื่องจริง จนกระทั่งสรุปผลยื่นขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์ภาค8 มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาระหว่างการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งเป็นคดีที่สองที่ให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่

- คดีนายวุฒิชัย  ใจสมัคร หรือ ปุ๊ วอร์มอัพ ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมแฟนสาวที่จ.เชียงใหม่  ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต กระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนหาข้อเท็จจริงจนทราบว่า นายวุฒิชัยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญคือ DNAในซอกเล็บของผู้ตาย  ไม่ตรงกับDNAของนายวุฒิชัย  และมีพยานยืนยันได้ว่าในคืนเกิดเหตุคนร้ายที่น่าจะเป็นผู้ก่อเหตุได้พาผู้เสียชีวิตไปร้านอาหารทานข้าวต้มที่ร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ร้านข้าวต้มย้ง  ตามสำนวนของการฟ้องก่อนหน้านี้ จนกระทั่งสรุปพยานหลักฐาน เสนอศาลฎีกา จนกระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งยกฟ้อง นายวุฒิชัยจึงได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกจำคุกไป 3 ปี 6 เดือน 

- คดีที่นายทรงกลด ทรัพย์มี ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร้ายข่มขืนกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุ 16 ปี เหตุเกิดที่อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี   ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต กระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนหาข้อเท็จจริงจนทราบว่า นายทรงกลดไม่ใช่ผู้กระทำความผิด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญคือ ผู้เสียหายในคดีนี้ยอมรับว่า ชี้คนร้ายผิดตัว ซึ่งมีชื่อว่าทรงกลดเหมือนกันแต่คนร้ายนามสกุล เกลี้ยงน้อย  และมีพยานยืนยันได้ว่านายทรงกลด ทรัพย์มี ไม่เคยมาพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุเลย แต่นายทรงกลด เกลี้ยงน้อย ได้มีภูมิสำเนาอยู่ที่เกิดเหตุมานานแล้ว  จนกระทั่งสรุปพยานหลักฐาน เสนอศาลฎีกา และศาลฎีกาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากถูกจำคุกไป 1 ปี 2 เดือน  

เรื่องราวอันน่าเห็นใจของแพะรับบาปในเมืองไทยทั้งหมดนี้ เป็นเสมือนบทเรียนให้ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้มีอำนาจในวงการยุติธรรมได้ทบทวนการทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง